กทม.เตรียมหารือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกำหนดแนวทางควบคุมตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ รุกตรวจสอบสุขลักษณะเพื่อความปลอดภัย

03 Jul 2023

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวกรณีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเสนอแนะให้ กทม.ออกมาตรการควบคุมธุรกิจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เพื่อจัดการปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ได้มาตรฐานว่า กทม.อยู่ระหว่างประสานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อร่วมประชุมหารือกำหนดแนวทาง การดูแลตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและมีความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค

กทม.เตรียมหารือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกำหนดแนวทางควบคุมตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ รุกตรวจสอบสุขลักษณะเพื่อความปลอดภัย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กทม.มีแนวทางการควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่กรุงเทพฯ ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2558 กำหนดให้ "การผลิตน้ำดื่มจากเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติ" เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ซึ่งให้อำนาจ กทม.ตราข้อบัญญัติของท้องถิ่นในการควบคุมกิจการดังกล่าว โดยในปี 2561 กทม.ได้ออกข้อบัญญัติ กทม.เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2561 ให้สอดคล้องกับประกาศ สธ.ดังกล่าว กำหนดให้กิจการ "การผลิตน้ำดื่มจากเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติ" เป็นกิจการที่ต้องควบคุมในพื้นที่กรุงเทพฯ และกำหนดหลักเกณฑ์ด้านสุขลักษณะให้ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติ และได้ออกข้อบัญญัติ กทม.เรื่อง ค่าธรรมเนียมสำหรับการดำเนินกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ.2561 กำหนดค่าธรรมเนียมกิจการ "การผลิตน้ำดื่มจากเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติ" ตู้ละ 500 บาท ตู้ต่อไปคิดเพิ่มตู้ละ 20 บาท แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค.62

ปัจจุบัน สธ.อยู่ระหว่างการจัดทำร่างประกาศ สธ.เรื่องหลักเกณฑ์ มาตรการควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ พ.ศ. .... โดยกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่ตั้ง คุณลักษณะตู้น้ำ แหล่งน้ำใช้ในการผลิตและการปรับปรุงคุณภาพน้ำ การควบคุมคุณภาพน้ำบริโภค การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด การบันทึกข้อมูลการตรวจสอบคุณภาพน้ำและการรายงาน เพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคน้ำดื่มที่สะอาดปลอดภัย หากประกาศ สธ.ดังกล่าวแล้วเสร็จ กทม.จะสามารถนำประกาศกระทรวงดังกล่าวมาบังคับใช้ควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญได้ โดยไม่ต้องออกข้อบัญญัติใหม่ ซึ่งจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ถูกสุขลักษณะและปลอดภัย สนอ.และสำนักงานเขต ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกตรวจสอบและดูแลสุขลักษณะตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญและคุณภาพน้ำดื่ม โดยให้ทุกสำนักงานเขตตรวจสอบสุขลักษณะตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทุกตู้ โดยตรวจสอบด้านกายภาพของตู้อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และตรวจสอบคุณภาพน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญด้วยชุดทดสอบการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย (อ.11) อย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง รวมทั้งกวดขันให้ผู้ประกอบการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่มีใบอนุญาตให้ยื่นขอใบอนุญาตให้ถูกต้อง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด จากการดำเนินการของสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ระหว่างเดือน เม.ย. - มิ.ย.66 พบว่า ในกรุงเทพฯ มีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 3,031 แห่ง มีใบอนุญาต 2,759 แห่ง และยังไม่มีใบอนุญาต 272 แห่ง โดยในรายที่ยังไม่มีใบอนุญาตได้ออกคำแนะนำของเจ้าพนักงานสาธารณสุข (นส.1) ให้ผู้ประกอบการมายื่นคำขอรับใบอนุญาตและปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด หากไม่ขอใบอนุญาตภายในกำหนด จะมีความผิดฐานประกอบการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 33 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 71 แห่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ส่วนการตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั้งด้านสุขลักษณะทางกายภาพ 1,430 แห่ง และด้านคุณภาพของน้ำ 1,401 แห่ง สำนักงานเขตได้แจ้งผู้ประกอบการให้ปรับปรุงแก้ไขจนผ่านมาตรฐานเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ได้ให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการเลือกใช้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ถูกสุขลักษณะและปลอดภัย โดยตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ผ่านการตรวจจากสำนักงานเขตแล้วจะได้รับการติดสติกเกอร์ "ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญปลอดภัย" ไว้ที่หน้าตู้ เพื่อบันทึกข้อมูลการตรวจคุณภาพน้ำดื่ม ประชาชนสามารถสังเกตและเลือกใช้บริการน้ำดื่มจากตู้ที่ติดสติกเกอร์ หากพบปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่สะอาดสามารถแจ้งได้ที่สำนักงานเขตทุกแห่ง หรือแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue เพื่อปรับปรุงแก้ไข

HTML::image(