ผลการศึกษาใหม่โดยนักวิจัยที่บ่อน้ำมันดินลาเบรอา (La Brea Tar Pits) ระบุว่า ไฟป่าขนาดใหญ่ในระบบนิเวศที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น เป็นสาเหตุให้เสือเขี้ยวดาบ, หมาป่าไดร์วูล์ฟ (Dire wolf) และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่อื่น ๆ สูญพันธุ์ในทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อเกือบ 13,000 ปีที่แล้ว
การศึกษาดังกล่าวซึ่งผ่านการทำพิชญพิจารณ์ (Peer review) และตีพิมพ์ลงในวารสารไซเอินซ์ (Science) ได้นำเสนอมุมมองใหม่ต่อข้อถกเถียงทางวิทยาศาสตร์ที่กินเวลานานหลายทศวรรษว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งล่าสุดของโลก โดยงานวิจัยนี้ใช้หลักฐานสนับสนุนจากการระบุอายุที่แน่นอนของซากดึกดำบรรพ์ที่อยู่ในบ่อน้ำมันดินลาเบรอา ทำให้เราเข้าใจถึงพลวัตปัจจัยที่ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมอย่างมาก การเติบโตของประชากรมนุษย์ การเกิดไฟป่า และการสูญพันธุ์อย่างรวดเร็วของ "มหพรรณสัตว์" (megafauna) หรือสัตว์ขนาดใหญ่ในยุคน้ำแข็ง
ดร. ลอรี เบตติสัน-วาร์กา (Lori Bettison-Varga) ประธานและผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งเคาน์ตีลอสแอนเจลิส กล่าวว่า "งานวิจัยนี้จะคงความสำคัญเป็นเวลาหลายทศวรรษต่อจากนี้และไปไกลยิ่งกว่าสาขาวิทยาศาสตร์ บ่อน้ำมันดินลาเบรอาเป็นสถานที่แห่งเดียวในโลกที่มีบันทึกฟอสซิลที่จำเป็นต่อการตรวจสอบเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งสำคัญครั้งล่าสุดด้วยวิธีนี้ กลุ่มฟอสซิลยุคน้ำแข็งหลายล้านรายการในสถานที่นี้มอบโอกาสพิเศษในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม"
การศึกษาดังกล่าวได้ระบุลำดับเหตุการณ์ภัยพิบัติทางนิเวศวิทยาโดยปะติดปะต่อข้อมูลจากสภาพอากาศ, พืชพรรณ และเหตุไฟป่าที่พบในตะกอนที่ก้นทะเลสาบเอลซินอร์ในบริเวณใกล้เคียง เหตุการณ์เริ่มต้นจากการที่ภูมิประเทศค่อย ๆ อุ่นและแห้งขึ้นเนื่องจากโลกกำลังสิ้นสุดยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายและธารน้ำแข็งเริ่มละลาย โดยกินเวลานานกว่า 2,000 ปี ในช่วงเดียวกันนั้นเอง สัตว์กินพืชขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในป่าก็เริ่มลดจำนวนลง จากนั้น เมื่อประชากรมนุษย์เริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วในอเมริกาเหนือ ระบบนิเวศก็เปลี่ยนไปอย่างมาก โดยอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและเกิดภัยแล้งยาวนาน 200 ปีจนทำให้ภูมิประเทศแห้งแล้ง เกิดไฟป่าขนาดใหญ่ที่ทำให้ชุมพืช (Plant community) เปลี่ยนสภาพไป สัตว์ขนาดยักษ์ยุคน้ำแข็งทั้งหมดที่ลาเบรอาสาบสูญไปภายในเวลา 300 ปี และระบบนิเวศป่าชาปาร์รัล (chaparral) สมัยใหม่ที่มีการปรับตัวให้เข้ากับไฟป่าก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในแคลิฟอร์เนีย
การศึกษาดังกล่าวระบุว่า การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมกับกิจกรรมของมนุษย์มีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันด้วย โดยการศึกษาชี้ให้เห็นว่า อุณหภูมิในเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนียเพิ่มขึ้นในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาเร็วกว่าในช่วงปลายสมัยไพลสโตซีน (Pleistocene) ที่ดินที่ถูกไฟป่าเผาทางตะวันตกของสหรัฐมีเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และรูปแบบเช่นนี้คาดว่าจะเลวร้ายลงอีกในปีต่อ ๆ ไป
ดูชุดข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับเต็มได้ที่ https://drive.google.com/drive/folders/1USDjUihwaeCMS7xUQIw2k7nHySbB7ZwD
สื่อมวลชนติดต่อ:
เมารา คลอสเตอร์มัน-วู (Maura Klosterman-Vu)
310-552-4117
[email protected]
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit