เมื่อพูดถึงนครเฉิงตู หลายคนคงนึกถึงอาหารรสเผ็ดร้อน แพนด้ายักษ์ ภาษาถิ่นที่น่าสนใจ หรือการท่องเที่ยวยามค่ำคืนที่มีชีวิตชีวา แต่แท้จริงแล้ว นครทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนแห่งนี้ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศอีกด้วย
การประชุมวัฒนธรรมนานาชาติโกลเดน แพนด้า (Golden Panda International Cultural Forum) ครั้งแรก ได้เปิดฉากขึ้นที่นครเฉิงตู เมืองเอกของมณฑลเสฉวน เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ "อารยธรรมอันกลมกลืน: ความหลากหลาย ความเสมอภาค และการไม่แบ่งแยก" (Civilizations in Harmony: Diversity, Equality and Inclusiveness)
ในการประชุมครั้งนี้ เหล่าวิทยากรได้มาร่วมแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับการเรียนรู้อารยธรรมร่วมกันและประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ อีกทั้งยังมีการสร้างฉันทามติร่วมกันว่าการสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างอารยธรรมเป็นสิ่งสำคัญ พร้อมกับยอมรับความหลากหลายของอารยธรรมต่าง ๆ ทั่วโลก
วิทยากรรับเชิญประกอบด้วยอดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสขององค์การสหประชาชาติ อดีตผู้นำทางการเมืองของนานาประเทศ และผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียง
นายเอริก โซลเฮม (Erik Solheim) อดีตรองเลขาธิการสหประชาชาติ ได้ยกย่องความพยายามของจีนในการปกป้องสภาพแวดล้อมของโลก โดยกล่าวว่า เราต้องต่อต้านการแบ่งแยกซึ่งเป็นการกระทำที่โง่เขลา และต้องผลักดันความร่วมมือระดับโลกให้มากขึ้นด้วยการเจรจาและการเคารพซึ่งกันและกันระหว่างอารยธรรมต่าง ๆ
นางอิรินา โบโควา (Irina Bokova) อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก กล่าวว่า "ดิฉันมองว่าข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางซึ่งให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม รวมถึงความร่วมมือด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์นั้น ถือเป็นการเริ่มต้นเส้นทางสายไหมใหม่" พร้อมเสริมว่า ข้อริเริ่มด้านอารยธรรมระดับโลก (Global Civilization Initiative หรือ GCI) ที่ประเทศจีนนำเสนอนั้น ได้มอบทางออกที่ดีในการรับมือกับความท้าทายร่วมกันของมนุษยชาติ
นอกจากนี้ วิทยากรหลายท่านซึ่งมีประสบการณ์การใช้ชีวิตและทำงานในสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในการสร้างความร่วมมือและพัฒนาอนาคตที่เจริญรุ่งเรืองทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย กล่าวว่า แม้ว่าปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ รวมถึงสังคมและวัฒนธรรมจะมีความแตกต่างกัน แต่คนทั่วโลกต่างก็มีความปรารถนาหลายอย่างที่เหมือนกัน เช่น ความเจริญรุ่งเรืองและความสงบสุข พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า หนึ่งในจุดแข็งที่ได้รับการพิสูจน์แล้วของภูมิภาคเอเชียก็คือ ความสามารถในการพัฒนาวัฒนธรรมของตนเอง พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก
นายนาบิล ฟะฮ์มี (Nabil Fahmy) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอียิปต์ กล่าวว่า การทำความเข้าใจและการเคารพวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมีความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน ท่ามกลางสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเชื่อมโยงถึงกัน ขณะที่ผู้คนต้องการให้วัฒนธรรมต่าง ๆ อยู่ร่วมกันอย่างผาสุก
นายสเตลิออส เวอร์วิดาคิส (Stelios Virvidakis) ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลศูนย์อารยธรรมจีนและกรีกโบราณ (Center of Chinese and Greek Ancient Civilizations) กล่าวว่า อารยธรรมไม่ควรถูกปิดกั้น แต่ควรมีการแลกเปลี่ยนและการสนทนากันอย่างเต็มที่ เพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกเหนือกว่าและแนวคิดชาตินิยมสุดโต่ง
นายไอค์ ชมิดต์ (Eike Schmidt) ผู้อำนวยการและภัณฑารักษ์ของหอศิลป์อุฟฟีซี (Uffizi Gallery) ได้ยกตัวอย่างการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ในประเทศจีน โดยอธิบายว่าพิพิธภัณฑ์สามารถสร้างสะพานแห่งการสนทนาแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับอารยธรรมได้ พร้อมกับเสริมว่าสาธารณชนควรสนับสนุนหลักการในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ได้แก่ ความเสมอภาค การเรียนรู้ร่วมกัน การสนทนาแลกเปลี่ยน และการไม่แบ่งแยกระหว่างอารยธรรม ในขณะที่โลกกำลังถูกคุกคามจากการแบ่งขั้วในทุก ๆ ด้าน
นางเทียน เว่ย (Tian Wei) ผู้ประกาศข่าวจากสถานีโทรทัศน์ซีจีทีเอ็น (CGTN) รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการในการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงลึกเกี่ยวกับบทบาทของการผลิตภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ ในฐานะสื่อที่ทรงพลังสำหรับการสื่อสารและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
นอกจากนี้ แขกผู้ทรงเกียรติทั้งหกท่านต่างชื่นชมรางวัลโกลเดน แพนด้า อวอร์ดส์ (Golden Panda Awards) ซึ่งเป็นเวทีใหม่ในการส่งเสริมความเข้าใจทางวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ก้าวข้ามความแตกต่างทางวัฒนธรรม ขณะเดียวกัน ภายในงานยังมีการแสดงดนตรีและบทกวีของแขกรับเชิญสองท่าน ซึ่งจุดประกายให้เกิดการพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางการผสมผสานศิลปะ วัฒนธรรม และเทคโนโลยีเข้าด้วยกันในกระบวนการสร้างภาพยนตร์
รางวัลโกลเดน แพนด้า อวอร์ดส์ ครั้งแรก เปิดตัวเมื่อวันอังคารที่ 19 กันยายน โดยประกอบด้วย 25 รางวัล ใน 4 สาขาด้วยกัน ได้แก่ ภาพยนตร์ ทีวีซีรีส์ สารคดี และแอนิเมชัน งานนี้จัดขึ้นโดยสหพันธ์วรรณกรรมและศิลปะแห่งประเทศจีน (China Federation of Literary and Art Circles) และรัฐบาลมณฑลเสฉวน โดยสามารถดึงดูดตัวแทนจากบริษัทภาพยนตร์และโทรทัศน์ ผู้กำกับ นักแสดง และผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมจำนวนมาก
นอกจากนี้ ในช่วงท้ายของการประชุม แขกผู้มีเกียรติจากอุตสาหกรรมโทรทัศน์และภาพยนตร์ของจีนและต่างประเทศยังได้รับเชิญให้เข้าร่วมในพิธีเปิดตัวโครงการโกลเดน แพนด้า (Golden Panda Initiative) อีกด้วย
โครงการดังกล่าวเชิญชวนให้ศิลปินรุ่นใหม่จากชุมชนศิลปะทั่วโลกมาร่วมทำภารกิจในการส่งเสริมอารยธรรมที่มีความกลมเกลียวและเป็นประโยชน์ร่วมกันในยุคสมัยใหม่ ตลอดจนร่วมมือกันสร้างอนุสรณ์ทางศิลปะที่สะท้อนถึงค่านิยมร่วมกัน พร้อมทั้งทำหน้าที่เป็นทูตสันถวไมตรีในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการเรียนรู้ร่วมกัน และเดินหน้าปลดปล่อยพลังแห่งความเยาว์วัยของมรดกทางวัฒนธรรมและนวัตกรรม
https://news.cgtn.com/news/2023-09-20/First-Golden-Panda-Intl-Cultural-Forum-highlights-global-dialogue-1nfreGymy5i/index.html
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit