การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนทั้งโลก ทั้งทางด้านการทำงาน ชีวิตประจำวัน การแพทย์ การศึกษา ธุรกิจต่างๆ และอื่นๆ การปรับตัวให้ทันกับการพัฒนาของเทคโนโลยีเป็นสิ่งจำเป็น ทางทีมวิจัยของ Research Unit in Finance and Sustainability in the Disruption Era ของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้คิดริเริ่มโครงการวิจัยเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี (Technology Adoption) เพื่อผลักดันและกระตุ้นให้องค์กรต่างๆ ของประเทศไทยเห็นถึงความสำคัญในประเด็นนี้
รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ Head of Research Unit in Finance and Sustainability in the Disruption Era สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการวิจัยกล่าวว่า "ในปัจจุบันเทคโนโลยีโดยเฉพาะเทคโนโลยีอุบัติใหม่ (Emerging Technology) ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีอัตโนมัติอย่าง ChatGPT ที่จะเข้ามาปฏิวัติการทำงาน (Revolutionized Work) เทคโนโลยีบล็อกเชนที่จะเข้ามาปฏิวัติความเชื่อที่มีต่อตัวกลาง (Revolutionized the Trusted 3rd Parties) หรือ เทคโนโลยีโลกเสมือนอย่าง Metaverse ที่จะเข้ามาปฏิวัติการมีปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ (Revolutionized Human Interaction) มีการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและรวดเร็วมาก โดยองค์กรในเมืองไทยทั้งขนาด ใหญ่ กลาง และเล็ก ต่างก็อยู่ในคลื่นการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเหล่านี้ทั้งสิ้น ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้มีโอกาสสูงที่จะมีผลกระทบมหาศาลต่อองค์กรจำนวนมากในประเทศไทย อย่างไรก็ตามการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ "อย่างเหมาะสม" และ "อย่างทันท่วงที" เป็นเรื่องที่มีความท้าทายเป็นอย่างสูง จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ทีมวิจัยทำวิจัยโครงการนี้
สำหรับจุดเด่นของโครงการนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ กล่าวว่ามีอยู่หลักๆ 2 ประการ
โดยประการแรกคือใช้ Action Research แทนการวิจัยแบบเดิมๆ โดย Action Research เป็นการทำการวิจัยที่เน้นการแก้ปัญหาไปพร้อม ๆ กันกับการทำการศึกษาวิจัย เป็นการสร้างผลกระทบหรือ "Impact" ให้เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่แค่การทำวิจัย เขียนตำรา หรือตีพิมพ์ผลงานในวารสารทางวิชาการเพียงอย่างเดียว โดยทีมวิจัยจะเข้าไปร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ในการช่วยให้องค์กรเหล่านี้สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอุบัติใหม่ (หรืออย่างน้อยก็เริ่มต้นกระบวนการ) ได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที
ประการที่สองคือโครงการนี้ใช้แนวคิดในการออกแบบกิจกรรมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กรที่ได้ประยุกต์ใช้แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics) ที่สามารถสรุปออกมาเป็นตัวย่อ "ACT" หรือ "Assessing" "Co-Creating " และ "Targeting"
โดยองค์ประกอบแรก Assessing จะเป็นการประเมิน (ผ่านแบบสอบถามออนไลน์) เพื่อให้ทราบว่าองค์กรมีระดับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอยู่ในระดับใดเมื่อเทียบกับองค์กรอื่นๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งการประเมินนี้สามารถลงรายละเอียดได้ถึงระดับหน่วยงานหรือระดับบุคลากร โดยในปัจจุบันยังไม่มีฐานข้อมูลที่องค์กรต่าง ๆ สามารถนำไปเปรียบเทียบเพื่อให้ทราบว่าองค์กรมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอยู่ในระดับใด มากเกินไป (อาจเป็นการสร้างค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น) หรือน้อยเกินไป (อาจทำให้องค์กรขาดความสามารถในการแข่งขัน) หรือไม่ หากจะให้เปรียบเทียบเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ การประเมินนี้จะคล้ายๆกับการที่คนเราจะต้องมีการตรวจสุขภาพโดยประจำ โดยการประเมินนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการ "ตรวจสุขภาพองค์กร" อย่างที่เราทราบกันดีว่าการตรวจสุขภาพเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนเรามีสุขภาพดี เพราะการทราบว่าเรากำลังมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาในเรื่องใด ย่อมเป็นสาเหตุให้เราเริ่มปรับตัวเพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงในด้านนั้นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ย่อมดีกว่าการรักษาภายหลังอย่างแน่นอน ดังนั้นการตรวจสุขภาพองค์กรในด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยสำคัญในการจูงใจ (จากการเปรียบเทียบการปฏิบัติของผู้อื่นในสังคม หรือ Social Norm) ให้องค์กร หน่วยงาน และบุคลากรเริ่มกระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างตรงเป้า
