ณ บ้านเขาน้อย หมู่ที่ 3 ตำบลย่านซื่อ อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล มีพิธีเปิดตัวศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาสมุนไพรชุมชน บ้านเขาน้อย สร้าง "นวัตกรรมสังคม" เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้สามารถทางการแข่งขันในตลาดทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้นแบบอีกอย่างหนึ่ง ที่ส่วนราชการต่างในจังหวัด อำเภอ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา ในจังหวัดสตูลและสงขลา ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ และวิสาหกิจชุมชน ร่วมมือกันเสริมพลังของชุมชน ใช้ทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่ผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ขับเคลื่อนการพัฒนาขมิ้นชันแบบครบวงจร และครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้การพัฒนาสมุนไพรเพื่อความยั่งยืนของภาคใต้ตอนล่าง เชื่อมไปสู่การสร้างความมั่นคงทางสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
นายชาตรี ณ ถลาง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ประธานในพิธี ได้กล่าวแสดงความยินดีต่อเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรจังหวัดสตูล องค์การบริหารส่วนตำบลย่านซื่อ และองค์กรภาคีเครือข่ายต่างๆมากกว่า 15 หน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาสมุนไพรชุมชน นี้ ต่อหน้าผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องที่ ผู้แทนภาคธุรกิจ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจากหลายอำเภอ และนักเรียนจากหลายแห่ง รวมกว่า 600 คน
นายชาตรี ณ ถลาง กล่าวว่า "ผมประทับใจผลงานของ "ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาสมุนไพรชุมชน" ที่เห็นความสำคัญของการส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกสมุนไพรขมิ้นชันเริ่มจากกลุ่มผู้สูงอายุ ทำให้เกิดหน่วยธุรกิจชุมชน ที่สามารถแปรรูปขมิ้นชัน พัฒนาผลิตภัณฑ์ขมิ้นชันและสมุนไพรอื่น ที่ได้มาตรฐานทางยา สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดสตูลและในภาคใต้ตอนล่าง รูปธรรมดังกล่าวนี้ มีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาจังหวัดสตูล ที่มุ่งเน้นส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจจากฐานการเกษตร และสินค้าชุมชน โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแปรรูปสินค้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง สอดรับกับทิศทางการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งเป็นกรอบทิศทางการพัฒนาของโลก
การที่โครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานเกษตรอำเภอควนโดน จังหวัดสตูล องค์การบริหารส่วนตำบลย่านซื่อ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรจังหวัดสตูล ได้ริเริ่มการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดสตูลและจังหวัดสงขลามาตั้งแต่ ปี 2561 นับเป็นการดำเนินงานที่น่าชื่นชม เพราะนอกจากจะช่วยให้เกษตรกรมีความสามารถปลูกและขายสมุนไพรขมิ้นชันที่ได้มาตรฐานทางยาสูงแล้ว ยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตครัวเรือนผู้สูงอายุ ที่เข้าร่วมโครงการ ตลอดจนสร้างเสริมให้ชุมชนมีพลัง เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง......และขอฝากให้ทุกภาคีเครือข่ายช่วยกันยกระดับการขับเคลื่อนงานนี้อย่างต่อเนื่อง"
ด้าน ผศ.ดร. จิตติ มงคลชัยอรัญญา หัวหน้าโครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ได้รายงานต่อประธานในพิธีเปิดว่า "....ปี 2565 การค้าปลีกสินค้าสมุนไพรในตลาดโลก มีมูลค่ารวม 2 ล้านล้านบาท ซึ่งตลาดไทยใหญ่เป็นอันดับที่ 8 ของโลก และในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 12,211 ล้านบาท นับว่าเรายังมีโอกาสที่จะสร้างการเติบโตในธุรกิจนี้ได้อีกมาก
นอกจากนี้ การทำงานพัฒนาผู้สูงอายุให้สามารถผลิตสมุนไพรที่มีมาตรฐานทางยาสูง เป็นรูปธรรมสนองตอบนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศแบบ BCG (หรือ Bio Circular Green Economy) เป็นไปตามทิศทางของแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 -2570 ที่มุ่งเน้นการผลิตสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และส่งเสริมความเชื่อมั่นในการใช้สมุนไพรตลอดจนมีกระบวนการทำงานกับชุมชน สร้างชุมชนเข้มแข็ง นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ด้านนายนำพล โพธิวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ความยั่งยืน กฟผ. ได้กล่าวถึงการมีส่วนร่วมของ กฟผ. และแนะนำโครงการว่า "โครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) สมาคมพัฒนาศักยภาพและอัจฉริยภาพมนุษย์(สพศอ.) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)" ซึ่งได้ส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกสมุนไพรขมิ้นชันเพื่อให้ได้มาตรฐานทางยากับครัวเรือนผู้สูงวัย ในพื้นที่ตำบลย่านซื่อ และ ตำบลควนโดน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 โดยแรกเริ่มมีผู้เข้าร่วมเพียง 14 ครัวเรือน โดยร่วมมือกับภาคีต่างๆในพื้นที่ ปรับปรุงแนวทางการปลูก การพัฒนาสายพันธุ์ การเก็บเกี่ยว การแปรรูปในระดับครัวเรือน และระดับกลุ่มระหว่างชุมชน และจนถึงการขายผลผลิต จนในปี พ.ศ. 2565 มีผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นเป็น 215 ครัวเรือน สามารถขึ้นทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนได้ 15 กลุ่ม และรวมทั้งร่วมกันจัดตั้งองค์กรเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนจังหวัดสตูลอีกด้วย โดยมีวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรบ้านเขาน้อย ตำบลย่านซื่อ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางแปรรูปผลผลิตของสมาชิกเครือข่ายฯ ในรอบการเก็บเกี่ยวช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีปริมาณผลผลิตขมิ้นชันสดที่ผ่านเกณฑ์มาตราฐาน มากถึง 10 ตัน ผลผลิตเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกส่งต่อเพื่อผลิตเป็นยาสมุนไพร ส่วนที่เหลือนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ช่วยสร้างกระแสของการพัฒนาขมิ้นชันให้เป็นสมุนไพรเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรในจังหวัดสตูล
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit