ก้าวข้ามการ 'ฟอกเขียว' ปรับธุรกิจ รับแนวทางสหประชาชาติเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

22 Jun 2023

รายงานขององค์การสหประชาชาติเรื่องการฟอกเขียวได้รับการเผยแพร่ ณ ที่ประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 27 (UN Climate Change Conference of the Parties: COP27) ภายใต้ชื่อ 'ความซื่อสัตย์: ความมุ่งมั่นสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยธุรกิจ สถาบันการเงิน เมืองต่างๆ และภูมิภาค' รายงานดังกล่าวจัดทำโดยคณะทำงานซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการในชื่อ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญระดับสูงด้าน Net Zero ของภาคเอกชนและองค์กรอิสระ นำเสนอคำตักเตือนต่อบริษัทที่อ้างว่าได้มีการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยไม่ได้ลงมือทำจริง และเปิดตัวการปราบปรามการฟอกเขียวครั้งใหญ่ขององค์กรที่อ้าง Net Zero และคำมั่นสัญญาที่ 'อ่อนแอ' โดยรายงานเตือนว่า สิ่งเหล่านี้อาจบั่นทอนความพยายามที่จะบรรลุข้อตกลงปารีสซึ่งมีเป้าหมายเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้สอดคล้องกับเป้าหมายขั้นต่ำ 1.5 องศาเซลเซียส

ก้าวข้ามการ 'ฟอกเขียว' ปรับธุรกิจ รับแนวทางสหประชาชาติเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

คำแนะนำสำคัญ

รายงานสรุปคำแนะนำที่สำคัญเพื่อให้แน่ใจว่าภาคเอกชนทำงานเต็มที่เพื่อลดปริมาณคาร์บอน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสานต่อโครงการ มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Race to Zero) และเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ (Science-Based Targets) โดยให้กรอบเวลาและการทำงานแก่องค์กรและนักลงทุนเพื่อส่งมอบ Net Zero (ตามเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว)

รายงานนำเสนอแผนงานเพื่อป้องกันไม่ให้ Net Zero ถูกลดคุณค่าจากการกล่าวอ้างที่เป็นเท็จ ความคลุมเครือ หรือการฟอกเขียว โดยให้คำแนะนำ 10 ประการสำหรับองค์กรและ 'ภาคเอกชนและองค์กรอิสระ' อื่น ๆ เช่น เมืองต่างๆ และนักลงทุน เพื่อเป็นแนวทางสู่ Net Zero

คำแนะนำ 10 ประการดังกล่าวสอดคล้องกับหลักการ 5 ข้อต่อไปนี้:

  1. ความมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะใกล้และระยะกลางที่มีนัยสำคัญเพื่อเป้าหมาย Net Zero ระดับโลกภายในปี 2593
  2. แสดงความซื่อสัตย์โดยให้คำมั่นสัญญาที่สอดคล้องกับการลงมือทำและการลงทุน
  3. ความโปร่งใสในการแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ปราศจากการแข่งขัน และสามารถเปรียบเทียบแผนงานและความคืบหน้าได้
  4. สร้างความน่าเชื่อถือผ่านแผนการตามแนวทางวิทยาศาสตร์และความรับผิดชอบของบุคคลที่สาม
  5. ความมุ่งมั่นที่แสดงให้เห็นถึงความเสมอภาคและความยุติธรรมในแผนงานทั้งหมด

รายงานกำหนดให้มีการวางแผนที่ชัดเจน ครอบคลุมระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว แสดงให้เห็นถึงเส้นทางสู่ Net Zero รวมถึงเรียกร้องให้ผู้มีส่วนร่วมนอกเหนือจากภาครัฐมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยทันทีตลอดห่วงโซ่คุณค่า ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวตามเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ หน่วยงานเหล่านี้ควรจัดทำและเผยแพร่แผนการเปลี่ยนแปลงที่แสดงให้เห็นว่าเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะบรรลุผลสำเร็จในทันทีได้อย่างไร และจะปรับทิศทางการลงทุนใหม่และให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร

คำแนะนำบางส่วนจาก 10 ข้อ เป็นที่คุ้นเคยเป็นอย่างดีสำหรับบริษัทที่ให้บริการทางการเงินและองค์กรต่างๆ ที่ได้เริ่มต้นหรือกำลังเริ่มต้นการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environment, social and governance: ESG) สู่ Net Zero ส่วนคำแนะนำอื่นๆ อาจไม่เป็นที่คุ้นเคยนัก ซึ่งคำแนะนำทั้งหมดจะมีคำอธิบายเพื่อให้ความชัดเจนเพิ่มเติม

รายงานเน้นย้ำว่าจำเป็นต้องมีกฎระเบียบเพิ่มเติมเพื่อให้แน่ใจว่าความมุ่งมั่นสู่ Net Zero นั้นสอดคล้องกับเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ จากรายงาน วิธีดังกล่าวเป็นหนทางเดียวที่จะบรรลุความสม่ำเสมอ ความเข้มงวด และบังคับใช้ได้จริง

คำแนะนำ 10 ข้อ พร้อมคำอธิบายที่เกี่ยวข้องกับคำแนะนำเฉพาะ มีดังนี้

คำแนะนำที่ 1: ประกาศคำมั่นสัญญา Net Zero และเป้าหมาย

คำมั่นสัญญา Net Zero นี้จะต้องเป็นพันธกิจของทั้งองค์กร และคำสัญญานี้จะต้องเผยแพร่ต่อสาธารณะโดยผู้นำองค์กร รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลพื้นฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นประจำทุกปี (เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถตัดสินความคืบหน้าขององค์กรได้) และสะท้อนถึงการมีส่วนร่วมของภูมิภาค เมืองต่างๆ หรือบริษัท ที่เกี่ยวกับการบรรเทาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่จำเป็น

คำแนะนำที่ 2: กำหนดเป้าหมาย Net Zero

ภาคเอกชนต้องจัดทำแผนการเปลี่ยนแปลง เป้าหมายเริ่มต้นจะต้องตั้งขึ้นภายในหนึ่งปีหลังจากประกาศคำมั่นสัญญา Net Zero ขององค์กร และรวมเป้าหมายทุกๆ 5 ปี 2568 2573 และ 2578 เพื่อดำเนินการเป็นขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง

แผนการเปลี่ยนแปลงจะต้องกำหนดวิธีการที่จะบรรลุ Net Zero ตามแนวทางที่จำลองการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (GHG) ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) หรือองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) แผนการเปลี่ยนแปลงยังต้องครอบคลุมห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมด รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผู้ใช้ปลายทาง

แผนการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มอย่างรวดเร็ว โดยไม่เพียงแค่สะท้อนถึงความจำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 50 ภายในปี 2573 เท่านั้นแต่ยังแสดงให้เห็นว่าคำมั่นสัญญา Net Zero ซึ่งดำเนินการตาม 'คำแนะนำที่ 1' จะช่วยให้บรรลุผลสำเร็จในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกร้อยละ 50 ภายใน พ.ศ. 2573 และตลอดจนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อย่างต่อเนื่องภายในปี พ.ศ. 2593

คำแนะนำที่ 3: การใช้คาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ

ภาคเอกชนต้องจัดลำดับความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วนและละเอียดทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่า รายงานระบุว่า คาร์บอนเครดิตที่มีความน่าเชื่อถือในระดับสูงในตลาดภาคสมัครใจควรถูกนำมาใช้เพื่อลดผลกระทบที่นอกเหนือไปจากห่วงโซ่คุณค่า แต่ไม่สามารถนับรวมกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างกาลของภาคเอกชนซึ่งกำหนดโดยแนวทาง Net Zero คาร์บอนเครดิตคุณภาพสูงสามารถนำมาใช้เพื่อสร้างสมดุลของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหลืออยู่เมื่อบรรลุเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ในระยะสั้นและระยะกลางแล้วเท่านั้น นอกจากนี้ บริษัทต่างๆ ยังจำเป็นต้องจัดการกับห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดของตน เช่นเดียวกับวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์ของตนเอง องค์กรต่างๆ ควรหยุดให้ความสำคัญกับการลดความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าการวัดผลแบบสัมบูรณ์ทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่า และในกรณีที่มีข้อมูลขาดหายไปสำหรับการปล่อย Scope 3 (หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม) บริษัทต่างๆ ต้องอธิบายว่ามีการวางแผนอย่างไรเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ขาดหายไป หรือต้องใช้การประมาณการในเรื่องที่สำคัญในเรื่องอะไร

