มูลนิธิอีตานไพรซ์ (Yidan Prize Foundation) ได้มอบรางวัลอีตานไพรซ์ ประจำปี 2566 (2023 Yidan Prize) แก่ศาสตราจารย์มิเชลีน ฉี (Michelene Chi) ประจำมหาวิทยาลัยแอริโซนา สเตท (Arizona State University) และไช รีเชฟ (Shai Reshef) อธิการบดีมหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี ออฟ เดอะ พีเพิล (University of the People) รางวัลดังกล่าวนี้เป็นรางวัลเชิดชูเกียรติด้านการศึกษาระดับสูงสุดของโลก โดยยกย่องโซลูชันเชิงนวัตกรรมของทั้งสอง ซึ่งช่วยให้ผู้เรียนบรรลุศักยภาพสูงสุดของตนเอง ด้วยการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน และขจัดอุปสรรคในการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วโลก
รางวัลอีตานไพรซ์จัดขึ้นเป็นปีที่ 7 แล้วในปีนี้ โดยยกย่องผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในด้านการวิจัยและการพัฒนาการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเปิดรับการเสนอชื่อแบบเปิดกว้าง ประกอบกับกระบวนการตัดสินที่เข้มงวดและเป็นอิสระ ทั้งนี้ ในฐานะผู้ได้รับรางวัลอีตานไพรซ์ ประจำปี 2566 สาขาการวิจัยการศึกษา และรางวัลอีตานไพรซ์ ประจำปี 2566 สาขาการพัฒนาการศึกษาตามลำดับ มิเชลีน ฉี และไช รีเชฟ จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาระดับโลกของมูลนิธิอีตานไพรซ์ ทั้งสองยังจะได้รับรางวัลเหรียญทองพร้อมเงินรางวัลคนละ 30 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 3.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งครึ่งหนึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นเงินทุนสนับสนุนโครงการโดยไม่มีข้อจำกัด เพื่อสนับสนุนการขยายยกระดับงานของทั้งคู่
ดร.ชาร์ลส์ เฉิน อีตาน (Charles CHEN Yidan) ผู้ก่อตั้งรางวัลอีตานไพรซ์ กล่าวว่า "เราขอแสดงความยินดีจากใจแก่ผู้ได้รับรางวัลอีตานไพรซ์ ประจำปี 2566 โดยเราขอยกย่องงานวิจัยและการปฏิบัติเชิงนวัตกรรมที่สร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งปลดล็อกโอกาสสำหรับผู้เรียน เพื่อช่วยสร้างโลกที่ดีกว่าด้วยการศึกษา"
เชิดชูแนวคิดสร้างการเปลี่ยนแปลงในด้านการศึกษา ปลดล็อกอนาคตที่สดใสกว่าเดิม
มิเชลีน (มิคกี้) ฉี (Michelene (Micki) Chi) อาจารย์ตำแหน่งรีเจนต์ส โปรเฟสเซอร์ (Regents Professor) และโดโรธี เบรย์ เอ็นดาวด์ โปรเฟสเซอร์ (Dorothy Bray Endowed Professor) ด้านวิทยาศาสตร์และการสอน ประจำวิทยาลัยครู แมรี ลู ฟุลตัน (Mary Lou Fulton Teachers College) แห่งมหาวิทยาลัยแอริโซนา สเตท ได้รับรางวัลอีตานไพรซ์สาขาการวิจัยการศึกษา ประจำปี 2566 มิเชลีน ฉี เป็นนักวิชาการด้านประชานศาสตร์ โดยทฤษฎีความยึดมั่นผูกพันเชิงปัญญา (cognitive engagement) ของมิเชลีน ฉี ที่ได้รับการนำไปใช้อย่างแพร่หลายอย่าง ICAP ซึ่งย่อมาจากมุ่งเน้นปฏิสัมพันธ์ (Interactive) สร้างสรรค์ (Constructive) เชิงรุก (Active) เชิงรับ (Passive) ได้สร้างเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการกำหนดนิยามของการเรียนรู้แบบลงมือทำ (active learning) โดยมอบความเข้าใจที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นให้กับครูเกี่ยวกับวิธีการเรียนรู้ของนักเรียน ตลอดจนวิธีการออกแบบแผนบทเรียนและกิจกรรมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของนักเรียนให้ดียิ่งขึ้น
คุณแอนเดรียส์ ชไลเชอร์ (Andreas Schleicher) หัวหน้าคณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัลอีตานไพรซ์สาขาการวิจัยการศึกษา และผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและทักษะขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) กล่าวว่า "คุณูปการที่สำคัญที่สุดของมิเชลีนต่อการวิจัยด้านการศึกษา คือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับวิธีการเรียนรู้ของนักเรียน โดยได้จัดวางแนวทางการเรียนรู้แบบลงมือทำที่แตกต่างกันอย่างลึกซึ้งในหนึ่งกรอบคิดที่นำไปประยุกต์ใช้ได้จริง มิเชลีนทุ่มเทด้วยใจรักในการทำให้ทฤษฎีดังกล่าวนี้เปลี่ยนแปลงการปฏิบัติด้านการศึกษาในพื้นที่จริง"
สำหรับการใช้เงินทุนสนับสนุนโครงการจากรางวัลอีตานไพรซ์ มิคกี้ตั้งใจที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกรอบคิดดังกล่าว พร้อมสร้างหลักสูตรฝึกอบรมในการพัฒนานักวิชาชีพสำหรับครูระดับอนุบาลถึงมัธยมและหลังชั้นมัธยมศึกษา ตลอดจนขยายการเข้าถึงของ ICAP ในระดับโลก
ส่วนไช รีเชฟ อธิการบดีและผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี ออฟ เดอะ พีเพิล ได้รับรางวัลอีตานไพรซ์ ประจำปี 2566 สาขาการพัฒนาการศึกษา โมเดลอุดมศึกษาของเขา อันได้แก่มหาวิทยาลัยออนไลน์ในสหรัฐฯ ที่ไม่มีค่าเล่าเรียน ไม่แสวงกำไร และมีการรับรอง ซึ่งเข้าถึงนักศึกษากว่า 137,000 คนในทั่วโลกนั้น ตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนด้วยโซลูชันเชิงนวัตกรรมที่ขยายยกระดับได้
คุณโดโรธี เค กอร์ดอน (Dorothy K. Gordon) ประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัลอีตานไพรซ์สาขาการพัฒนาการศึกษา และสมาชิกคณะกรรมการสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของยูเนสโก (UNESCO Institute for Information Technologies in Education) กล่าวว่า "ความท้าทายระดับโลกของการเข้าถึงการศึกษาขั้นอุดมศึกษา ทำให้ผลกระทบของการศึกษาที่เปลี่ยนชีวิตในแง่ของการเปิดมุมมอง ตลอดจนยกระดับการจ้างงานและรายได้ ยังคงอยู่ไกลเกินเอื้อมสำหรับใครหลายคน ในแง่นี้โมเดลของไชสร้างนิยามใหม่ของอุดมศึกษา โดยเปิดโอกาสให้แก่ผู้ที่ก่อนหน้านี้ถูกกีดกันออกไป"
ไชตั้งใจที่จะใช้เงินทุนสนับสนุนโครงการจากรางวัลอีตานไพรซ์เพื่อขยายมหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี ออฟ เดอะ พีเพิล ต่อไป ประกอบกับสนับสนุนนักเรียนนักศึกษาและประชากรจำนวนมากขึ้น โดยมอบโซลูชันที่ครอบคลุม เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเข้าถึงและความสามารถในการจ่ายในการศึกษาขั้นอุดมศึกษา
เร่งความก้าวหน้าด้านการศึกษา เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตและสังคมในเชิงบวก
มูลนิธิอีตานไพรซ์สร้างชุมชนการเรียนรู้ระดับโลกที่เสริมสร้างการทำงานร่วมกันระหว่างงานวิจัยและการปฏิบัติ ชุมชนของมูลนิธิเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในแง่ของขนาดและอิทธิพล จึงยกระดับความสามารถของมูลนิธิในการสร้างความร่วมมือที่กำหนดอนาคตของการศึกษาได้
"เรายินดีอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับมิคกี้และไชสู่ชุมชนระดับโลกของเรา" คุณเอ็ดเวิร์ด หม่า (Edward Ma) เลขาธิการมูลนิธิอีตานไพรซ์ กล่าว "คณะกรรมการของเราพบว่า ผลงานของผู้ได้รับรางวัลในปีนี้นำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในวงกว้างและปรับขยายยกระดับได้ จึงเป็นการสร้างนิยามใหม่ให้กับการศึกษาเพื่อรองรับความต้องการของผู้เรียนในปัจจุบัน"
ในปีนี้ พิธีมอบรางวัลอีตานไพรซ์และงานประชุมสุดยอดรางวัลอีตานไพรซ์ (Yidan Prize Summit) จะจัดขึ้นในวันที่ 3 และ 4 ธันวาคมตามลำดับ งานทั้งสองนี้จะนำพาผู้นำในด้านการศึกษา นโยบายสาธารณะ และการกุศลจากทั่วโลกมารวมตัวกัน เพื่อเฉลิมฉลองให้แก่ผู้ได้รับรางวัลประจำปี 2566 พร้อมทั้งหารือเกี่ยวกับหนทางอันจะนำไปสู่ความก้าวหน้าที่มีนัยสำคัญและยืนยาวในด้านการศึกษา
เปิดรับการเสนอชื่อผู้เข้าชิงรางวัลอีตานไพรซ์ ประจำปี 2567 ตั้งแต่เดือนตุลาคม
รางวัลอีตานไพรซ์เชิดชูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในด้านการศึกษา และสนับสนุนไอเดียเชิงนวัตกรรมให้ขยายยกระดับด้วยเงินทุนสนับสนุนโครงการ คณะกรรมการตัดสินที่เป็นอิสระประกอบด้วยสองกลุ่มคณะ กลุ่มแรกมุ่งเน้นด้านการวิจัยการศึกษา และอีกกลุ่มมุ่งเน้นด้านการพัฒนาการศึกษา คณะกรรมการประเมินการเสนอชื่อทั้งหมดอย่างถี่ถ้วนร่วมกัน โดยอิงเกณฑ์ 4 ประการ ประกอบด้วย การเป็นงานที่มุ่งเน้นอนาคต เป็นนวัตกรรม สร้างความเปลี่ยนแปลง และยั่งยืน
เปิดรับการเสนอชื่อผู้เข้าชิงรางวัลอีตานไพรซ์ ประจำปี 2567 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 จนถึง 31 มีนาคม 2567
เกี่ยวกับมูลนิธิอีตานไพรซ์
มูลนิธิอีตานไพรซ์ (Yidan Prize Foundation) เป็นมูลนิธิการกุศลระดับโลก มีพันธกิจในการสร้างโลกที่ดีกว่าด้วยการศึกษา ด้วยรางวัลและเครือข่ายนักนวัตกรรม มูลนิธิอีตานไพรซ์สนับสนุนแนวคิดและการปฏิบัติทางด้านการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้แก่ชีวิตและสังคม
อีตานไพรซ์เป็นรางวัลเชิดชูเกียรติด้านการศึกษา เพื่อยกย่องบุคคลหรือคณะบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อทฤษฎีและการปฏิบัติด้านการศึกษา
https://yidanprize.org
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/2223014/Photo_1.jpg
คำบรรยายภาพ - ศาสตราจารย์มิเชลีน ฉี (ซ้าย) ผู้ได้รับรางวัลอีตานไพรซ์ ประจำปี 2566 สาขาการวิจัยการศึกษา และไช รีเชฟ (ขวา) ผู้ได้รับรางวัลอีตานไพรซ์ ประจำปี 2566 สาขาการพัฒนาการศึกษา
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/2223015/Photo_2.jpg
คำบรรยายภาพ - ทั้งสองรางวัลออกแบบมาเพื่อสร้างผลกระทบ ผู้ได้รับรางวัลทั้งสองได้รับเหรียญทองและเงินรางวัล 30 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (แบ่งเท่ากันในกรณีที่มีทีม) โดยครึ่งหนึ่งเป็นเงินทุนสนับสนุนโครงการโดยไม่มีข้อจำกัด เพื่อช่วยให้ผู้ได้รับรางวัลยกระดับขยายผลงานของตนได้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit