งานประกาศผลรางวัลแพนด้าทองคำ (Golden Panda Awards) ครั้งที่ 1 จะจัดขึ้นที่เมืองเฉิงตูในมณฑลเสฉวนของประเทศจีน ในวันที่ 19 และ 20 กันยายน 2566 รางวัลแพนด้าทองคำนี้ได้รับการสนับสนุนจากสหพันธ์วรรณกรรมและศิลปะแห่งประเทศจีน (China Federation of Literary and Art Circles) และรัฐบาลประชาชนมณฑลเสฉวน โดยจะมอบให้กับผลงานที่โดดเด่นจากทั่วโลกในประเภทสาขาภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ สารคดี และแอนิเมชัน ทุก 2 ปี รางวัลนี้เป็นเสมือนการผสมผสานรางวัลออสการ์ (Academy Awards) เข้ากับรางวัลเอมมี (Emmy Awards) ในแบบของจีนเอง
กระบวนการคัดเลือกเริ่มจากคณะกรรมการจัดงานประกาศเชิญให้เจ้าของผลงานส่งผลงานเข้าประกวด ทั้งแบบเชิญเป็นการทั่วไปและเชิญตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ สำหรับปีนี้มีผู้ส่งผลงานเข้าชิงรวม 7,024 ผลงานจาก 104 ประเทศและภูมิภาค โดยในจำนวนนี้ 4,927 ผลงานมาจากประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากจีน ซึ่งคิดเป็น 70% ของทั้งหมด
คุณเหริน จงหลุน (Ren Zhonglun) ตัวแทนคณะกรรมการตัดสินเบื้องต้นของรางวัลแพนด้าทองคำ ครั้งที่ 1 ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้การประเมินเบื้องต้นได้เสร็จสิ้นลงแล้ว และได้รายชื่อผู้เข้าชิงทั้งหมด 90 ผลงาน ประกอบด้วยภาพยนตร์ 29 เรื่อง ละครโทรทัศน์ 26 เรื่อง สารคดี 20 เรื่อง และแอนิเมชั่น 15 เรื่อง ประธานคณะกรรมการตัดสินคือคุณจาง อี้โหมว (Zhang Yimou) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวจีนที่มีชื่อเสียง ในขณะที่ประธานคณะกรรมการตัดสินใน 4 ประเภทสาขาล้วนเป็นผู้กำกับที่ได้รับการยกย่อง โดยประธานคณะกรรมการตัดสินสาขาภาพยนตร์ได้แก่ คุณสแตนลีย์ ตง (Stanley Tong) ผู้กำกับชื่อดังของฮ่องกง สาขาละครโทรทัศน์ได้แก่ คุณเจิ้ง เสี่ยวหลง (Zheng Xiaolong) ผู้กำกับจีนผู้เรืองนาม สาขาสารคดีได้แก่ คุณมัลคอล์ม คลาร์ก (Malcolm Clarke) ผู้กำกับเจ้าของรางวัลออสการ์และเอมมี และสาขาแอนิเมชัน ได้แก่ คุณจอร์จ สวิซก์เบล (Georges Schwizgebel) ผู้มากฝีมือด้านแอนิเมชันชื่อดัง
รางวัลแพนด้าทองคำที่ทุกคนตั้งตารอคอยจะประกาศผลในงานซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 20 กันยายนนี้
สำหรับมาสคอตของงานประกาศผลรางวัลแพนด้าทองคำเป็นแพนด้ายักษ์ที่น่ารักและมีชีวิตชีวา ขณะที่การออกแบบถ้วยรางวัลได้แรงบันดาลใจจากไม้ไผ่ ซึ่งเป็นอาหารโปรดของแพนด้ายักษ์ ด้วยเหตุที่เป็นสัตว์หายากที่อาศัยอยู่บนโลกมาแล้วอย่างน้อย 8 ล้านปี แพนด้ายักษ์จึงเป็น "สมบัติชาติ" ของจีน อีกทั้งเป็นทูตสันติภาพและมิตรภาพ และเนื่องจากเสฉวนเป็นบ้านเกิดของแพนด้ายักษ์ มณฑลเสฉวนจึงเป็นเจ้าภาพถาวรในการจัดงานประกาศผลรางวัลแพนด้าทองคำ
นอกเหนือจากพิธีการหลักแล้ว งานประกาศผลรางวัลแพนด้าทองคำ ครั้งที่ 1 ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย อาทิ การประชุมวัฒนธรรมนานาชาติแพนด้าทองคำ (Golden Panda International Cultural Forum), "มาดูหนังด้วยกันเถอะ" ("Let's Watch Movies Together") (ฉายภาพยนตร์), "แพนด้าพาท่องโลก" ("Panda Takes You to Look around the World" (นิทรรศการภาพยนตร์และโทรทัศน์) และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยขณะนี้กิจกรรมทั้งหมดที่กล่าวมากำลังเกิดขึ้นที่เฉิงตูแล้ว
ประเทศจีนมีประชากรมากกว่า 1.4 พันล้านคน ทำให้เป็นตลาดที่เสพผลงานและความคิดสร้างสรรค์ด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่ใหญ่ที่สุดตลาดหนึ่ง จากข้อมูลของสมาคมภาพยนตร์จีน (China Film Administration) โรงภาพยนตร์ทั่วประเทศกวาดรายได้ไปถึง 2.06 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน (1 มิถุนายนถึง 31 สิงหาคม) สร้างสถิติใหม่ด้านรายได้จากการจำหน่ายตั๋วเข้าชมภาพยนตร์
ตลาดที่แข็งแกร่งเช่นนี้เป็นแพลตฟอร์มยอดเยี่ยมที่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและร่วมกันซาบซึ้งอารยธรรมโลกอย่างไม่ต้องสงสัย คุณจาง หง (Zhang Hong) รองผู้อำนวยการคณะกรรมการจัดงานประกาศผลรางวัลแพนด้าทองคำ กล่าวว่า "เราหวังว่าจะเป็นเจ้าภาพการเฉลิมฉลองระดับนานาชาติที่แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกันอย่างลึกซึ้ง และส่งเสริมการซาบซึ้งอารยธรรมร่วมกัน"
ที่มา: รัฐบาลประชาชนมณฑลเสฉวน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit