ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย แถลงข่าวผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนสิงหาคม ปี 2566
วันที่ 14 กันยายน 2566 รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผศ.ดร.วชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า และ อ.อุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย แถลงข่าวผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนสิงหาคม 2566
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ประชาชนก็จะเริ่มมีความมั่นใจในการซื้อรถ ซื้อบ้าน หรือการท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจเอสเอ็มอีปรับตัวดีขึ้น นโยบายในการลดค่าครองชีพที่เด่นชัดมากขึ้น ดังนั้น ภาคประชาชนจึงเริ่มมีแนวโน้มจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็จะปรับตัวดีขึ้น สำหรับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ที่คาดว่าต้องใช้งบประมาณ 5 แสนล้านบาทนั้น คาดว่าจะทำให้เกิดการหมุนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจได้ 2-3 รอบ ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้เพิ่มขึ้น 2-3% และมีโอกาสที่จะทำให้ปี 2567 เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ที่ระดับ 4-5%
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิม 55.6 เป็น 56.9 และดัชนีความเชื่อมั้นเกี่ยวกับ รายได้ในอนาคต ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 64.2 จากเดิม 62.8
ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย คือ สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มมีความชัดเจนหลังจากประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี นักท่องเที่ยว ต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศจำนวนมากขึ้น ทำให้ธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว และบริการมีแนวโน้มฟื้นตัว สามารถขยายการลงทุน และมีการจ้างงานมากขึ้น ทำให้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย ปรับตัวขึ้นจาก 58.8 มาที่ 59.2
ผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ จำนวน 2,244 คน แบ่งเป็น กรุงเทพ 40.2 % และต่างจังหวัด 59.8% โดยจัดงานแถลงข่าวขึ้น ณ ห้องประชุมสภา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย