ประเทศไทยมีเสน่ห์มากมายให้เลือกดื่มด่ำ แต่หนึ่งในเสน่ห์ที่ขาดไม่ได้เลยก็คงจะเป็น "ภาษาไทย" ที่ไม่ว่าจะฟังอย่างไร ก็ไพเราะเสนาะหูราวกับกำลังฟังตัวโน้ตดนตรีที่แทรกอยู่ในถ้อยความ
"ช่วงหลังมานี้ เราจะเห็นผู้สนใจเรียนภาษาไทยเพิ่มมากขึ้น และมาจากหลายประเทศทั่วโลกด้วย กระแสความสนใจนี้มาพร้อมกับการเปิดอะไรหลาย ๆ อย่าง ทั้งโลกดิจิทัล การเปิดพรมแดนในด้านของภาษา การเดินทางที่ง่ายขึ้น การส่งออกสินค้าไปจนถึงการส่งออกละคร ซีรีส์ และกระแส soft power ต่าง ๆ" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกียรติ เทพช่วยสุข ผู้อำนวยการศูนย์ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว
ไม่ว่าจะเรียนเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ ทำธุรกิจการค้า เรียนเพื่อสื่อสารกับดาราที่ชื่นชอบ หรือแม้กระทั่งเรียนเพื่อความสนุก ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "ภาษาไทยยาก"
แต่สำหรับ อ.เกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์และการสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติกล่าวว่า "ภาษาไทยเข้าใจง่ายกว่าที่คิด และยังมีอะไรสนุก ๆ รอให้ได้เรียนรู้อีกมากมาย หากเรารู้หลักและจับจุดได้"
ในบทความนี้ อ.เกียรติจะได้ให้คำแนะนำและหลักภาษาแบบเข้าใจง่ายสำหรับผู้ที่คิดจะเรียนภาษาไทยอย่างจริงจัง หรือแม้แต่เจ้าของภาษาเองก็จะได้รู้เกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับภาษาไทย ที่จะทำให้เห็นว่าภาษาไทยนั้นไม่ซับซ้อนอย่างที่คิด แถมเป็นภาษาที่มีเสน่ห์ สะท้อนความเป็นคนสนุกสนานและช่างคิดสร้างสรรค์ของคนไทยด้วย
เคล็ดไม่ลับ เข้าใจไวยากรณ์ไทย
ภาษาไทยในปัจจุบันได้รับอิทธิพลมาจากการผสมผสานของหลายภาษา เช่น บาลี สันสกฤต เขมร มอญ จีน ชวา พม่า มลายู เปอร์เซีย และภาษาของชาติยุโรปบางภาษา เช่น โปรตุเกส และอังกฤษ เป็นต้น คำศัพท์และไวยากรณ์ของภาษาไทยจึงมีกลิ่นอายของบางภาษาเหล่านั้นอยู่ด้วย ทั้งนี้ อ.เกียรติกล่าวว่าไวยากรณ์ของภาษาไทยที่ชาวต่างชาติควรทราบก่อนเริ่มเรียน เพื่อให้เรียนได้เร็วและเข้าใจภาษาไทยได้ง่ายขึ้นมีอยู่ไม่กี่ข้อเท่านั้น เป็นต้นว่า
การเรียงคำในประโยคบอกเล่า
ปกติเมื่อเราเรียนภาษาต่าง ๆ เราก็ต้องดูรูปประโยคพื้นฐานว่า ประธาน กริยา กรรม จะเรียงอยู่ในประโยคอย่างไร ซึ่งในจุดนี้ภาษาไทยจะเรียงแบบเดียวกับภาษาอังกฤษหรือภาษาจีน คือ ประธาน > กริยา > กรรม ยกตัวอย่างเช่น ฉันกินข้าว แต่จะต่างกับบางภาษาซึ่งพูดแบบ ประธาน > กรรม > กริยา เช่น ภาษาญี่ปุ่น หรือ ภาษาเกาหลีดังนั้นเขาก็จะพูดประโยคนี้เป็น "ฉันข้าวกิน"
แม้ว่าสองภาษาจะมีการใช้โครงสร้างประโยคพื้นฐานที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกัน แต่บางครั้งก็ไม่ใช่ว่าไวยากรณ์ของทั้งสองภาษาจะเหมือนกันเป๊ะแบบ 100% นี่เป็นเพียงความเข้าใจเพื่อการพูดประโยคพื้นฐานอย่างง่ายเท่านั้น ถึงแม้ภาษาไทยกับจีนจะพูดแบบ ประธาน กริยา กรรม เหมือนกัน แต่โครงสร้างนามวลีของภาษาจีนก็จะมีความแตกต่างจากภาษาไทย ดังนั้น แทนที่จะพูดว่า "ฉันกินข้าวสองจาน" หากผู้พูดภาษาจีนพูดประโยคนี้ในภาษาไทยโดยยึดตามโครงสร้างนามวลีของภาษาจีน ก็อาจจะพูดผิดเป็น "ฉันกินสองจานข้าว"
ดังนั้น หากต้องการพูดภาษาไทยให้เหมือนเจ้าของภาษาโดยใช้ประโยคที่ซับซ้อนขึ้น ก็จะต้องมาเรียนไวยากรณ์ด้านต่าง ๆ เพิ่มเติม
"ไวยากรณ์ของภาษาไทยหลาย ๆ เรื่องค่อนข้างเข้าใจง่ายและตรงไปตรงมาเมื่อเทียบกับหลาย ๆ ภาษา เพราะเราไม่มี tense ไม่มีการผันคำกริยา ไม่มีกฎไวยากรณ์ที่ซับซ้อนมากมาย สำหรับภาษาไทย จริงๆ แล้ว แค่เราจำคำศัพท์แล้วเอาคำมาต่อๆ กัน ก็พอที่จะพูดให้คนไทยเข้าใจได้ไม่ยากเลย" อ.เกียรติอธิบาย
ง่าย ๆ กับการสร้างประโยคปฏิเสธและคำถาม
เมื่อทราบวิธีการเรียงประโยคอย่างง่ายไปแล้ว ทีนี้หากเราต้องการใช้รูปประโยคแบบอื่น เช่น ประโยคปฏิเสธ สิ่งที่เราต้องทำก็คือ เติมคำว่า ไม่ ลงไปที่ข้างหน้าคำกริยา หรือประโยคคำถามก็เติมคำว่า ไหม ลงไปที่ท้ายประโยค เป็นการสร้างประโยคเบื้องต้นที่ไม่ซับซ้อนเลย
ขยายคำนาม - คำหลักมาก่อนคำเสริม
การขยายคำนามในภาษาไทยแตกต่างจากบางภาษา กล่าวคือในภาษาไทย เรามักจะพูดคำหลักก่อน แล้วจึงตามด้วยคำขยายหรือคำเสริม ลองดูคำว่า ชาร้อน ในภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น จีน หรือเกาหลี เขาจะพูดคำขยาย "ร้อน" ก่อนแล้วจึงจะพูดคำหลัก "ชา" ดังนั้น หากชาวต่างชาติที่พูดภาษาลักษณะนี้มาเรียนภาษาไทยและไม่เข้าใจหลักไวยากรณ์นี้ก็เป็นไปได้ที่เขาจะพูดว่า "ดำแมว" หรือ "ไทยอาหาร"
นอกจากนี้ภาษาไทยในมุมมองคนต่างชาติยังมีอีกหลายมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับระบบการเขียน ระบบไวยกรณ์ การออกเสียง ประโยค พยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ที่บางทีคนไทยอาจจะนึกไม่ถึง ซึ่งสามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://www.chula.ac.th/highlight/119634/
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit