นายสมบูรณ์ หอมนาน ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) กทม.กล่าวกรณีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำชับเฝ้าระวังเด็กจมน้ำเสียชีวิตในช่วงปิดภาคเรียนว่า สวท.ได้รณรงค์ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและความเสี่ยงทางน้ำช่วงปิดภาคเรียน (ภาคฤดูร้อน) เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนมีทักษะการว่ายน้ำระดับพื้นฐาน สามารถเอาตัวรอดจากการจมน้ำและเรียนรู้วิธีการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุทางน้ำ โดยจัดกิจกรรมอบรมกีฬาว่ายน้ำระดับพื้นฐานในศูนย์กีฬา 5 แห่งของ กทม.จำนวน 4 ครั้ง ๆ ละ 3 เดือน ระหว่างเวลา 16.00 - 18.00 น. และเวลา 18.00 - 20.00 น. ปัจจุบันอยู่ในช่วงที่ 3 ระหว่างเดือน เม.ย. - มิ.ย.66 โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ เยาวชนอายุระหว่าง 5 - 18 ปี ในพื้นที่โดยรอบศูนย์กีฬาฯ รวมทั้งจัดกิจกรรมปิดเทอม เติมประสบการณ์ ชนิดกีฬาว่ายน้ำ ระหว่างวันที่ 1 - 30 เม.ย.66 กลุ่มเป้าหมายคือ เยาวชนอายุระหว่าง 5 - 18 ปี ในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบศูนย์กีฬาฯ
นอกจากนี้ ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดโครงการว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำได้ปลอดภัย โดยสำนักการศึกษา กทม.จัดตั้งงบประมาณ เพื่อดำเนินโครงการว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำได้ปลอดภัย โดย สวท.ร่วมสนับสนุนสถานที่ สระว่ายน้ำ และวิทยากรจัดอบรมในระหว่างปีการศึกษา โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ นักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 3 - 6 ในโรงเรียนสังกัด กทม.และพื้นที่ใกล้เคียง ทักษะการสอน ได้แก่ การลอยตัวในน้ำ การสร้างความคุ้นเคยในน้ำ การว่ายน้ำท่าพื้นฐาน และการเอาตัวรอดจากการจมน้ำ
นางสาวศุภร คุ้มวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม.กล่าวว่า สนศ.ได้ดำเนินโครงการว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำได้ปลอดภัย อย่างต่อเนื่องในเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยให้สำนักงานเขตพิจารณาดำเนินโครงการฯ ตามบริบทของโรงเรียนในสังกัด กทม.ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 สนศ.อยู่ระหว่างร่วมพัฒนาหลักสูตรความปลอดภัยทางน้ำ เพื่อนำมาจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนมีทักษะการเอาชีวิตรอดและทักษะว่ายน้ำพื้นฐาน หรือช่วยเหลือชีวิตเบื้องต้นจากภัยทางน้ำและเหตุฉุกเฉินในชีวิตประจำวัน โดยจะใช้เป็นหลักสูตรมาตรฐานต่อไป
ทั้งนี้ สนศ.ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมพัฒนาหลักสูตรความปลอดภัยทางน้ำ เพื่อใช้จัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. โดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ประกอบด้วย (1) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 2 เรียนรู้ความเสี่ยงและการประเมินแหล่งน้ำ การใช้ชูชีพ และการช่วยเหลือคนตกน้ำ (ตะโกน โยน ยื่น) โดยโรงเรียนที่มีสระว่ายน้ำจะมีการเรียนการสอนทักษะการลอยตัวและการเคลื่อนที่ในน้ำ (2) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 - 5 เรียนรู้ความเสี่ยงและการประเมินแหล่งน้ำ การใช้ชูชีพ และการช่วยเหลือคนตกน้ำ ทักษะการลอยตัว และการเคลื่อนที่ในน้ำ โดยมีการประเมินให้ได้มาตรฐานทางหลักวิชาการ ได้แก่ ลอยตัวได้ 3 นาที เคลื่อนที่ทางน้ำ 15 เมตร และทักษะว่ายน้ำในรูปแบบต่าง ๆ และ (3) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เรียนรู้การช่วยชีวิตเบื้องต้นด้วยวิธีการฝึกปฏิบัติจริงทุกคน โดยมีทีมวิทยากรมืออาชีพที่ได้รับรองหลักสูตรการช่วยชีวิตเป็นผู้ให้ความรู้ นอกจากนี้ ยังได้จัดประชุมผู้บริหาร สนศ. ผู้อำนวยการสถานศึกษาและหัวหน้าฝ่ายการศึกษา โดยเน้นย้ำให้โรงเรียนกำชับผู้ปกครองสอดส่องดูแลบุตรหลานช่วงปิดภาคเรียนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งระมัดระวังการลงเล่นน้ำที่อาจเกิดความเสี่ยงต่อการจมน้ำ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit