ในสถานการณ์ของโลกยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว ภาคธุรกิจจำเป็นต้องเตรียมพร้อมเพื่อจัดการความเสี่ยงขององค์กรในหลายมิติ ไม่เพียงแต่การให้ความสำคัญด้านธุรกิจและผลกำไรเท่านั้น ปัจจัยด้านสังคมรวมถึงประเด็นความเท่าเทียมทางเพศเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจขององค์กร โดยองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้เปิดเผยผลสำรวจในบทความเรื่อง Beyond the glass ceiling: Why businesses need women at the top ว่า วัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศจะทำให้ได้รับผลประโยชน์เชิงสังคม รวมถึงประโยชน์ด้านอื่น เช่น ความสามารถในการดึงดูดและการรักษาบุคลากรที่มีความสามารถ ในการสร้างนวัตกรรม การเปิดใจยอมรับองค์กร และการเพิ่มภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร
ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุน ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม และยึดหลักธรรมาภิบาล (ESG in process) มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมิติทางสังคมที่ครอบคลุมเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศที่ ก.ล.ต. ได้ขับเคลื่อนผ่านแผนการดำเนินการเพื่อเพิ่มบทบาทสตรีในตลาดทุนไทย ภายใต้ความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตร เช่น องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตาม ESG Master Plan ของ ก.ล.ต. ที่สอดรับกับแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2565 - 2570) แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศโดยมีความมุ่งหมายเพื่อเพิ่มบทบาทผู้นำสตรีและการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่คำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศ
ทั้งนี้เพื่อช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศสู่ภาคธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการเป็น "พลเมืองที่ดี" (Good Corporate Citizen) ของบริษัทจดทะเบียน ให้ประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม อันเป็นส่วนหนึ่งของตลาดทุนซึ่งเป็นกลไกสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ก.ล.ต. จึงได้จัดงานเสวนา "บทบาทผู้นำและการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน" เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 เพื่อยกระดับการรับรู้และการยอมรับในพลังผู้นำสตรีผ่านเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ เพื่อให้ภาคธุรกิจเห็นความสำคัญของศักยภาพสตรีในการเป็นผู้บริหารระดับสูงและกรรมการบริษัทซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในบริบทปัจจุบัน โดยเห็นประโยชน์ต่อธุรกิจจากการมีกรรมการสตรี ในจำนวนที่มากขึ้น เนื่องจากจะช่วยให้องค์กรมีมุมมองที่หลากหลาย มีความยืดหยุ่น และปรับตัวได้เร็ว อีกทั้งยังส่งผลต่อภาพลักษณ์องค์กรดีขึ้นจากการให้ความสำคัญกับทุกเพศอย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ภายในงานยังได้ชื่นชมบริษัทจดทะเบียนที่ให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ โดยมีสัดส่วนกรรมการสตรีร้อยละ 30 ขึ้นไปของจำนวนกรรมการอีกด้วย
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้จัดทำ "Gender Corner" บนเว็บไซต์ ของ ก.ล.ต ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของแหล่งข้อมูลสำหรับภาคธุรกิจในการนำไปต่อยอดการขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อให้ภาคธุรกิจเข้าถึงองค์ความรู้ดังกล่าวและขยายผลไปสู่ห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ และถือเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีวัฒนธรรมองค์กรที่คำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit