ป.ป.ช. ประชาสัมพันธ์ การยื่นบัญชีทรัพย์สินของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรณีเข้ารับตำแหน่ง

26 Jun 2023

สำนักงาน ป.ป.ช. ประชาสัมพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรณีเข้ารับตำแหน่ง ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยถือวันปฏิญาณตนในที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นวันเข้ารับตำแหน่ง และมีห้วงระยะเวลายื่นบัญชีทรัพย์สินภายใน 60 วันหลังจากที่เข้ารับตำแหน่ง แต่หากมีเหตุผลความจำเป็นอาจยื่นขอขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 30 วัน โดยต้องยื่นคำขอก่อนครบกำหนด พร้อมอำนวยความสะดวก 3 ช่องทางยื่นบัญชี

ป.ป.ช. ประชาสัมพันธ์ การยื่นบัญชีทรัพย์สินของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรณีเข้ารับตำแหน่ง

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 และต่อมาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ครบ 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 102 ได้กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าพนักงานของรัฐต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 กำหนดให้ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีเข้ารับตำแหน่ง ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยสำหรับนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ให้ถือวันถวายสัตย์ปฏิญาณฯ เป็นวันเข้ารับตำแหน่ง ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ให้ถือวันปฏิญาณตนในที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นวันเข้ารับตำแหน่ง

ทั้งนี้ การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องยื่นพร้อมเอกสารประกอบ ซึ่งเป็นหลักฐานที่พิสูจน์ความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งหลักฐานการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีภาษีที่ผ่านมา โดยในกรณียื่นเป็นเอกสารผู้ยื่นจะต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องกำกับไว้ในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินและสำเนาหลักฐานที่ยื่นไว้ทุกหน้า พร้อมทั้งจัดทำรายละเอียดของเอกสารประกอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นด้วย สำหรับทรัพย์สินและหนี้สินที่ต้องแสดงรายการให้รวมทั้งทรัพย์สินและหนี้สินในต่างประเทศ และให้รวมถึงทรัพย์สินของบุคคล ดังกล่าวที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่นไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อมด้วยและต้องยื่นภายในกำหนดเวลา 60 วันหลังจากที่เข้ารับตำแหน่ง แต่หากมีเหตุผลความจำเป็น อาจยื่นขอขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 30 วัน โดยชี้แจงเหตุของการยื่นบัญชีล่าช้าต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และต้องยื่นคำขอก่อนวันครบกำหนด

สำหรับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินรวมถึงเอกสารประกอบ ให้ใช้แบบบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน ตามประกาศของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยผู้ยื่นบัญชีสามารถยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินได้ 3 ช่องทาง คือ 1. จัดส่งด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้บุคคคลอื่นจัดส่งแทน ณ สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง หรือสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัด 2. จัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ โดย เรียน เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ช. เลขที่ 361 ถนนนนทบุรี ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000 และ 3. ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินออนไลน์ผ่านระบบ ODS ซึ่งสะดวกรวดเร็ว เพียงเตรียมไฟล์และเอกสารประกอบให้อยู่ในรูปแบบ PDF โดยสามารถยื่นได้ที่เว็บไซต์ https://asset.nacc.go.th/ods-app/ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมทางโทรศัพท์ 1205 หรือ 0 2528 4800 หรือที่สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ

ป.ป.ช. ประชาสัมพันธ์ การยื่นบัญชีทรัพย์สินของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรณีเข้ารับตำแหน่ง
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit