วว. โชว์นวัตกรรมสีและผ้าจากธรรมชาติ ในงาน "ศิลปาชีพ ประทีปไทย" OTOP หลอมดวงใจ ด้วยพระบารมี

15 Aug 2023

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย นางปริยะดา วิสุทธิแพทย์ ผอ.สำนักสื่อสารองค์กร นางสาวปัทมา ลิ่วเลิศมงคล ผอ. กองประชาสัมพันธ์ บุคลากร วว. และเครือข่ายพันธมิตร ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงาน "ศิลปาชีพ ประทีปไทย" OTOP หลอมดวงใจ ด้วยพระบารมี โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธี จัดโดย กรมพัฒนาชุมชน ภายใต้แนวคิด "ผ้าทอไทย สายใยแห่งพระเมตตา สร้างอาชีพปวงประชา อย่างยั่งยืน" ระหว่างวันที่ 12 - 20 สิงหาคม 2566 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพค เมืองทองธานี โอกาสนี้ วว. ร่วมต้อนรับ Mrs. Millicent Cruz-Paredes Commercial Counsellor Philippine Trade and Investment Center - Bangkok และคณะ ที่ให้เกียรติเยี่ยมชมบูธนิทรรศการ "นวัตกรรมสีและผ้าจากธรรมชาติ วว." รวมทั้งร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากเครือข่ายมหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการโอทอปจากทุกภาคของประเทศ ซึ่ง วว. นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปสนับสนุนส่งเสริม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชน (ในวันที่ 13 สิงหาคม 2566)

วว. โชว์นวัตกรรมสีและผ้าจากธรรมชาติ  ในงาน "ศิลปาชีพ ประทีปไทย" OTOP หลอมดวงใจ ด้วยพระบารมี

ทั้งนี้ วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสีและผ้าจากธรรมชาติ ที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่ภาคอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน เพื่อผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนี้

"ผงสีย้อมผ้า หลากสีสันจากแก่นฝาง" วว. คัดเลือก "ต้นฝาง" ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นในจังหวัดมหาสารคามมาเป็นวัตถุดิบหลักในการวิจัย โดยนำแก่นฝางมาผ่านกระบวนการสกัดแปรรูปเป็นผงสีธรรมชาติ ลักษณะของผงสีที่ได้เป็นโทนสีแดง ใช้สำหรับย้อมเส้นฝ้าย เส้นไหม หรือผ้าทอ ใช้งานง่าย มีความสะดวก และสามารถเก็บไว้ใช้นอกฤดูกาลของวัตถุดิบได้  โดยมี จุดเด่นของผงสีจากแก่นฝาง คือ สามารถควบคุมความเข้ม-อ่อนของโทนสีได้หลายเฉด ตามความต้องการของผู้ใช้งาน เช่น สีแดง สีม่วง สีชมพู สีน้ำตาลทองแดง เป็นต้น ทำให้เกิดเฉดสีใหม่และพัฒนาเฉดโทนสีผ้ารูปแบบใหม่ให้ร่วมสมัยมากขึ้น ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับสินค้าให้ทันสมัยสวยงามตรงความต้องการของลูกค้า  วว. ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้กระบวนการย้อมเส้นไหมด้วยผงสีแก่นฝาง เพื่อให้ได้เฉดสีต่างๆ ให้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ใช้สำหรับการย้อม เพื่อเพิ่มศักยภาพของวิสาหกิจชุมชนทั้งด้านการย้อมเส้นไหม และขยายช่องทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ เพิ่มรายได้ให้ชุมชน ส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

ผลิตภัณฑ์สีเพ้นต์จากน้ำยางพารา "มหัศจรรย์สีสันยางพารา" (The Amazing Rubber Paint) ผลิตจากน้ำยางพาราเป็นองค์ประกอบหลัก สามารถเพ้นต์บนวัสดุได้หลายชนิด เช่น ผ้าใบแคนวาส ผ้าไหม ผ้าดิบ ผ้ามัสลิน ผ้าสาลู และกระดาษสา เป็นต้น สามารถนำไปให้ผู้ต้องการฝึกปฏิบัติการเพ้นต์ หรือการทำงานศิลปะได้อีกทางหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์งานที่ได้จากวัสดุธรรมชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางด้านการลดต้นทุนของการผลิต ลดมลพิษ และไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ ช่วยสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และผู้ประกอบการ

"ผลิตภัณฑ์ผ้าทอสะท้อนความร้อน"   วว. ดำเนินโครงการการย้อมผ้าพื้นถิ่นด้วยดินลูกรังที่พัฒนาให้เกิดการสะท้อนความร้อน ภายใต้กรอบโครงการพัฒนานวอัตลักษณ์ ยกระดับชุมชนนวัตกรรม  โดยมีการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาร่วมกับจังหวัดเลย ณ กลุ่มทอผ้าและตัดเย็บบ้านสันติภาพพัฒนา ตำบลโนนป่าซาง อำเภอผาขาว จังหวัดเลย มีต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาร่วมกัน  ได้แก่ "ผลิตภัณฑ์ผ้าทอสะท้อนความร้อน" ซึ่งมีจุดเด่นคือ 1) ใช้วัตถุดิบที่มีและผลิตขึ้นในพื้นที่  และ 2) เป็นผ้าที่สะท้อนความร้อนได้ดีกว่าผ้าทั่วไป  โดยสมาชิกในกลุ่มทอผ้าและตัดเย็บบ้านสันติภาพพัฒนา  ได้ย้อมผ้าและนำผ้าไปทอเป็นผืน จำหน่ายเป็นผ้าสะท้อนความร้อนซึ่งได้ราคาเพิ่มขึ้น 1) ผ้าฝ้ายสะท้อนความร้อนสามารถจำหน่ายในราคาที่สูงกว่าผ้าฝ้ายปกติ จาก 150 บาทต่อเมตร เป็น 300 บาทต่อเมตร เพิ่มขึ้น 100 % เมื่อเทียบกับราคาเดิม  2) ผ้าไหมสะท้อนความร้อนสามารถจำหน่ายในราคาที่สูงกว่าผ้าไหมปกติจาก 800 บาทต่อเมตร เป็น 1,200 บาทต่อเมตร เพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับราคาเดิม นับเป็นการพัฒนานวอัตลักษณ์ เพื่อยกระดับชุมชนนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรม โดยใช้วัตถุดิบที่มีและผลิตขึ้นในพื้นที่ เป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอที่สะท้อนความร้อนได้ดีกว่าผ้าทั่วไป ช่วยตอบโจทย์ให้พี่น้องประชาชน ทั้งในแง่การเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรพื้นถิ่นสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างโอกาส สร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับท้องถิ่น

สอบถามรายละเอียด นวัตกรรมสีและผ้าจากธรรมชาติ ผลงานวิจัย วว. ติดต่อได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ วว. เลขที่ 35 หมู่ที่ 3 ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โ ทร. 0 2577 9000 , 0 2577 9425 E-mail : [email protected]

 

HTML::image(