คำแนะนำที่ 4: การสร้างแผนการเปลี่ยนแปลงตามคำแนะนำที่ 2 เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางในเรื่อง ESG เมื่อแผนการเปลี่ยนแปลงถูกสร้างขึ้นแล้ว แผนนี้ไม่ควรถูกเก็บไว้ เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือและมีความหมาย แผนการนี้จำเป็นต้องได้รับการอัปเดตอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์และปัญหาที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

คำแนะนำที่ 5: การเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน

รายงานระบุว่า IPCC กล่าวว่าโครงสร้างพื้นฐานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีอยู่และที่วางแผนไว้จะทำให้ปริมาณคาร์บอนที่เหลืออยู่ลดลง เป็นผลให้ไม่มีช่องว่างสำหรับการลงทุนใหม่ในการจัดหาเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่จำเป็นต้องรื้อถอนสินทรัพย์ที่มีอยู่ นี่เป็นเวลาที่เหมาะสมในการเร่งเปลี่ยนสู่อนาคตของพลังงานหมุนเวียน แต่คำแนะนำระบุว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับ IPCC และ IEA ในการกำหนดวันเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมดให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition)

รายงานระบุว่ามีความจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการจัดหาเงินทุนสำหรับพลังงานหมุนเวียนอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา คำมั่นสัญญา Net Zero ทั้งหมดควรมีเป้าหมายเฉพาะ ที่มุ่งยุติการใช้และสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลตามแนวทาง IPCC และ IEA Net Zero GHG การเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลต้องเป็นไปเพื่อชุมชนที่ได้รับผลกระทบ คนงาน และผู้บริโภคเท่านั้น รวมทั้งหลีกเลี่ยงการโอนเชื้อเพลิงฟอสซิลไปยังเจ้าของรายใหม่ การเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจะต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนที่องค์กรได้ลงทุนอย่างเต็มที่

รายงานยังเสนอขั้นตอนที่ชัดเจนเพื่อหลีกเลี่ยงการฟอกเขียวและแนะนำว่าภาคเอกชนไม่ควรอ้างว่าธุรกิจของตนเป็น Net Zero อีกต่อไป หากยังสร้างหรือลงทุนในการจัดหาเชื้อเพลิงฟอสซิลใหม่อย่างต่อเนื่อง สนับสนุนการตัดไม้ทำลายป่า และกิจกรรมทำลายสิ่งแวดล้อมอื่นๆ

สำหรับสถาบันการเงินมีข้อกำหนดเฉพาะ ดังต่อไปนี้

  1. แผนเปลี่ยนผ่าน Net Zero จะต้องรวมถึงการยุติการให้กู้ยืม การรับประกันภัย หรือการลงทุนในถ่านหินเพื่อการผลิตไฟฟ้าโดยทันที
  2. นโยบายเลิกใช้ถ่านหินเพื่อหยุดบริการทางการเงินและให้คำปรึกษาแก่ห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมดภายในปี 2573 สำหรับประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา OECD (ปี 2583 สำหรับประเทศนอกกลุ่ม OECD)
  3. การลงทุนในถ่านหินที่ยังคงอยู่ในพอร์ตโฟลิโอจะต้องมีแผนการดำเนินงาน พร้อมวันปิดโรงงานแต่ละแห่ง ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนผ่านที่ยุติธรรมสำหรับคนงาน
  4. สำหรับน้ำมันและก๊าซ นโยบายน้ำมันและก๊าซจำเป็นต้องรวมข้อผูกมัดที่จะยุติการจัดหาเงินทุนและสนับสนุนการสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซใหม่ การขยายปริมาณน้ำมันและก๊าซสำรอง และการผลิตน้ำมันและก๊าซ (คำแนะนำไม่ได้ระบุวันที่ต้องปฏิบัติในเรื่องนี้)
  5. บริษัทที่ให้บริการทางการเงินจำเป็นต้องสร้างผลิตภัณฑ์การลงทุนที่สอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2593 และอำนวยความสะดวกในการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในพลังงานหมุนเวียน

คำแนะนำที่ 6: จัดให้มีการล็อบบี้และการสนับสนุน

องค์การสหประชาชาติ (UN) ยังเรียกร้องให้บริษัทต่างๆ ใช้อิทธิพลในการล็อบบี้เพื่อสนับสนุนกฎและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตัวอย่างเช่น UN ต้องการให้บริษัทต่างๆ หยุดการล็อบบี้หรือสมาคมกับกลุ่มที่พยายามทำลายนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศของรัฐบาล เช่น ผ่านสมาคมการค้า รายงานเรียกร้องให้องค์กรจัดแนวการสนับสนุนและธรรมาภิบาลให้สอดคล้องกับข้อผูกพันด้านสภาพภูมิอากาศ และจะรวมถึงการเชื่อมโยงค่าตอบแทนผู้บริหารกับการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและผลลัพธ์ที่พิสูจน์ได้จริง

นี่เป็นแนวทางที่สมเหตุสมผลในการประสานนโยบายภายนอกและความพยายามในการมีส่วนร่วม รวมถึงการเป็นสมาชิกของสมาคมการค้าเพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คำแนะนำของ UN ขอให้องค์กรต่างๆ เปิดเผยความเกี่ยวข้องของสมาคมการค้าต่อสาธารณะ และสนับสนุนสมาคมการค้าเหล่านั้นที่สนับสนุนการดำเนินการเชิงบวกต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับเราในฐานะที่ปรึกษา นักบัญชี และนักกฎหมาย คือ เราควรทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมวิชาชีพเพื่อเปลี่ยนแปลงภาคส่วนของเรา และควรเปิดเผยต่อสาธารณะว่าการมีส่วนร่วมกับลูกค้ามีส่วนสนับสนุน Net Zero และจัดการกับการฟอกเขียวอย่างไรบ้าง

คำแนะนำที่ 7: ผู้คนและธรรมชาติในการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม

ภาคการเงินควรมีนโยบายที่จะไม่ลงทุนหรือให้เงินกับธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการตัดไม้ทำลายป่า และควรกำจัดสินค้าเกษตรที่เป็นการตัดไม้ทำลายป่าออกจากพอร์ตการลงทุนและสินเชื่อภายในปี 2568 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผน Net Zero

คำแนะนำที่ 8: การเพิ่มความโปร่งใสและความรับผิดชอบ

ความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งล้ำค่าที่สำคัญในแง่ของความยั่งยืนและสามารถทำได้โดยการเพิ่มความโปร่งใสและความรับผิดชอบตามคำแนะนำที่ 1 และความรับผิดชอบทั่วไป

คำแนะนำที่ 9: ลงทุนในการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม

การจัดทำแผนเปลี่ยนผ่านเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่แผนเปลี่ยนผ่านนั้นต้องยุติธรรมกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง สิ่งนี้เรียกว่า "การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม" ซึ่งคำนึงถึงความจำเป็นในการปกป้องสิทธิของคนงาน รวมทั้งช่วยเหลือผู้คนและประเทศที่มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero สถาบันการเงินและบริษัทข้ามชาติควรมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการลดการปล่อยคาร์บอนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

คำแนะนำที่ 10: เร่งดำเนินการตามกฎระเบียบและข้อบังคับ รายงานของ UN ตระหนักดีว่าข้อกำหนดที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการบรรลุ Net Zero คือการออกกฎระเบียบเพิ่มเติม

"เนื่องจากความกังวลเรื่องการฟอกเขียว (Greenwashing) เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจที่จะต้องแน่ใจว่าคำกล่าวอ้างด้านความยั่งยืนขององค์กรของตนนั้นมีความน่าเชื่อถือและได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานต่างๆ บริษัทในประเทศไทยสามารถบรรลุสิ่งนี้ได้ด้วยการสร้างความน่าเชื่อถือและความโปร่งใส สอดคล้องกับเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และบูรณาการความยั่งยืนเข้ากับวัฒนธรรมองค์กร การทำเช่นนี้ไม่เพียงแต่รักษาความรับผิดชอบขององค์กรเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญต่อการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอีกด้วย" กาเนสัน โคลันเดเวลู หัวหน้าฝ่ายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืน เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าว