ปตท .สผ. เปิดโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ "ลานแสงอรุณ" เพื่อนำมาใช้ในกระบวนการผลิตปิโตรเลียมในโครงการเอส 1 นับเป็นครั้งแรกที่มีการนำไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในการผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 13,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี อีกหนึ่งความมุ่งมั่นสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท .สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า จากการที่ ปตท.สผ. ได้ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 ผ่านแนวคิด EP Net Zero 2050 นั้น หนึ่งในแผนงานที่สำคัญคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียม ปตท.สผ. จึงได้พัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Power Plant) "ลานแสงอรุณ" ขึ้นที่อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อนำพลังงานสะอาดมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าในกระบวนการผลิตปิโตรเลียมของโครงการเอส 1 ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยนับเป็นโครงการแรกในประเทศไทยที่มีการนำไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมาสนับสนุนการผลิตปิโตรเลียม
การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ "ลานแสงอรุณ" ได้เริ่มการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมได้ประมาณ 13,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้จำนวน 1,300,000 ต้นต่อปี เพื่อดูดซับก๊าซเรือนกระจก
โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ "ลานแสงอรุณ" มีกำลังการผลิต 9.98 เมกะวัตต์ อยู่ภายใต้การดำเนินการของบริษัท ฟิวเจอร์เทค เอนเนอร์ยี่ เวนเจอร์ส จำกัด (FTEV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานสะอาด เช่น พลังงานหมุนเวียน และไฮโดรเจน เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและการเติบโตที่ยั่งยืน โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ FTEV ได้เข้าร่วมลงทุนและพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ในรัฐสุลต่านโอมาน ซึ่งจะใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมมาใช้ในการผลิตกรีนไฮโดรเจน ทั้ง 2 โครงการสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ ปตท.สผ. ในการก้าวไปสู่ธุรกิจพลังงานสะอาดอย่างเป็นรูปธรรม