องค์ประกอบที่สอง Co-Creating คือการสร้างกิจกรรมให้บุคลากรในองค์กรได้มีส่วนร่วมในการออกแบบการเปลี่ยนแปลงขององค์กรแทนการรับคำสั่งจากผู้บริหารเพียงฝ่ายเดียว โดยในโครงการจะแบ่งบุคลากรออกเป็นกลุ่มๆ โดยแต่ละกลุ่มจะช่วยกันระดมสมองเพื่อเสนอแนวทางหรือโครงการเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร ในปัจจุบันองค์กรจำนวนมากประสบปัญหาภาวะการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง (Resistant to Change) อย่างไรก็ดีหากเราอาศัยแนวคิดทางจิตวิทยาที่เรียกว่า Motivational Interviewing จะทำให้เราเข้าใจธรรมชาติที่สำคัญประการหนึ่งว่า คนเราชอบทำในสิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็น "ความคิดของตัวเอง" มากกว่าความคิดของผู้อื่น (แม้ว่าอาจจะเป็นสิ่งที่ดีก็ตาม) ดังนั้นการสร้างการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงกับบุคลากรในองค์กรจะช่วยลดปัญหาภาวะการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้องค์กรยังได้รับแนวทางหรือโครงการใหม่ๆ ที่ถูกคิดขึ้นจากบุคลากรที่รู้จักธรรมชาติขององค์กรเป็นอย่างดี และท้ายที่สุดกระบวนการนี้จะเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่รับผิดชอบต่อสังคม (Responsible Transformation) เพราะแทนที่องค์กรจะแก้ปัญหาภาวะการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงโดยการปลดบุคลากรที่ต่อต้านออก (ด้วยวิธีหรือเทคนิคใดๆ ก็ตาม) ซึ่งเป็นการผลักภาระและสร้างปัญหาให้กับสังคม องค์กรที่เปิดโอกาสให้บุคลากรมีส่วมร่วมจะสามารถช่วยให้บุคลากรเหล่านี้ ที่จริงๆแล้วอาจจะเป็นทรัพยากรที่มีค่าอย่างมากต่อองค์กรสามารถปรับตัวและอยู่ร่วมพัฒนาองค์กรท่ามกลางคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงไปได้
องค์ประกอบที่สาม Targeting คือการกำหนดเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงอย่างเหมาะสมเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ทันท่วงทีและยั่งยืน โดยหลังจากที่บุคลากรได้นำเสนอแนวทางหรือโครงการเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงขององค์กรแล้ว ทางทีมวิจัยจะช่วยให้คำแนะนำในการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดของการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสม พร้อมทั้งร่วมติดตามผลของการเปลี่ยนแปลงโดยต่อเนื่อง ซึ่งการกำหนดเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงที่ดีจะต้องมองการเปลี่ยนแปลงเสมือน "การเดินทาง" (Journey) ที่ประกอบไปด้วยเป้าหมายแห่งชัยชนะเล็กๆ (Small Wins) ที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงสามารถวัดผลและติดตามผลได้จริง ร่วมทั้งเป็นโอกาสให้บุคลากรได้ร่วมฉลองความสำเร็จแห่งชัยชนะเล็กๆ หลายๆครั้ง ซึ่งยิ่งจะเป็นตัวอย่างให้บุคลากรคนอื่นๆ อยากได้รับชัยชนะแบบนี้ด้วย
โดยในปีที่ผ่านมาทางทีมวิจัยได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในโรงพยาบาล ทางทีมวิจัยได้เข้าไปร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ชั้นนำของประเทศ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าโรงพยาบาลเหล่านี้แต่ละวันมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในอนาคตที่ผู้สูงวัยจะเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ที่ต้องไปโรงพยาบาลจะมีจำนวนมากขึ้นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันแพทย์ พยาบาล จะมีจำนวนน้อยลง ซึ่งนับว่าเป็นกรณีศึกษาที่ดีที่ทางทีมวิจัยจะเข้าไปเรียนรู้และช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี
โดยผู้ที่เข้าร่วมในโครงการมี ผู้บริหาร แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ซึ่งหลังจากที่ผู้เข้าร่วมได้รับรู้ข้อมูลว่าเทคโนโลยีที่สำคัญเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง และกรอบแนวคิดในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้คืออะไร ผู้เข้าร่วมจึงได้ระดมสมองและนำเสนอแนวคิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับแต่ละองค์กรให้กับผู้บริหารขององค์กรและทีมวิจัยฟัง โดยแนวคิดที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ เช่น แนวคิดการสร้างแอพพลิเคชั่นที่ช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถทราบสถานะว่าขณะนี้ขั้นตอนการมาพบแพทย์ถึงขั้นตอนไหน ต้องใช้เวลานานแค่ไหนในการรอพบแพทย์ จ่ายเงิน รอยา ตอนนี้เหลืออีกกี่คิว เหลืออีกกี่นาที เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถบริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่จำเป็นต้องมารอหน้าห้องตรวจหรือห้องยาอย่างแออัด หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือแนวคิดการประยุกต์ใช้ซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้นอย่างมีประสิทธิภาพ หากมีผู้ป่วยที่ต้องพบแพทย์โดยด่วน ก็จะสามารถทำได้รวดเร็วขึ้น
สุดท้ายนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ ได้เสริมว่าโครงการนี้เป็นการทำวิจัยรูปแบบใหม่ ที่นอกจากจะเน้นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ แล้ว ยังเน้นการสร้างผลกระทบหรือ "Impact" ให้เกิดขึ้นจริง ในขณะนี้ทางทีมวิจัยมีความยินดีที่จะร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ทั้งองค์กรขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก โดยองค์กรที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ [email protected]
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit