"ติดหวาน" เสี่ยงโรคอะไรบ้าง?

08 Mar 2023

สาเหตุที่ทำให้เราติดหวาน นั่นก็เพราะว่าความหวานจะเข้าไปกระตุ้นการหลั่งโดพามีน หรือฮอร์โมนแห่งความสุข ทำให้เกิดอาการเสพติดและรู้สึกอยากกินของหวานอยู่ตลอด การที่เราทานอาหารหวานๆ มากเกินไป จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงส่งผลให้อินซูลินทำงานผิดปกติ เซลล์เกิดภาวะต้านอินซูลิน และเป็นจุดเริ่มต้นของโรคต่างๆ มากมาย เช่น

"ติดหวาน" เสี่ยงโรคอะไรบ้าง?
  • โรคเบาหวาน ภาวะต้านอินซูลินที่รุนแรง จะทำให้ตับอ่อนไม่สามารถรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ต่ำลงได้ ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้น จะทำให้เราเป็นโรคเบาหวานได้ในที่สุด
  • โรคหัวใจ อาหารที่มีน้ำตาลสูง เป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ เพราะน้ำตาลมีผลต่อกระบวนการสูบฉีดของหัวใจ เพิ่มระดับไตรกลีเซอไรด์ ไขมันไม่ดี กลูโคส และอินซูลินในกระแสเลือด
  • โรคอ้วน ความหวานจะทำให้รู้สึกหิวมากขึ้น และไม่รู้สึกอิ่ม คุณจะรู้สึกว่า กินเท่าไรก็ไม่พอเสียที และมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นได้อย่างง่ายดายโดยไม่รู้ตัว
  • ความดันโลหิตสูง น้ำตาลทำให้ฮอร์โมนแคทีโคลามีน และกรดยูริกสูง ซึ่งต่างก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงทั้งสิ้น
  • ไขมันในเลือดสูง การทานอาหารประเภทแป้ง และน้ำตาลมากๆ จะทำให้เกิดการสะสมไตรกลีเซอไรด์ขึ้นในร่างกาย ทำให้ปริมาณไขมันในเลือดสูงขึ้น
  • ฟันผุ น้ำตาลนั้นย่อยง่าย แบคทีเรียในช่องปากจึงสามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว จนเป็นสาเหตุของปัญหาในช่องปากต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ฟันผุ เคลือบฟันกัดกร่อน โรคเหงือก และกลิ่นปาก
  • มะเร็ง อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ใช้ควบคุมการเจริญเติบโต และการเพิ่มขึ้นของเซลล์มะเร็ง การเพิ่มขึ้นของอินซูลิน หรือระดับอินซูลินที่ไม่คงที่ อาจทำให้มีเซลล์มะเร็งเติบโตอยู่ในร่างกายของเราได้
  • โรคกระดูก น้ำตาลสามารถซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความไม่สมดุลในเลือด เมื่อเลือดมีความเป็นกรดมากขึ้น ร่างกายจึงต้องปรับสมดุลโดยการดึงแร่ธาตุต่างๆ ที่สะสมอยู่ในกระดูกมาใช้แทน ทำให้กระดูกเปราะหักง่าย

แม้ว่าการกินของหวานจะทำให้รู้สึกมีความสุข แต่ถ้าทานมากเกินไป ก็จะทำให้ร่างกายทำงานหนักขึ้น และเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ ตามมาได้เช่นกัน ดังนั้นถ้าไม่อยากเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ที่เกิดจากความหวาน แนะนำว่าให้ทานหวานแต่พอดี ดีกว่านะครับ..

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit