นิสิตคณะวิศวฯ จุฬาฯ คว้ารางวัลชนะเลิศ MGA Award จากผลงานนวัตกรรมชุดกันไฟ Smart Suit ชูจุดเด่นการใช้เทคโนโลยี IoT เชื่อมต่ออุปกรณ์และสั่งการออนไลน์ เก็บข้อมูล ลดความเสี่ยง เพิ่มความปลอดภัยให้เจ้าหน้าที่ดับไฟป่าหน้างานแบบเรียลไทม์
ในช่วงหลายปีมานี้ ประเทศไทยและหลายพื้นที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาไฟป่า ที่ปะทุขึ้นบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงอย่างมีนัยยะสำคัญ สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อสภาพแวดล้อมในวงกว้าง รวมถึงส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของมนุษย์และสัตว์เป็นจำนวนมาก
การควบคุมไฟป่าให้เร็วที่สุดจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง แม้จะมีการใช้เครื่องบินโปรยสารควบคุมไฟ แต่การดับไฟป่าและอพยพผู้คนออกจากพื้นที่เสี่ยง ก็ยังคงต้องอาศัยบรรดาอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ ที่ต้องฝ่าเปลวเพลิง เสี่ยงภัยอันตรายนานา ทั้งความร้อนและควันพิษที่เกิดจากเผาไหม้ ซึ่งล้วนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อาทิ คาร์บอนมอนอกไซด์ (carbon monoxide) ไนโตรเจนออกไซด์ (nitrogen oxides) สารประกอบอินทรีย์ชนิดระเหยง่าย (volatile organic compounds) ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) และอื่น ๆ
ปัญหาดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กลุ่มนิสิตชั้นปีที่ 4 จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในชื่อทีม TAF ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมชุดกันไฟ Smart Suit เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันการสร้างและพัฒนาชิ้นงานต้นแบบโดยใช้ระยะเวลาสั้น ๆ ในระดับนานาชาติ "Rapid Prototype Development (RPD) Challenge - a multi GNSS Asia programme" ซึ่งในงานนี้มีทีมนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชียเข้าร่วมมากกว่า 40 ทีม และนวัตกรรมชุดกันไฟ Smart Suit ของนิสิตวิศวฯ จุฬาฯ ได้รับรางวัลรางวัลชนะเลิศ (MGA Award)
นิธิ อจละนันท์ นิสิตภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาฯ หนึ่งในสมาชิกทีม TAF กล่าวว่า "ชุดกันไฟ Smart Suit ที่พัฒนาขึ้นมานี้ เราได้แรงบันดาลใจมาจากการแก้ปัญหาไฟป่าในภาคเหนือของประเทศไทย รวมถึงภาวะวิกฤตการดับไฟป่าในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งในหลาย ๆ ครั้ง ก่อให้เกิดการสูญเสียบุคลากร เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครในการดับไฟป่าไปอย่างน่าสะเทือนใจ ซึ่งทางทีมหวังว่าชุดกันไฟ Smart Suit จะเป็นนวัตกรรมที่ช่วยลดความเสี่ยงและการสูญเสียนักดับเพลิง และเป็นส่วนสำคัญในแก้ไขปัญหาไฟป่าต่อไปในอนาคต"
ทีม TAF ประกอบด้วยหนุ่มสาวไฟแรง 5 คนจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งนอกจาก นิธิ แล้ว ก็ยังมีนฤดม หมี-อิ่ม นิสิตภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า นิชานันท์ ชุณห์เสรีชัย นิสิตภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ณฐพงศ์ อินทรสุข นิสิตภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ และ อนุธิดา ฤทธิพันธ์ นิสิตภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ ซึ่งพวกเขาทั้งหมดกำลังจะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในเดือนตุลาคมที่กำลังจะถึงนี้
Smart Suit นวัตกรรมชุดกันไฟ Hi-Technology
การดับไฟป่ามีความเสี่ยงสูงมาก ซึ่งหลายครั้งอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าได้รับบาดเจ็บ หรือกระทั่งเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ความสูญเสียดังกล่าวเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ การสื่อสารที่ผิดพลาด การถูกรบกวนของสัญญาณการทำงาน อุปกรณ์ป้องกันที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือระบบการจัดการไม่รัดกุมเพียงพอ
"ทีมของเรามีโอกาสไปสังเกตการณ์การปฏิบัติงานในพื้นที่จริงที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้สัมภาษณ์และเก็บข้อมูลจากพี่ ๆ อาสาดับไฟป่า ซึ่งเราก็ได้พบปัญหาที่ค่อนข้างซีเรียส ทั้งเรื่องของการจัดการทีมและความปลอดภัย ชุดกันไฟ Smart Suit ของเราถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว" นิธิกล่าว
ทีม TAF ออกแบบนวัตกรรมชุดกันไฟ Smart Suit โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT (Internet of Things) เครือข่ายรวมของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อถึงกันและเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์กับระบบคลาวด์ และการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ด้วยกันเอง โดยใช้ชิปคอมพิวเตอร์และการสื่อสารโทรคมนาคมที่มีแบนด์วิดท์สูง ซึ่งทีมเลือกใช้บอร์ดคอมพิวเตอร์ Sony spresence board (บอร์ดคอมพิวเตอร์ สำหรับ IoT) และอุปกรณ์เซนเซอร์ต่าง ๆ ในการเชื่อมต่ออุปกรณ์และสั่งการออนไลน์ โดยติดตั้งอุปกรณ์เหล่านี้ไว้กับชุดกันไฟแบบดั้งเดิม
"เราติดตั้งอุปกรณ์ซึ่งใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ติดตั้งง่ายและราคาไม่แพง ที่สำคัญ ชุดกันไฟ Smart Suit มีระบบแสดงข้อมูลและสร้างแผนที่แบบโต้ตอบ (interactive map) ได้แบบเรียลไทม์ โดยข้อมูลที่เก็บได้จากชุดกันไฟนี้ถือเป็นข้อมูลเชิงพื้นที่ (spatial data) ซึ่งสามารถวัดค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ ได้ เช่น ค่าฝุ่นPM 2.5 ค่าคาร์บอนมอนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ ความชื้นสัมพัทธ์ อุณหภูมิ ที่สามารถนำมาใช้บริหารสถานการณ์ได้อย่างแม่นยำ" นิธิเล่าถึงประสิทธิภาพของชุดกันไฟ Smart Suit
เตือนภัยแบบเรียลไทม์ จุดเด่น Smart Suit จุดเด่นของนวัตกรรมชุดกันไฟ Smart Suit คือระบบแจ้งเตือนเพื่อความปลอดภัยในการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า
"สิ่งที่ทำให้ทางคณะกรรมการเทคะแนนให้ทีมเรามากที่สุด น่าจะเป็นเรื่องการตรวจวัดค่าความร้อน" นฤดม นิสิตภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาฯ ตัวแทนของทีมกล่าว "Smart Suit สามารถแจ้งเตือนค่าความร้อนในกรณีที่อุณหภูมิสูงเกินกำหนด ซึ่งหากเซนเซอร์พบว่ามีความร้อนสูงและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ก็จะแจ้งเตือนทันที เพื่อป้องกันการเกิดโรคลมร้อน หรือฮีทสโตรก อีกอย่างหนึ่งก็คือการแจ้งเตือนค่าคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซพิษที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ ซึ่งหากสูดดมหรือได้รับเข้าสู่ร่างกายเกินค่ามาตราฐาน จะทำให้เสียชีวิตทันที การแจ้งเตือนจะทำให้ผู้สวมใส่ซึ่งอยู่ในสถานการณ์หน้างานรับทราบได้ทันท่วงที ก่อนที่จะเกิดความสูญเสีย"
ด้วยระบบแสดงข้อมูลและสร้างแผนที่แบบเรียลไทม์ ชุดกันไฟ Smart Suit สามารถตรวจจับพิกัดที่อยู่ของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครดับไฟป่าที่สวมอยู่ ช่วยให้เจ้าหน้าที่และศูนย์ควบคุม สื่อสารข้อมูลถึงกันได้แบบเรียลไทม์ เพื่อรับมือและป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์ เช่น ลมเปลี่ยนทิศ จึงช่วยให้การบริหารสถานการณ์ไฟป่า การอพยพเคลื่อนย้าย หรือสั่งการเพื่อหลบแนวไฟป่าที่กำลังโหมลามอยู่ มีประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงและการสูญเสียในขณะปฏิบัติงาน
นฤดม เล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานของระบบแจ้งเตือนของชุดกันไฟ Smart Suit ว่า "ศูนย์ควบคุมหรือ control center สามารถมอนิเตอร์สถานการณ์และข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกเก็บจากเซนเซอร์จากระยะไกลได้ โดยส่งผ่าน LoRa (การเชื่อมต่อไร้สายสำหรับ IoT) ซึ่งรวมไปถึงตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ และ hotspot (จุดที่ดาวเทียมตรวจพบค่าความร้อนสูงผิดปกติจากค่าความร้อนบนผิวโลก) จากภาพถ่ายดาวเทียมที่ใช้สำหรับการตรวจวัดโลก สภาพอากาศ และนิยมนำมาใช้ติดตามไฟป่า อย่าง MODIS (Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer) หรือ VIIRS (Visible Infrared Imaging Radiometer Suite) เพื่อส่งแจ้งเตือนให้กับเจ้าหน้าที่ และในกรณีที่ไฟป่าทวีความรุนแรงและลุกลาม ก็สามารถใช้ปุ่มเตือนภัยเพื่อแจ้งให้ชาวบ้านในพื้นที่ เจ้าหน้าที่และอาสาดับไฟป่าให้อพยพเคลื่อนย้ายผ่านทาง EWS messages (Early warning system messages) ได้เช่นเดียวกัน"
เปิดรับทุกความร่วมมือ ต่อยอดนวัตกรรมเพื่อผลิตใช้งานจริง
ปัจจุบัน นวัตกรรมชุดกันไฟ Smart Suit ที่เพิ่งคว้ารางวัลใหญ่ระดับโลกชิ้นนี้ ยังคงเป็นเพียงผลงานชิ้นต้นแบบเท่านั้น ซึ่งน้อง ๆ สมาชิกในทีม TAF แม้จะแยกย้ายกันไปเติบโตตามเส้นทางที่แต่ละคนเลือก แต่ก็ยังรู้สึกภาคภูมิใจและหมายมั่นว่าวันหนึ่ง นวัตกรรมต้นแบบชิ้นนี้ จะได้รับการพัฒนาไปสู่นวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง เพื่อจัดการกับสถานการณ์ไฟป่าที่กำลังเป็นปัญหา และรักษาชีวิตของอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าผู้เสียสละให้มีความปลอดภัยและทำงานได้สะดวกสบายขึ้น
"ชุดกันไฟ Smart Suit ที่เราพัฒนาขึ้น ยังเป็นเพียงต้นแบบ โดยที่เราเลือกใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีเท่าที่เราในฐานะนิสิตจะหาได้และราคาไม่แพงมาใช้ ในอนาคต หากมีการต่อยอดนำไปผลิตเพื่อใช้งานจริงได้ ก็สามารถที่จะอัปเดตอุปกรณ์หรือใช้เทคโนโลยีที่มีความทันสมัยกว่านี้ หรือเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานต่าง ๆ เพื่อประสิทธิภาพที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปได้อีก" นฤดมกล่าวทิ้งท้าย
หน่วยงานหรือบริษัทใดสนใจนำต้นแบบ "นวัตกรรมชุดกันไฟ Smart Suit" ไปพัฒนาต่อเพื่อผลิตสำหรับใช้งานจริง ทางน้อง ๆ ทีม TAF ก็พร้อมและยินดีที่จะหารือ ถ่ายทอดองค์ความรู้ และร่วมมือพัฒนานวัตกรรม เพราะปัญหาไฟป่าเป็นวาระสำคัญและเร่งด่วน ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ที่ยังรอคอยนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อใช้จัดการกับสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้สนใจสามารถติดต่อกับสมาชิกทีมโดยตรงหรือติดต่อผ่าน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทรศัพท์ 0-2 218-6309-10
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit