นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการตรวจคัดกรองค้นหาผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมว่า สนอ.ได้รณรงค์ให้สตรีเข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมทั้งเชิงรับในคลินิกวางแผนครอบครัวและหลังคลอดที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.และเชิงรุกโดยรถคัดกรองมะเร็งสตรีเคลื่อนที่ ซึ่งมีผู้เข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในปี 2565 จำนวนกว่า 5,000 ราย ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง โดยสตรีที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจเต้านมตนเองเป็นประจำทุกเดือน โดยดูด้วยตา (Look for Change) และคลำด้วยมือ (Feel for Change) ควรเลือกตรวจในวันที่ไม่มีอาการปวด หรือคัดเต้านม หลังจากประจำเดือนหมดแล้วประมาณ 3 - 7 วัน เพื่อให้รู้ลักษณะเต้านมปกติของตนเองว่าเป็นอย่างไร รวมถึงสังเกตความผิดปกติของเต้านมที่ควรรีบไปพบแพทย์ ได้แก่ พบก้อน หรือมีเนื้อแข็งเป็นไต มีน้ำเหลือง หรือเลือดไหลออกจากหัวนม ผิวหนังบริเวณเต้านมมีรอยบุ๋ม หัวนมถูกดึงรั้งจนผิดปกติ เต้านมบวม เต้านมทั้งสองข้างไม่อยู่ในระดับเดียวกัน มีการเปลี่ยนแปลงขนาดและรูปร่างของเต้านม เป็นต้น หากพบความผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจะสามารถรักษาให้หายขาดได้ ประชาชนสามารถศึกษาขั้นตอนการตรวจเต้านมด้วยตนเองง่าย ๆ ผ่านคลิปวิดีโอ "3 นิ้ว 3 สัมผัส มะเร็งเต้านม รู้เร็ว รักษาได้ กับมูลนิธิถันยรักษ์" ที่เว็บไซต์ https://youtu.be/VFGdqy6YiYQ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit