กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ด้วยการสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนิน "โครงการการพัฒนาระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับในระบบเกษตรปลอดภัยเพื่อการบริโภค" มุ่งนำองค์ความรู้จากงานวิจัยด้านไม้ดอกไม้ประดับ ผ่านการถ่ายทอดวิธีการผลิตไม้ดอกไม้ประดับสำหรับการบริโภคอย่างปลอดภัย ตั้งแต่กระบวนการผลิตในระบบเกษตรปลอดภัย การนำผลผลิตไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งการยกระดับมาตรฐานการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มผู้ประกอบการคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับ จัดงาน "Floral Delights: Edible Flower showcase at Andaman" ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุม Plaza I โรงแรม Deevana Plaza Phuket เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้ประโยชน์จากดอกไม้และประชาสัมพันธ์โครงการ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน โอกาสนี้ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และคณะผู้บริหาร กลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ ร่วมเป็นเกียรติในงาน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนโครงการการพัฒนาระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอก ไม้ประดับในระบบเกษตรปลอดภัยเพื่อการบริโภค ดำเนินการโดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. ในการส่งเสริมระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับ ในระบบเกษตรปลอดภัย (GAP) ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคมีแนวโน้มให้ความใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น การบริโภคดอกไม้ที่สามารถรับประทานได้ ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ ทั้งนี้ วช. คำนึงถึงผู้บริโภคที่จะนำดอกไม้ไปใช้เพื่อการบริโภค ซึ่งจะต้องมีมาตรฐานปลอดภัย จึงจำเป็นต้องมีระบบปลูกเลี้ยงที่ปลอดภัย ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ นอกจากนี้ภายใต้การดำเนินโครงการยังมีการพัฒนากลุ่มเครือข่ายผู้ปลูกเลี้ยงให้เข้มแข็ง สร้างรายได้ให้กลุ่มเกษตรกร โดยการส่งผลผลิตสด รวมทั้งแปรรูปผลผลิตสำหรับส่งให้ร้านอาหารและโรงแรมในพื้นที่ ตลอดจนสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับเพื่อการบริโภค ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบสู่การเรียนรู้เชื่อมโยงไปยังพื้นที่ของจังหวัดอื่นๆ ต่อไป
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ศนก.) ได้ส่งเสริมและพัฒนาระบบการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ให้กับเครือข่ายเกษตรกรในจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย ตลอดจนขยายผลการดำเนินงานไปยังพื้นที่เศรษฐกิจท่องเที่ยว เช่น ภาคใต้ (จังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ และอุบลราชธานี) ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวิทยา และมีธุรกิจโรงแรม ที่มีการใช้ประโยชน์จากไม้ดอกไม้ประดับในการจัดตกแต่งอาคารสถานที่ รวมทั้งมีการใช้ดอกไม้ ใบไม้ สำหรับจัดตกแต่งจานอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เครื่องหอมลูกประคบสำหรับธุรกิจสปา เป็นต้น โดย วว. เล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้บริโภค จึงได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับในระบบเกษตรปลอดภัยเพื่อการบริโภค ที่มีผลต่อกระบวนการผลิต การเก็บเกี่ยวและการแปรรูปเป็นอาหารและเครื่องดื่ม อีกทั้งยังได้ส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการไม้ดอกไม้ประดับ ให้ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาศักยภาพการผลิต การแข่งขัน ลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร เพื่อเป็นต้นแบบและขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ให้สามารถพัฒนาองค์ความรู้ที่ยั่งยืน
" ...ในนามของ วว. มีความยินดียิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับในระบบเกษตรปลอดภัยเพื่อการบริโภค โดยมีทีมนักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้ประโยชน์จากดอกไม้ให้แก่ผู้ประกอบการ เกษตรกร รวมถึงผู้สนใจ ที่จะนำความรู้ไปต่อยอดสำหรับกิจการของตนเอง นอกจากนี้ยังได้นำผลงานวิจัยจาก โครงการการรวบรวมและการประเมินศักยภาพกระทือและดาหลาต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย มาร่วมจัดแสดงผลงานด้วย พร้อมนี้ วว. ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดภูเก็ต ร่วมจัดกิจกรรม เช่น การแสดงการจัดดอกไม้และการสาธิตการใช้ดอกไม้ในการทำอาหารว่างและตกแต่งบนโต๊ะอาหาร การรังสรรค์เมนูอาหารและเครื่องดื่ม (Food and Beverage) ด้วยวัตถุดิบหลักจากดอกไม้กินได้ จากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ตลอดจนร่วมจัดแสดงพรรณไม้พื้นถิ่นและพรรณไม้เศรษฐกิจ อาทิ ดาหลา กระทือ เบญจมาศ เป็นต้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ผู้เข้าร่วมงานจะได้ความรู้ไปประยุกต์ใช้และสนับสนุนธุรกิจของตนเอง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตต่อไป" ผู้ว่าการ วว. กล่าว
นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากการที่ วว. และวช. ได้เห็นถึงความสำคัญในการนำงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านการพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับมามอบให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการโรงแรม และร้านอาหารในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน ผ่านการจัดงานในครั้งนี้จะช่วยก่อประโยชน์ในด้านการนำไปประดับในเมนูอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ เพื่อการบริโภคอย่างปลอดภัย สร้างมูลค่าเพิ่มโดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เอกลักษณ์ท้องถิ่น นอกเหนือจากนำไปใช้ตกแต่งอาคารและสถานที่เพื่อความสวยงาม อีกทั้งยังจะเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างโรงแรม ร้านอาหารและเกษตรกร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อธุรกิจไม้ดอกไม้ประดับในพื้นที่ต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการจาก ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. ติดต่อได้ที่ โทร. 0 2577 9000 , 02-5779004, 02-5779007 E-mail : [email protected]
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit