การส่งเสริมและช่วยเหลือให้แม่ได้โอบกอดลูกแบบเนื้อแนบเนื้อ และสนับสนุนให้แม่สามารถเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ด้วยการนำลูกมาวางบนอกแม่ทันที และช่วยให้ลูกได้เริ่มดูดนมแม่ภายในระยะเวลา1 ชั่วโมงแรกภายหลังคลอด เป็นหนึ่งในแนวทางปฏิบัติที่สำคัญของ บันได 10 ขั้นสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (Ten Steps to Successful Breastfeeding) ที่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การยูนิเซฟ (Unicef) ให้การสนับสนุนและปกป้องให้เด็กทุกคนได้กินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน
สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายส่งเสริม สนับสนุน ให้เด็กไทยทุกคนได้กินนมแม่ตั้งแต่1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต และกินนมแม่ต่อเนื่องควบคู่อาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้น โดยตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2568 ทารกร้อยละ 50 จะได้กินนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน
เพื่อสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มีการปฏิบัติอย่างยั่งยืนในสังคมไทย มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย จึงได้ดำเนิน โครงการสร้างสุขภาวะเด็กไทยด้วยนมแม่ ฝ่าวิกฤติโควิด-19 และสานพลังเครือข่ายสู่การขยายผล โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เพื่อชวนทุกภาคส่วนในสังคมไทยให้มาร่วมกันสร้างต้นทุนสุขภาพและศักยภาพของเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 โดยมีจุดเริ่มต้นที่นมแม่
พญ.สาวิตรี สุวิกรม หัวหน้ากลุ่มงานสูติ-นรีเวชกรรม โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่-ลูกที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาอย่างยาวนาน กล่าวถึงความสำคัญของเวลา 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอดว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด ที่จะช่วยให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จหลังกลับบ้านต่อเนื่องไปจนถึงระยะเวลา 6 เดือน
"ช่วงที่ทารกอยู่ในครรภ์เป็นสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นและเงียบสงบ แต่สภาพแวดล้อมหลังคลอดทั้งบรรยากาศ แสงสว่าง และเสียงที่จอแจ เป็นสิ่งที่น่าตกใจสำหรับเด็กทารก การที่ทารกได้อยู่ในหน้าอกของแม่ทันที่หลังคลอดจะเหมือนเป็นการปลอบประโลมทารกให้สงบลง เมื่อแม่ได้มีการลูบไล้และพูดคุยเด็กก็จะได้ยินเสียงที่คุ้นเคยตั้งแต่อยู่ในท้อง ในขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มพลังกายและพลังใจทำให้แม่มีพลังมากขึ้นหลังจากผ่านระยะเวลา 9 เดือนที่รอคอย และความเจ็บปวดจากการคลอด"
นอกจากนี้การนำลูกมาวางแนบอกยังทำให้ทารกได้รับเชื้อจุลินทรีย์ที่ดีจากผิวหนังของแม่ การนำลูกเข้าเต้าและได้ดูดนมแม่ใน 1 ชั่วโมงแรก ทำให้เกิดการหลั่งของ ฮอร์โมนโปรแลคติน (prolactin) ที่ช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมของแม่ ในน้ำนมแม่หยดแรกมีทั้งสารอาหารที่มีคุณค่าและภูมิคุ้มกันแบบสำเร็จรูปที่ส่งผ่านไปสู่ลูก และการโอบกอดยังช่วยสร้างให้เกิดสายสัมพันธ์แม่และลูกที่แน่นแฟ้น
"การนำลูกเข้าเต้าในหนึ่งชั่วโมงแรกเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ถึงลูกจะไม่ดูดเต้านม แต่การโอบกอดก็เพียงพอต่อการสร้างความสัมพันธ์ที่แนบแน่น ในกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องแยกลูกออกไปอาจด้วยเหตุผลบางอย่าง ก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหาหรืออุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้การสนับสนุนให้ทารกได้อยู่กับแม่ตลอด 24 ชั่วโมงในลักษณะของ Rooming in มีงานวิจัยระบุไว้อย่างชัดเจนว่าจะสามารถเพิ่มความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้" พญ.สาวิตรี กล่าว
ซึ่งหัวใจสำคัญของความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น พบว่ามีขั้นตอนสำคัญอยู่ 2 ด้านที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นในโรงพยาบาล ตามบันได 10 ขั้นสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยเฉพาะในข้อที่ 3 ส่งเสริมและช่วยเหลือให้แม่ได้โอบกอดลูกเนื้อแนบเนื้อโดยเร็วที่สุดหลังคลอด สนับสนุนแม่ทุกคนให้เริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยเร็วที่สุด และข้อที่ 4 แม่ควรได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และจัดการกับปัญหาที่พบบ่อยได้ ทั้งท่าอุ้ม การเข้าเต้า การบีบเก็บน้ำนม เพื่อสร้างความมั่นใจว่าแม่จะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ
"ในกรณีที่ทั้งแม่และลูกไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงหลังคลอดไม่ว่าจะเป็นการคลอดตามปกติหรือการผ่าตัด ทางโรงพยาบาลไม่จำเป็นต้องแยกแม่และลูก แต่ในรายที่มีความจำเป็นต้องแยกก็ควรจะมีเจ้าหน้าที่อีกชุดที่รับช่วงต่อในการเข้ามาเตรียมตัวสอนวิธีการบีบเก็บกระตุ้นน้ำนมให้กับแม่ เมื่อแม่กับลูกพร้อมที่จะอยู่ด้วยกันก็จะสามารถให้นมลูกได้อย่างต่อเนื่องได้โดยทันที โดยปัจจัยสำคัญที่จะทำเรื่องนี้ให้ประสบความสำเร็จนั้นอยู่ที่ทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายนโยบายภาครัฐทุกภาคส่วนจะต้องเล็งเห็นความสำคัญของนมแม่และการเลี้ยงดูที่ดีว่า เป็นพื้นฐานสำคัญของเด็กที่จะเติบโตไปเป็นประชากรที่มีคุณภาพของประเทศ ในขณะเดียวกันภาคประชาสังคม จะต้องมีการให้ความรู้เรื่องนมแม่ว่ามีความสำคัญเป็นสิ่งที่ดีและมีคุณค่า สิ่งสำคัญก็คือตัวของแม่ต้องมีความตั้งใจ ยิ่งได้รับกำลังใจและการสนับสนุนจากคนรอบข้าง เชื่อว่าแม่จะสามารถเลี้ยงลูกได้สำเร็จและเป็นไปตามเป้าหมายที่เราต้องการได้" พญ.สาวิตรี ระบุ
พ.ญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่าการสนับสนุนให้แม่มีความพร้อมที่จะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ตั้งแต่อยู่ในโรงพยาบาลนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนที่เราตั้งเป้าหมายไว้ โดยเฉพาะหลังคลอดทันทีให้มารดาได้โอบกอดทารกแบบเนื้อแนบเนื้อจะช่วยให้ทารกได้ดูดนมแม่ครั้งแรกภายใน 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนการปฏิบัติของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่-ลูก ที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดที่จะส่งผลต่อความสำเร็จภายหลังกลับไปที่บ้าน
"ทางองค์การยูนิเซฟได้ระบุว่าเด็กทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับน้ำนมแม่ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือบุคลากรทางการแพทย์ทั้งแพทย์และพยาบาลจะต้องตระหนักถึงความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในทุกๆ ด้าน โดยจะต้องร่วมกันดูแลและรักษาสิทธิของเด็กในการที่จะได้รับนมแม่ รวมไปถึงการกำหนดนโนยายด้านสาธารณสุขในอนาคตที่จะต้องสนับสนุนให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ อาทิ ภายหลังคลอดแม่ต้องอยู่โรงพยาบาลอย่างน้อย 48 ชั่วโมง หรือแม่จะต้องอุ้มเป็น เอาลูกเข้าเต้า บีบเก็บน้ำนมได้ก่อนที่จะออกจากโรงพยาบาล จึงจะช่วยให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของไทยเพิ่มขึ้นได้ตามเป้าหมาย โดยมีผลลัพธ์คือต้นทุนสุขภาพกายที่ดีของเด็กไทย ที่จะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในศตวรรษที่ 21 " พ.ญ.ศิริพร กล่าวสรุป.
สำหรับแม่ที่กำลังตั้งครรภ์-หลังคลอด สามารถศึกษาหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพื่อเตรียมตัวอย่างถูกต้องได้ที่ www.thaibf.com หรือที่ Facebookเพจ : Thaibf และ นมแม่ หรือดาวน์โหลด Application : Everyday Doctor ของกรมอนามัยที่เปิดคลินิกนมแม่ออนไลน์ เพื่อให้คำปรึกษาแม่ที่มีปัญหาในการให้นมแม่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit