"โครงการผู้นำ - นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 13 "Leadership for Change - LFC#13 : BCG Model in Action" โดย "มูลนิธิสัมมาชีพ" ในวันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมา ยังคงมีเนื้อหาเข้มข้นต่อเนื่อง โดยมี คุณกนกพร รอดรุ่งเรือง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารชื่อเสียงองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท.. จำกัด (มหาชน) ปาฐกถาภายใต้หัวข้อ "ถอดบทเรียน ปตท.ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน" และ คุณวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน มาถ่ายทอดวิสัยทัศน์และปฏิบัติการขับเคลื่อนการทำธุรกิจ ควบคู่การดูแลสังคม โมเดลเศรษฐกิจ BCG
คุณกนกพร รอดรุ่งเรือง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารชื่อเสียงองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บมจ. ปตท.. กล่าวว่า ปตท.เป็นองค์กรที่ไม่เพียงมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจหรือแสวงหากำไร หากแต่ยังตระหนักการมีบทบาทดูแลสังคมและชุมชนมาโดยตลอด ซึ่งในการขับเคลื่อนนั้น ปตท. ดำเนินการรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม ไปจนถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งที่ผ่านมา ปตท. ดำเนินโครงการขับเคลื่อนด้านสังคมไปแล้วกว่า 45 โครงการ ตอกย้ำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG อาทิ โครงการปลูกป่ากว่า 5 ล้านไร่ โครงการ Restart Thailand โครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม เป็นต้น
"ปรัชญาของ ปตท. ตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้ง คือเราไม่ใช่องค์กรธุรกิจธรรมดาที่จะทำเพื่อกำไรอย่างเดียว แต่ดีเอ็นเอของคน ปตท.มุ่งเน้นการช่วยเหลือสังคมมาอย่างต่อเนื่อง เพราะ ปตท.เชื่อว่าองค์กรนี้ และสังคมนี้จะแข็งแรงและเติบโตยั่งยืนได้ เราต้องเติบโตไปด้วยกันและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"
ปตท. ยังจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมที่ไม่เพียงมีบทบาทดำเนินการวิจัย ศึกษา ค้นคว้า และพัฒนากระบวนการผลิตในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้กับธุรกิจ แต่ยังมีความรับผิดชอบสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อยกระดับขีดความสามารถชุมชน ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
"ปตท.เราค้นหาทุนความยั่งยืนในชุมชน แล้วเติมนวัตกรรมที่ ปตท.มีความถนัดเข้าไปเสริม สถาบันวิจัย ปตท.จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาต่อยอดโซเชียลอินโนเวชัน อะไรที่จะช่วยชุมชน ยกระดับสร้างเศรษฐกิจ สร้างรายได้ และทำให้ชุมชนยิ้มได้ นั่นคือเป้าหมายของเรา"
คุณวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวปาฐกถา "ออมสินเพื่อสังคม" ก้าวที่ท้าทาย ปรับสู่ฐานราก มุ่งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ยั่งยืน ว่า กว่าสองปีที่ธนาคารออมสินปรับกลยุทธ์โดยวางบทบาทเป็นธนาคารเพื่อสังคมเต็มตัว ธนาคารนำกำไรจากการทำธุรกิจและใช้กลยุทธ์การลดต้นทุนปีละหมื่นล้านบาท เพื่อแปลงกำไรดังกล่าวมาช่วยขับเคลื่อนสังคมและชุมชนฐานราก
คุณวิทัยกล่าวว่า ในบทบาทของ social banking หากจะเป็นธนาคารที่ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมอย่างเดียวคงทำไม่ได้ง่าย จำเป็นต้องมีผลกำไรหรือมีเงินทุนที่เลี้ยงตัวเองได้เช่นกัน ดังนั้น แนวทางการเป็นธนาคารเพื่อสังคมที่มีความยั่งยืนในแนวทางของออมสินจึงต้องประกอบด้วยการขับเคลื่อนด้านธุรกิจและสังคมไปพร้อมกัน
"ก่อนหน้านั้น ออมสินเป็นธนาคารเพื่อชุมชนมาตลอด ด้วยไซส์หรือขนาดของเรา ถ้าไปวางทาบกับธนาคารอื่นแล้ว เราถือเป็น 1 ใน 5 ของธนาคารใหญ่ระดับประเทศ เรามีฐานลูกค้า 23 ล้านราย มีสินทรัพย์กว่า 3 ล้านล้านบาท ซึ่งด้วยความใหญ่เป็นข้อได้เปรียบที่จะทำให้เราช่วยคนได้ โดยธนาคารออมสินสามารถทำธุรกิจแบบ commercial bank ได้เต็มรูปแบบ 100% สามารถคิดบริหารโปรเจคธุรกิจที่สร้างผลกำไร แล้วนำกำไรเหล่านั้นมาเพื่อใช้สนับสนุนภารกิจทางสังคม"
ขณะเดียวกัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในด้านโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อและการเงิน ธนาคารยังส่งเสริมการดึงให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบสินเชื่อในระบบภายใต้โครงการต่าง ๆ ที่ธนาคารร่วมมือกับภาครัฐ สร้างนวัตกรรมด้านการเงินสำหรับฐานราก
"ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ เป็นปัญหาโครงสร้างใหญ่ของประเทศไทยเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เป็นปัญหาที่ออมสินพยายามเข้ามาช่วยทำ แต่วิธีการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องยาก เรื่องนี้รัฐบาลต้องเข้ามาช่วย คือ ต้องหาทางเพิ่มรายได้ให้เขา บทบาทที่ธนาคารออมสินทำได้ชัดเจนคือ เข้าไปแข่งขันในตลาดที่ดอกเบี้ยสูงเกินไป รวมถึงดึงคนที่ไม่เคยเข้าสู่ระบบมาก่อน ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย รวมถึงคนที่มีหนี้สินให้เขากลับมาเข้าสู่ระบบปกติได้" คุณวิทัยกล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit