ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ต้อนรับ บมจ. ไทยพาร์เซิล (TPL) เริ่มซื้อขาย 30 มิ.ย. นี้

29 Jun 2023

บมจ. ไทยพาร์เซิล ผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าหรือสิ่งของในประเทศไทย ทั้งสำหรับภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไป พร้อมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ 30 มิ.ย. นี้ ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 1,729.2 ล้านบาท โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า "TPL"

ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ต้อนรับ บมจ. ไทยพาร์เซิล (TPL) เริ่มซื้อขาย 30 มิ.ย. นี้

นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ mai ยินดีต้อนรับ บมจ. ไทยพาร์เซิล เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายใน mai ภายใต้กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า "TPL" ในวันที่ 30 มิถุนายน 2566

TPL ประกอบธุรกิจเป็นผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าหรือสิ่งของในประเทศไทยทั้งสำหรับภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไป รวมถึงให้บริการเก็บเงินค่าสินค้าปลายทาง โดยบริษัทมีความชำนาญในการจัดส่งสินค้าในรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะของที่มีน้ำหนักมาก ของที่มีขนาดใหญ่ หรือมีรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เป็นมาตรฐานทั่วไป ปัจจุบันบริษัทให้บริการจัดส่งสินค้าและสิ่งของประมาณ 350,000 - 600,000 ชิ้นต่อเดือน ด้วยยานพาหนะหลายประเภททั้งรถบรรทุก และรถกระบะ รวม 300 คัน โดยมีจุดให้บริการกว่า 120 แห่งทั่วประเทศทั้งในรูปแบบสาขาและแฟรนไชส์ กลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทได้แก่ ผู้ประกอบการ โรงงาน เจ้าของผลิตภัณฑ์ ตัวแทนให้บริการโลจิสติกส์ เป็นต้น ในปี 2565 บริษัทมีรายได้ตามประเภทของการจัดส่งแบบธุรกิจถึงธุรกิจ (B2B) แบบบุคคลถึงบุคคล (C2C) และแบบธุรกิจถึงบุคคล (B2C) ในสัดส่วนร้อยละ 33 : 36 : 31 ของรายได้การให้บริการตามลำดับ

TPL มีทุนชำระหลังเสนอขาย 262 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 404 ล้านหุ้นและหุ้นสามัญเพิ่มทุน 120 ล้านหุ้น โดยเสนอขายต่อบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 96 ล้านหุ้น เสนอขายต่อผู้มีอุปการคุณของบริษัท 18 ล้านหุ้น และเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบัน 6 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 22 - 26 มิถุนายน 2566 ในราคาหุ้นละ 3.30 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 396 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 1,729.2 ล้านบาท ทั้งนี้การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO มาจากอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio: P/E Ratio) เท่ากับ 66 เท่า ซึ่งคำนวณจากกำไรสุทธิ 12 เดือนย้อนหลัง (ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึง 31 มีนาคม 2566) เท่ากับ 27.82 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ (fully diluted) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.05 บาท โดยมีบริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย

นายภัทรลาภ ทวีวงศ์ ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ไทยพาร์เซิล เปิดเผยว่า บริษัทมุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัทชั้นนำทางด้านโลจิสติกส์ สร้างสรรค์ความเป็นเลิศเพื่อให้บริการจัดส่งที่ดีที่สุด รองรับการเติบโตของตลาดด้วยศูนย์กระจายสินค้า จุดรับสินค้า รถขนส่ง เทคโนโลยี และบริการเสริมต่างๆ อย่างครบวงจร ทั้งนี้เงินที่ได้จากการระดมทุนบริษัทจะนำไปลงทุนซื้อยานพาหนะ สถานีชาร์จไฟและอุปกรณ์เพื่อรองรับการนำรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้ามาใช้งาน ซื้อที่ดินและก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าและ/หรือจุดให้บริการ ลงทุนในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ชำระหนี้คืนแก่สถาบันการเงิน ตลอดจนใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

TPL มีผู้ถือหุ้นใหญ่หลัง IPO คือกลุ่มครอบครัวจีนะวิจารณะ ถือหุ้นร้อยละ 36.25 และ บมจ.อควา คอร์เปอเรชั่น ร้อยละ 26.73 บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิของบริษัทฯ ในแต่ละปี ภายหลังจากหักภาษีและเงินทุนสำรองตามกฎหมาย

ผู้ลงทุนและผู้สนใจ สามารถดูรายละเอียด จากหนังสือชี้ชวนของบริษัทที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ www.sec.or.th และข้อมูลทั่วไปของบริษัทที่ www.thaiparcels.com และ www.set.or.th