เมื่ออายุมากขึ้นและเข้าสู่ช่วง "วัยทอง" นอกจากการมีอารมณ์ที่แปรปรวนขึ้นแล้ว ระบบต่างๆ ในร่างกายยังมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอายุที่เพิ่มขึ้นด้วยนะครับ..โดยเฉพาะระบบเผาพลาญที่ทำงานได้น้อยลง จึงเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ง่าย ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดก็คือความเสี่ยงต่อการเกิดไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน หรืออ้วนลงพุง โรคเบาหวาน โรคกระดูกพรุน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด
** การเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์จะช่วยลดปัญหา และลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคได้เป็นอย่างดี **
ผู้ที่เข้าสู่วัยทองจึงควรให้ความสำคัญเรื่องการทานอาหารให้มากขึ้น ซึ่ง "หลักการทานอาหาร" จะต้องเหมาะสมตามหลักโภชนาการ ย่อยง่าย มีกากใยสูง เพื่อช่วยลด "อาการวัยทองในระยะเริ่มต้น" และ "อาการวัยทองในระยะยาว" นอกจากนี้ยังช่วยให้ผิวดี ไม่แห้งแตก รวมถึงป้องกันโรคที่อาจเกิดจากน้ำหนักตัวที่มากเกินไปได้ด้วย
"อาหารสุขภาพ" ที่ควรทาน ได้แก่ ข้าวกล้อง ธัญพืช ถั่วต่างๆ ปลาแซลมอน ไข่ กล้วย เต้าหู้ และน้ำเต้าหู้ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากถั่วเหลืองทุกชนิดที่ควรทานเป็นประจำสม่ำเสมอ เพราะมีประโยชน์และช่วยป้องกันโรคได้ค่อนข้างดีนอกจากนี้ผู้ที่เข้าสู่วัยทองยังอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุนได้ และมีโอกาสที่กระดูกจะเกิดการแตกหักง่าย จึงควรทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมไม่ว่าจะเป็นโยเกิร์ตไขมันต่ำ นมที่มีไขมันต่ำ ผักใบเขียว ผลไม้
** ผัก-ผลไม้ มีธาตุโบรอนที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการกักฮอร์โมนเอสโตรเจน รวมถึงช่วยลดการสูญเสียแคลเซียมได้ โดยเฉพาะ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี เช่น บลูเบอร์รี ราสป์เบอร์รี สตรอว์เบอร์รี แอปเปิล องุ่น ส้ม ส่วนผัก เช่น บรอกโคลี ผักแขนง ดอกกะหล่ำ หัวไชเท้า
ข้อดีของการทานผัก-ผลไม้ทั้งหมดนี้ก็คือจะช่วยเพิ่มวิตามินและเกลือแร่ที่มีประโยชน์กับร่างกาย นอกจากนี้กากใยยังช่วยในเรื่องของการขับถ่าย ลดอาการท้องผูกเรื้องรัง ช่วยให้สบายตัว ในผัก-ผลไม้ยังอุดมไปด้วยสารไฟโตเอสโตรเจน ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับฮอร์โมนเอสโตรเจน สามารถช่วยบรรเทาอาการวัยทองลงได้...
คราวนี้เรามาดู "อาหารที่ควรงด" กันบ้าง โดยอาหารที่ทานแล้วอาจไปกระตุ้นให้ภาวะวัยทองมีอาการมากขึ้นได้นั้น ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ หากมีการดื่มเครื่องดื่มทั้ง 2 ชนิดเป็นประจำจะส่งผลให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลง เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน รวมถึงไม่ควรดื่ม เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะอาจมีผลกระทบกับร่างกายได้ ที่สำคัญคือควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีไขมันสูง อาหารรสจัดหรือเผ็ดร้อน ขนมขบเคี้ยว ขนมหวาน อาหารแปรรูป เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนและ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดต่ำลง อาจเสี่ยงต่อการเกิดไขมันสะสมที่หน้าท้องทำให้อ้วนได้ง่าย ยิ่งไปกว่านั้นคือมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิด โรคหลอดเลือดหัวใจกับ โรคเบาหวานได้
** แนะนำว่าควรทานอาหารอาหารโดยแบ่งออกเป็นมื้อเล็กๆ หรือมื้อย่อยๆ ซึ่งการทานครั้งละน้อยๆ นั้น จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเผาพลาญให้ทำงานดีขึ้น ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดคงที่ ร่างกายก็จะไม่รู้สึกเหนื่อยล้าง่าย ที่สำคัญคือไม่ควรอดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง โดยเฉพาะมื้อเช้าที่เป็นมื้อสำคัญ เพราะจะช่วยให้ร่างกายเกิดความกระฉับกระเฉงได้ตลอดวัน และในส่วนของมื้อเย็นก็ควรลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตลง อาจเพิ่มเป็นโปรตีนไขมันต่ำและย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา อกไก่ฯลฯ
นอกจากเรื่องทานอาหารแล้ว การออกกำลังกายสม่ำเสมอตามวัย ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด ทำจิตใจให้แจ่มใสเบิกบาน มีการขับถ่ายปกติ และตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี จะช่วยให้ห่างไกลจากอาการวัยทองที่อาจเข้ามารบกวนการใช้ชีวิต รวมถึงช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ ได้อีกด้วยแน่นอนครับ...
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit