นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตก และฝนตกหนักบางพื้นที่ กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอเตือนให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเฝ้าระวังโรครากเน่าโคนเน่า โดยเฉพาะ ต้นทุเรียนที่อยู่ในระยะเก็บผลผลิตและระยะเริ่มแตกใบอ่อน เนื่องจากโรครากเน่าโคนเน่า เป็นโรคที่สำคัญของทุเรียน เพราะสามารถเข้าทำลายพืชได้ทุกส่วน และเป็นโรคที่ทำให้ต้นทุเรียนซึ่งกำลังเจริญเติบโตและให้ผลผลิตแล้วยืนต้นตายได้ สาเหตุโรคนี้เกิดจากเชื้อราไฟทอปเธอรา (Phytophthora palmivora) ที่แพร่กระจายในอากาศตามกระแสลม น้ำและฝน โดยเชื้อราสร้างสปอร์ที่สามารถเคลื่อนที่ไปตามน้ำได้ และสร้างสปอร์ที่สามารถพักตัวอยู่ในดินได้เป็นเวลานาน เมื่อสภาพแวดล้อมมีความเหมาะสม คือเป็นช่วงฝนตกชุก และความชื้นสัมพัทธ์สูง สปอร์ของเชื้อรานี้จะงอกและสร้างเส้นใยเข้าทำลายพืชได้ดี
สำหรับลักษณะอาการของโรค ที่สังเกตได้จากส่วนต่าง ๆ ของต้นทุเรียน ได้แก่ อาการที่ราก เริ่มแรกจะเห็นใบที่ปลายกิ่งมีสีซีดไม่เป็นมันเงา เหี่ยวลู่ลง ต่อมาใบจะเหลืองและหลุดร่วง หากขุดดูราก พบรากฝอยมีลักษณะเปลือกล่อน และเปื่อยยุ่ยเป็นสีน้ำตาล เมื่อโรครุนแรงอาการเน่าจะลามไปยังรากแขนงและโคนต้น ทำให้ต้นทุเรียนโทรมและยืนต้นตาย อาการที่กิ่งและที่ลำต้นหรือโคนต้น ระยะแรกจะสังเกตเห็นคล้ายคราบน้ำบนผิวเปลือกของกิ่ง หรือต้น เมื่อใช้มีดถากบริเวณคราบนั้น จะพบเนื้อเยื่อเปลือกและเนื้อไม้เป็นแผลสีน้ำตาล ถ้าแผลขยายใหญ่ลุกลามจนรอบโคนต้น จะทำให้ทุเรียนใบร่วงจนหมดต้น และยืนต้นแห้งตาย อาการที่ใบ ใบอ่อนแสดงอาการเหี่ยว เหลือง แผลฉ่ำน้ำ ตายนึ่งคล้ายน้ำร้อนลวก เกิดอาการไหม้แห้งคาต้นแล้วหลุดร่วง พบมากช่วงฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน และหากมีการติดเชื้อที่ผลจะทำให้ผลเน่า
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การควบคุมและป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียนควรใช้วิธีการแบบผสมผสานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ เกษตรกรควรปรับปรุงดิน โดยใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปรับสภาพดินให้มีค่าความเป็นกรด-ด่าง ประมาณ 6.5 หากดินมีสภาพเป็นกรดจัด ให้ใส่ปูนขาวหรือโดโลไมท์ อัตรา 100-200 กิโลกรัมต่อไร่ และลดปริมาณเชื้อราสาเหตุโรคในดิน โดยหว่านชีวภัณฑ์เชื้อราไตรโคเดอร์มาบริเวณใต้ทรงพุ่มทุเรียนที่มีรากฝอยเจริญ รวมทั้งในแปลงปลูกควรมีการระบายน้ำดี ไม่มีน้ำท่วมขัง หากมีน้ำท่วมขังควรรีบระบายออก และหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจทำให้รากหรือลำต้นเกิดแผล ซึ่งจะเป็นช่องทางให้เชื้อราสาเหตุโรคเข้าทำลายพืชได้ง่ายขึ้น ไม่นำเครื่องมือตัดแต่งที่ใช้กับต้นเป็นโรคไปใช้กับต้นปกติ และควรทำความสะอาดเครื่องมือก่อนนำไปใช้ทุกครั้ง
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรตรวจดูแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ และหากพบต้นที่ใบเริ่มมีสีซีด ไม่เป็นมันเงาหรือใบเหลืองหลุดร่วง ให้พ่นทรงพุ่ม หรือราดด้วยสารเมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร จำนวน 1-2 ครั้ง ทุก 7-10 วัน และควรหยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยว อย่างน้อย 15 วัน และ/หรือใช้สารฟอสโฟนิก แอซิด 40% SL ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ฉีดเข้าลำต้นหรือส่วนที่เป็นเนื้อไม้ดีใกล้บริเวณที่เป็นโรค อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อต้น นอกจากนี้เกษตรกรควรถากหรือขูดผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออก แล้วทาแผลด้วยสาร ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 70 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WG อัตรา 90 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 40-60 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ แมนโคเซบ + วาลิฟีนาเลท 60% + 6% WG อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ โพรพาโมคาร์บไฮโดรคลอไรด์ + เมทาแลกซิล 10% + 15% WP อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ทุก 7 วัน จนกว่าแผลจะแห้ง ที่สำคัญเกษตรกรควรตัดแต่งกิ่ง ใบ ดอก ผลที่เป็นโรค และตัดขั้วผลที่ค้างอยู่ นำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดการสะสมของเชื้อสาเหตุโรค
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit