ม.มหิดลเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม "APAIE 2023 Bangkok" เพื่อการศึกษาที่ยั่งยืน

16 Mar 2023

ประเทศไทยกำลังเป็นที่ยอมรับในความโดดเด่นด้านเศรษฐกิจ และการศึกษาในเวทีโลก จากเมื่อ "โมเดล BCG" ของไทยได้รับการเสนอให้ใช้ในการขับเคลื่อนกลุ่มผู้นำเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่มาร่วมประชุม ณกรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงปลายปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา

ม.มหิดลเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม "APAIE 2023 Bangkok" เพื่อการศึกษาที่ยั่งยืน

และในปี พ.ศ. 2566 นี้ที่ประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับความไว้วางใจจากสมาคมการศึกษานานาชาติเอเชีย-แปซิฟิก (The Asia - Pacific Association for International Education - APIAE) ให้เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดประชุม "APAIE 2023 Bangkok"

โดยมีผู้นำ และบุคลากรทางการศึกษากว่า 2,700 รายจากทั่วโลกมารวมอยู่ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) ระหว่างวันที่ 13 - 17 มีนาคม 2566 เพื่อร่วมค้นหาหนทางสู่การศึกษาที่ยั่งยืนในอนาคต ภายใต้แนวคิด "Towards a Sustainable Future for International Education in the Asia Pacific"

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวต้อนรับในฐานะที่มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติ "APAIE 2023 Bangkok" ว่า ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญของผู้นำและบุคลากรทางการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ได้มาร่วม "ระดมสมอง" สู่การบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน(SDGs) แห่งสหประชาชาติให้ได้ในภายในปี พ.ศ. 2573

แม้การศึกษาที่เท่าเทียม (Quality Education) ตาม SDG4 จะเป็น "รากฐานสำคัญ" สู่การบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติทั้ง 17 ข้อ แต่ก็ไม่อาจทำให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างแท้จริงหากขาด "การแบ่งปัน" (Contribution) ซึ่งจะเป็นความหวังสู่ทางรอดของมวลมนุษยชาติ และสร้างความเชื่อมั่นสู่การหลอมรวมให้กลายเป็น "พลัง" เพื่อพร้อมฝ่าฟันในทุกอุปสรรคในอนาคต

ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่ "เสาหลัก" ของประเทศ "ขับเคลื่อน" ชุมชน จากการมุ่งให้ความสำคัญต่อการส่งเสริม "ทุนปัญญา" (Knowledge Capital) และ "ทุนมนุษย์" (Human Capital) โดย "ไม่ทิ้งผู้ใดไว้ข้างหลัง"

ดังเมื่อ 4 ปีก่อนที่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ ได้เข้าร่วมการประชุม "APAIE 2019 Kuala Lumpur" แล้วได้ให้คำมั่นสัญญาว่าพร้อมที่จะทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลได้เป็นสถาบันผู้นำแห่งการส่งเสริมความเท่าเทียมเพื่อลดความต่าง (Inclusiveness) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเปราะบาง และความหลากหลายแห่งเพศสภาวะ

ไม่ว่าจะกี่ปีผ่านไป มหาวิทยาลัยมหิดลยังคงพร้อมทำหน้าที่"ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานฯ ดูแลประชาชนทั้งในประเทศ และภูมิภาคฯ ให้เกิดความสันติสุข (Peace) ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (Prosperity) และความยั่งยืน(Sustainability)

และจากพลังอันแข็งแกร่งที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายทางการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก "APAIE 2023" นี้เชื่อมั่นว่าจะเป็นแรงผลักดันให้พร้อมก้าวสู่ความสำเร็จของการศึกษายั่งยืนของโลกได้ตามเป้าหมายต่อไปในอนาคต

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th

ข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210