กลับมาอย่างยิ่งใหญ่กับงาน Creativities Unfold 2023 งานชุมนุมทางความคิดสร้างสรรค์ ที่รวมตัวครีเอเตอร์จากทุกวงการของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จัดโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA สร้างปฐมบทใหม่ของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายใต้งาน CREATIVE BUSINESS CONNEXT หมุดหมายแห่งงานสร้างสรรค์ครั้งยิ่งใหญ่แห่งปี
โดยปีนี้ Creativities Unfold 2023 จัดขึ้นภายใต้ธีม "VISIONAIRE: Reminisce/The Way Forward - แปลงอดีต เปลี่ยนวิสัยทัศน์อนาคต" โดยได้รับเกียรติจาก 5 ผู้นำความคิดระดับนานาชาติแห่งโลกธุรกิจและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้นำเสนอมุมมองสร้างสรรค์วิถีใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Jaime Hayon (ไฮเม่ ฮายอน), พีพี-พัทน์ ภัทรนุธาพร, Kentaro Kimura (เคนทาโร คิมูระ), Stephen Jenner (สตีเฟน เจนเนอร์), Lyndon Neri (ลินดอน เนรี่) ซึ่งสามารถแตกประเด็นที่น่าสนใจออกมาได้ดังนี้
เริ่มต้นที่ Jaime Hayon (ไฮเม่ ฮายอน) จาก Jaime Hayon Studio ดีไซเนอร์ชาวสเปนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก ที่มาในหัวข้อ "Design Follows Function, and Then What?" ได้ถ่ายทอดมุมมองถึงงานดีไซน์ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงนั้นควรเต็มไปด้วยความสนุกสนาน น่าตื่นเต้น ด้วยการผสานประสบการณ์ต่าง ๆ
Hayon เชื่อว่างานดีไซน์ที่ดีควรสามารถบอกเล่าเรื่องราว พร้อมกับให้ความรู้สึกสนุก ตื่นเต้น และปลุกจินตนาการ ความมีชีวิตชีวาได้ ผ่านงานศิลปะ เขาได้ถ่ายทอดมุมมองเกี่ยวกับงานออกแบบได้อย่างน่าสนใจถึงการใช้ศิลปะเพื่อเชื่อมอดีตกับปัจจุบันเข้าไว้ด้วยกัน ผ่านการดึงเรื่องราวประวัติศาสตร์เข้ามาประยุกต์ใช้กับงานปัจจุบัน ผ่านมุมมองใหม่ ๆ โดยปรับแต่งให้เหมาะสมกับบริบทยุคใหม่โดยไม่แปลกแยก
สำหรับ Hayon คำว่า AI ในความหมายของเขาคือ Art Intelligence ซึ่งเป็นการสร้างผลงานศิลปะให้เกิดขึ้นในงานดีไซน์ โดยเน้นความแตกต่างออกไป ซึ่งสามารถทำได้จากการออกไปค้นคว้าหาวัตถุดิบใหม่ ๆ อยู่เสมอ พร้อมเปิดวิสัยทัศน์ และมองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อจุดประกายและท้าทายความคิดสร้างสรรค์และคิดนอกกรอบ โดยไม่ลืมที่จะสอดแทรกอารมณ์ขันและสนุกสนานไปกับมัน
พีพี-พัทน์ ภัทรนุธาพร จาก MIT Media Lab นักเทคโนโลยี นักวิจัย ที่ลุ่มหลงการผนึกกำลังของมนุษย์และ AI อย่างสร้างสรรค์ ที่มาในหัวข้อ "Human+AI for the Future of Entertainment & Storytelling" แบ่งปันเรื่องราวของเทคโนโลยีสุดล้ำที่น่าตื่นเต้น ไม่ว่าจะเป็น Bio-Digital Symbiosis ไปจนถึง Cyber-Biome ที่เขาเชื่อว่าจะช่วยปลดล็อกความสามารถใหม่ ๆ ได้มากมาย ตั้งแต่ความสามารถในการตัดสินใจที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย Human-AI Symbiosis, สุขภาพที่ดีขึ้นด้วย Closed-Loop Wearables, ความสามารถในการค้นพบตัวตนด้วย Virtual Human และการเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ด้วย AI Generated Character
พัทน์ ยังกล่าวว่า AI อยู่กับเรามาเนิ่นนาน และนี่คือยุคที่ AI เข้ามามีบทบาทมากที่สุดในการเพิ่มศักยภาพของมนุษย์ แน่นอนว่าเมื่อ AI เข้ามามีบทบาทย่อมสร้างความกังวลใจ และไม่มั่นใจ แต่ในความเป็นจริงแล้วมนุษย์ไม่ควรกลัว AI เพียงเพราะคิดว่ามันจะมาแทนที่มนุษย์ แต่จงใช้ Human + AI ในการช่วยขยายมุมมองเพื่อเพิ่มความรู้ ความสามารถ และใช้เป็นไทม์แมชชีน ด้วยการนำข้อมูลปัจจุบันจาก AI มาสรรค์สร้างอนาคต ต่อยอดสิ่งใหม่ได้อย่างไร้ขีดจำกัด
Kentaro Kimura (เคนทาโร คิมูระ) จาก Hakuhodo ผู้นำทางความคิดสร้างสรรค์ชาวญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาแนวหน้าของโลก กับการบรรยายที่น่าสนใจในหัวข้อ "Unimagined Cultural Solutions: A Global Journey into the Future Creativity" ชวนผู้ฟังเข้าใจถึงการหยิบใช้เอกลักษณ์ของแต่ละชุมชนมาผสมความคิดสร้างสรรค์ แล้วเสนอโซลูชั่นเพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้กับท้องถิ่นได้ ช่วยละลายข้อจำกัดจากประเด็นต้องห้ามและการเหมารวม ตลอดจนเพื่อสร้างชุมชนที่ดีและยั่งยืนยิ่งขึ้น ซึ่งการใช้ AI เพื่อเข้าถึงชุมชนนั้นจึงเป็นการเก็บข้อมูลได้เพียงเบื้องต้นเท่านั้น
คิมูระ ได้นำเสนอแนวทางการเข้าถึงชุมชนและวัฒนธรรมในแต่ละท้องที่ ด้วยการออกเดินทางเพื่อเปิดประสบการณ์ด้วยตัวเอง พูดคุยกับผู้คนและสัมผัสกับวัฒนธรรม เพื่อให้เข้าใจว่าอะไรคือเอกลักษณ์ หรือความภาคภูมิใจของแต่ละท้องถิ่น ที่สำคัญต้องไม่กลัวที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่พิเศษเฉพาะสำหรับชุมชนนั้น ๆ เพราะบางครั้งเมื่อรู้สึกว่ามีบางสิ่งที่ไม่เข้ากับชุมชนนั้น อาจจะเป็นกุญแจที่นำไปสู่การสร้างแคมเปญอันทรงพลังได้ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงให้สังคมยั่งยืน คือการเข้าใจปัญหาของแต่ละท้องถิ่นทำให้นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ
ด้าน Stephen Jenner (สตีเฟน เจนเนอร์) จาก Motion Picture Association นักสื่อสารมวลชนและที่ปรึกษาในอุตสาหกรรมภาพยนตร์คนสำคัญคนหนึ่งของโลก ได้มาพูดคุยในหัวข้อ "Mission Possible: The Rise & Rise of the Asia Pacific Screen Industry" โดยเจาะลึกไปกับการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์ กับการเติบโตที่ไม่หยุดยั้งของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในเอเชียแปซิฟิก โดยมาแชร์มุมมองและข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไว้ว่า "จุดเปลี่ยนในด้านการรับรู้ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของภาพยนตร์จากโลกฝั่งตะวันออก พร้อมที่จะทลายกำแพงด้านภาษาผ่านการเล่าเรื่องได้ จนเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก" อาทิ ภาพยนตร์ดังจากฝั่งเอเชียแปซิฟิกอย่างเรื่อง Parasite ฉายในปี 2019 ซีรีส์เรื่อง Squid Game ฉายในปี 2021 หรือแม้แต่ภาพยนตร์ไทยเรื่อง Hunger คนหิว เกมกระหาย จาก Netflix ที่ฉายในปี 2023
นอกจากนี้ เจนเนอร์ ยังได้พูดถึงปัจจัยการเติบโตของผู้สร้างภาพยนตร์และคอนเทนต์สำหรับแพลตฟอร์มสตรีมมิงทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยเน้นย้ำว่าหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญของการเติบโตคือ "การลงทุน" ซึ่งความสามารถในการดึงดูดนักลงทุนนั้น ขึ้นอยู่กับความจูงใจเรื่องส่วนแบ่งรายได้และผลกำไร อีกทั้งยังให้มุมมองด้าน AI ว่าถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ในวงการภาพยนตร์ได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยสร้างอุตสาหกรรมบันเทิงให้เติบโต ก้าวหน้า อีกด้วย
และสุดท้าย Lyndon Neri (ลินดอน เนรี่) จาก Neri & Hu สถาปนิกแห่งเอเชียผู้สร้างวิสัยทัศน์ให้โลกผ่านผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ เน้นแปลงไอเดียให้เต็มเปี่ยมไปด้วยฟังก์ชันการใช้งาน และอ้างอิงถึงบริบทที่เหมาะสม มาแลกเปลี่ยนความคิดในหัวข้อ "Liminality: การก้าวข้ามพรมแดนทางการคิดเชิงสถาปัตยกรรม" โดยเขาได้พูดถึงแก่นการทำงานสถาปัตยกรรมว่า ต้องค้นคว้าข้อมูลในเชิงลึก ทั้งบริบทสภาพแวดล้อม ตลอดจนเรื่องราวความทรงจำต่างๆ เพื่อสร้างผลงานที่สามารถแบ่งปันประสบการณ์ต่าง ๆ ให้กับผู้ใช้งานในพื้นที่นั้น
สำหรับ AI เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อเอามาใช้ในงานออกแบบ แต่ในการทำงานจริงแล้ว งานสถาปัตยกรรมที่ดีต้องเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมโดยรอบ และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน โดยลินดอน เนรี่ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า "คนเราทุกคนโหยหาอดีตแบบย้อนคืน ในพื้นที่ที่เคยใช้ความทรงจำร่วมกัน ถึงแม้ว่าเราไม่สามารถย้อนกลับไปอดีตได้ก็ตาม นักออกแบบสถาปัตยกรรมจึงไม่ใช่เพียงแค่ 'สร้าง' แต่ต้อง 'รักษา' ความทรงจำจากเค้าโครงจากอดีตสืบต่อมาจนถึงยุคปัจจุบันด้วย โดยเป้าหมายสุดท้ายที่ต้องการคือ อยากให้ทุกคนจะใช้ชีวิตให้ช้าลง เพื่อให้เรามีเวลามากขึ้นชื่นชมกับสิ่งที่อยู่รอบตัว"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit