หลักสูตรวิทยาการเกษตรระดับสูง (วกส.) รุ่นที่ 3 โดยหลักสูตร วกส. จัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มูลนิธิเกษตราธิการ และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) โดยมีวัตถุเพื่อขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยให้เป็นผู้นำในระดับนานาชาติด้วยวิทยาการเกษตรเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ภายใต้หลักการ การตลาดนำการผลิตและเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อความสมดุล มั่นคงและยั่งยืน ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ วิสัยทัศน์และประสบการณ์ ระหว่างผู้นำ ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม ให้มีส่วนร่วมในด้านการพัฒนาพัฒนาการเกษตรวิถีใหม่ระหว่างกัน และขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทย ให้เป็นผู้นำในระดับนานาชาติด้วยวิทยาการเกษตรเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ในรูปแบบ "ประชารัฐ"
สำหรับพิธีปิดการฝึกอบรมหลักสูตร วกส. รุ่นที่ 3 ในวันที่ 9 มิถุนายน 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับเกียรติจาก ดร.จรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณบดีพรเทพวรางกูร เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตร และกล่าวปัจฉิมโอวาทในโอกาสพิธีปิดหลักสูตร วิทยาการระดับสูง วกส. รุ่นที่ 3 และ ดร.ประยูร อิทสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวแสดงความยินดีแก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม หลักสูตร วกส. รุ่นที่ 3 โดยมีคณะกรรมการอำนวยการและคณะกรรมการบริหารหลักสูตรวิทยาการเกษตรระดับสูง และผู้บริหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธี อาทิเช่น อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ อธิบดีกรมหม่อนไหม อธิบดีกรมวิชาการเกษตร รองอธิบดีกรมการข้าว ประธานกรรมการมูลนิธิเกษตราธิการ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร เลขานุการกรม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กรรมการผู้จัดการทั่วไป บริษัท ชาลีเอสพีซี จำกัด (วกส. รุ่นที่ 1)
โดยตลอดระยะเวลา 5 เดือน ที่ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมได้ร่วมกิจกรรมของหลักสูตร วกส. รุ่นที่ 3 และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่เป็นประโยชน์การส่งเสริมและพัฒนาภาคการเกษตร ซึ่งเป็นผลงานทางวิชาการที่สำคัญที่เกิดจากความร่วมมือของผู้บริหารทุกภาคส่วน โดยหลักสูตรได้หลอมรวมองค์ความรู้ที่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งเชื่อมโยงและสะท้อนให้ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมได้เห็นถึงโอกาส ปัญหา และข้อจำกัดของการพัฒนาภาคการเกษตรไทย สร้างการรับรู้และกระตุ้นให้เกิดการประสานความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหา และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกรให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง