สสส. สานพลัง จ.ชลบุรี เครือข่ายสื่อท้องถิ่น และมูลนิธิไทยโรดส์ จัดเวทีรณรงค์ "คนชล...สวมหมวกนิรภัย ปีใหม่ปลอดภัย ดื่มไม่ขับ"

19 Dec 2023

สสส. สานพลัง จ.ชลบุรี เครือข่ายสื่อท้องถิ่น และมูลนิธิไทยโรดส์  จัดเวทีรณรงค์ "คนชล...สวมหมวกนิรภัย ปีใหม่ปลอดภัย ดื่มไม่ขับ" เพิ่มมาตรการชุมชนเฝ้าระวัง ท้องถิ่นเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อลดเจ็บ ลดตายในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567

สสส. สานพลัง จ.ชลบุรี เครือข่ายสื่อท้องถิ่น และมูลนิธิไทยโรดส์  จัดเวทีรณรงค์ "คนชล...สวมหมวกนิรภัย ปีใหม่ปลอดภัย ดื่มไม่ขับ"

เครือข่ายสื่อสุขภาวะลดปัจจัยเสี่ยง โดยสถานีโทรทัศน์ CTV ชลบุรี และ Cable Channel 37HD-สถานีเพื่อนสนิทเพื่อสุขภาวะ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ จังหวัดชลบุรี และเครือข่ายการขับเคลื่อนงานความปลอดภัยทางถนนในพื้นที่เมืองชลบุรี ได้จัดเวทีรณรงค์ "คนชล...สวมหมวกนิรภัย ปีใหม่ปลอดภัย ดื่มไม่ขับ" ขึ้น เพื่อร่วมกันปลุกกระแสความรับผิดชอบต่อสังคม ร่วมใจชุมชนขับขี่ปลอดภัยในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2567 ณ โรงแรมรัตนชล อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี เมื่อเร็วๆนี้

นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวถึงแผนปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ว่า "ในช่วงเทศกาลปีใหม่ของทุกปี ประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมาก จะมีการเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ จึงมีความเสี่ยงต่อการใช้รถใช้ถนนมากขึ้น จ.ชลบุรี จึงได้กำหนดมาตรการในการดูแลความปลอดภัยทางถนนให้แก่ประชาชนเป็นพิเศษในช่วงการรณรงค์ 7 วันอันตราย โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงก่อนควบคุมเข้มข้น วันที่ 22-28 ธันวาคม 2566 ช่วงรณรงค์เข้มข้น วันที่ 29 ธันวาคม 2566 - 4 มกราคม 2567 และช่วงหลังการรณรงค์ วันที่ 5 - 11 มกราคม 2567 ภายใต้มาตรการหลัก 5 ด้าน คือ ด้านบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนน, การลดปัจจัยเสี่ยงของถนนและสภาพแวดล้อม, การลดปัจจัยเสี่ยงของยานพาหนะ, ด้านผู้ใช้รถใช้ถนนปลอดภัย และด้านการตอบสนองหลังการเกิดอุบัติเหตุ"

นายณัฐพงศ์ บุญตอบ นักวิชาการอาวุโส มูลนิธิไทยโรดส์ เผยถึงสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนในภาพรวมของไทยจากข้อมูล 3 ฐาน ของกระทรวงสาธารณสุข แม้จะมีแนวโน้มลดลงจาก 20,000 รายต่อปีในปี 2561-2562 เหลือเพียงประมาณ 17,000 รายต่อปี ในปี 2563-2565 องค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยเสริมให้เกิดการลดลง คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในช่วงปี 2563 ที่มีการห้ามเดินทางข้ามจังหวัด มาตรการเคอร์ฟิว การห้ามเดินทางในช่วงเวลากลางคืน รวมไปถึงการไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงสงกรานต์ 2563 ทว่ากลุ่มเสี่ยงหลักของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนยังคงเป็นกลุ่มวัยคนทำงาน อายุ 25 - 49 ปี และวัยเรียน อายุ 15 - 24 ปี โดยรถจักรยานยนต์ ยังเป็นพาหนะหลักที่คร่าชีวิตคนบนถนน

"ข้อมูลจากการศึกษาอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เชิงลึก 1,200 เคส โดยสถาบัน AIT ชี้ชัดว่ามากกว่าร้อยละ 50 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ เกิดจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ และมากกว่าร้อยละ 60 ของผู้เสียชีวิตไม่ได้สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่ ส่วนสภาพถนนและสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุร้อยละ 40 ซึ่งพบว่าความรุนแรงของอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์จะเกิดที่ถนนสายรองและถนนในชุมชนมากกว่าถนนสายหลัก โดยเฉพาะอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ (>400 ซีซี) ที่พบว่า มีความรุนแรงสูงกว่าอุบัติเหตุรถจักรยายนต์ขนาดทั่วไป (<400 ซีซี) ถึง 3 เท่า" นายณัฐพงศ์ กล่าว

นอกจากนี้ข้อมูลในปี 2562 จากมูลนิธิไทยโรดส์ และเครือข่าย Road Safety Watch พบผู้ใช้รถจักรยานยนต์ของคนไทยมีการสวมหมวกนิรภัยอยู่เพียงร้อยละ 45 โดยในพื้นที่ จ.ชลบุรี มีผู้ขับขี่สวมหมวกนิรภัยอยู่ร้อยละ 56 และผู้โดยสารสวมหมวกนิรภัยอยู่ร้อยละ 23 เท่านั้น ดังนั้นในทศวรรษที่สองแห่งความปลอดภัยทางถนน 2564-2573 เครือข่ายความปลอดภัยทางถนนในระดับท้องถิ่น จังหวัด และประเทศ ต้องเร่งบูรณาการขับเคลื่อนให้มีมาตรการที่เข้มงวดและจริงจังในการรณรงค์สวมหมวกนิรภัยให้เป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็นของการขับขี่รถจักรยานยนต์ เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน

นางสุมนรัตน์ นีรพัฒนกุล นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี เผยถึงแนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567  เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับ ว่า "คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี ได้บูรณาการมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กับมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อดูแลประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนให้เดินทางกลับบ้านปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยมีการสร้างเครือข่าย 'นายอำเภอนักรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน' ขึ้น  เพื่อทำงานรณรงค์การขับขี่ปลอดภัย ดื่มไม่ขับ โดยมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดตาม พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และ พรบ. จราจรทางบก พ.ศ. 2565 ที่เพิ่มกฎหมายใหม่ 'เมาขับ ผิดซ้ำ จำคุก' ควบคู่กับการตั้ง 'ด่านครอบครัว' และ 'ด่านชุมชน' เพื่อเฝ้าระวังและป้องปราบพฤติกรรมเสี่ยงในบ้านและถนนสายรองถนนในชุมชน ไม่ให้คนดื่มแล้วมาขับขี่ยานพาหนะ โดยล่าสุดกฎหมายดื่มแล้วขับ มีการเพิ่มโทษทำให้ผู้อื่น 'บาดเจ็บสาหัส' จำคุก 2-6 ปี ปรับตั้งแต่ 40,000 - 120,000 บาท ระงับใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 2 ปี  และถ้าทำให้ผู้อื่น 'ถึงแก่ความตาย' จำคุก 3 -10 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000 - 200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตทันที ซึ่งตนอยากให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายมีความจริงจังในเรื่องนี้"

นางชามานันท์ สุจริตกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสื่อสาร สสส. กล่าวถึงเป้าหมายหลักของการขับเคลื่อนประเด็นความปลอดภัยทางถนน ว่า "ปัญหาอุบัติเหตุเป็นเรื่องสำคัญระดับประเทศที่สร้างความสูญเสียในทุกมิติ ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ทำให้ต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่ส่งผลต่อผลิตภาพและการพัฒนาประเทศ โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  ตั้งแต่ปี 2560 - 2564 ระบุว่ามูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยสูงถึง 5.1 แสนล้านบาท ดังนั้น สสส. และภาคีเครือข่ายจึงร่วมช่วยกันหาแนวทางส่งเสริมสนับสนุนให้มีการบังคับใช้กฎหมาย และหามาตรการเสริมพลังเพื่อขับเคลื่อนวัฒนธรรมความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตให้เป็น 12 คนต่อแสนประชากร หรือไม่เกิน 8,474 คนต่อแสนประชากร ในปี 2570 ตามแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน ฉบับที่ 5 (2565 - 2570)  ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือช่วยกันผลักดัน  ทั้งนี้เป็นที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง ที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนของ จ. ชลบุรี มีนโยบายที่เข้มแข็งและมาตรการที่เข้มข้น ในการสร้างความปลอดทางถนนทั้ง 5 ด้าน"    

ด้าน น.ส.รัชนี หลิวสุวรรณ ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เคเบิลทีวี (ชลบุรี) จำกัด (สถานีโทรทัศน์ CTV ชลบุรี) - เครือข่ายสื่อสุขภาวะลดปัจจัยเสี่ยง และสื่อมวลชน กล่าวถึงความร่วมมือในการสื่อสารรณรงค์ในพื้นที่ จ.ชลบุรี ว่า " CTV ชลบุรี และเครือข่ายสื่อท้องถิ่นเพื่อสุขภาวะลดปัจจัยเสี่ยง มีความพร้อมต่อการผลักดันนโยบายและมาตรการของทุกภาคส่วนของจังหวัดชลบุรี ด้วยความร่วมมือในการสื่อสารรณรงค์การสวมหมวกนิรภัย สร้างความตระหนักในการห้ามดื่ม ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ควบคุมตามกฎหมาย เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ และเป็นหูเป็นตาให้กับทางการในการประชาสัมพันธ์เพิ่มมาตรการความปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ ตามแนวคิด คนชล...สวมหมวกนิรภัย ปีใหม่ปลอดภัย ดื่มไม่ขับ  "

 

สสส. สานพลัง จ.ชลบุรี เครือข่ายสื่อท้องถิ่น และมูลนิธิไทยโรดส์  จัดเวทีรณรงค์ "คนชล...สวมหมวกนิรภัย ปีใหม่ปลอดภัย ดื่มไม่ขับ"