หลาย ๆ คนคงทราบกันดีว่าการนอนหลับเต็มอิ่มถือเป็น "ยาวิเศษ" ที่ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง ลดความเครียดและความเหนื่อยล้าในแต่ละวัน พร้อมเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายได้เป็นอย่างดี ในทางกลับกัน การนอนหลับไม่สนิท สะดุ้งตื่นกลางดึก กรนหรือหายใจติดขัดจนตื่นบ่อย ๆ ก็ทำให้ตื่นเช้ามาไม่สดชื่น ร่างกายอิดโรยไม่พร้อมสำหรับการเริ่มวันใหม่ได้เหมือนกัน ซึ่งหลายคนอาจไม่ทราบว่าอาการเหล่านี้อาจเป็นเพราะเรา "หยุดหายใจ" ระหว่างที่หลับ และหากเป็นเช่นนี้บ่อย ๆ ก็มีโอกาสที่จะเกิดโรคร้ายแรงอื่น ๆ ตามมาได้
วันนี้ พญ. เพชรรัตน์ แสงทอง แพทย์ผู้ชำนาญการโสต ศอ นาสิก จากศูนย์หู คอ จมูก โรงพยาบาลวิมุตจะชวนมาทำความรู้จักกับ "ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ" ซึ่งเป็นความผิดปกติของการหายใจขณะหลับชนิดหนึ่งที่คนไทยจำนวนมากไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังเป็น พร้อมเล่าถึงสัญญาณอันตรายที่ไม่ควรละเลย ตลอดจนแนวทางการรักษาที่สามารถทำให้เรากลับมานอนหลับดีมีประสิทธิภาพได้อีกครั้ง
ชวนรู้จัก "ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ" และหลากหลายสาเหตุของโรค
พญ. เพชรรัตน์ แสงทอง อธิบายว่า "ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ก็คือการหยุดหายใจชั่วคราวขณะนอนหลับ ซึ่งทำให้สมองตื่นตัวเป็นระยะ จนไม่สามารถหลับได้ยาว ๆ ตามปกติ สังเกตได้จากการสะดุ้งตื่นกลางดึก หลับไม่ต่อเนื่อง พอตื่นเช้ามาจะไม่สดชื่น แม้นอนนาน ๆ ก็ยังง่วงตอนกลางวัน" โดยแพทย์ชี้ว่าภาวะดังกล่าวส่งผลต่อการใช้ชีวิตในแบบที่หลายคนคาดไม่ถึง เพราะการนอนหลับไม่ปกติอาจทำให้อารมณ์ไม่ดี หงุดหงิดง่าย ไม่มีสมาธิ จนทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง และหากโชคร้าย ก็อาจเกิดอาการหลับในระหว่างที่ขับขี่ยานพาหนะหรือระหว่างที่ทำงานกับเครื่องจักร จนประสบอุบัติเหตุหรือเสียชีวิตได้
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน ประเภทที่ 1) คือภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น พบได้มากถึง 80 % ของคนไข้ที่เป็นภาวะนี้ โดยเกิดจากการยุบตัวหรือหย่อนลงของอวัยวะทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ จมูก เพดานอ่อน ลิ้นไก่ โคนลิ้น และฝาปิดกล่องเสียง ซึ่งเกิดขึ้นได้ตอนที่เราหลับและส่วนต่าง ๆ ของร่างกายก็ผ่อนคลาย อวัยวะทางเดินหายใจเหล่านี้ก็อาจหย่อนลงทำให้ปิดทางเดินหายใจ จนเราหยุดหายใจตอนหลับได้ ประเภทที่ 2) คือ ภาวะหยุดหายใจจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง เกิดจากประสาทส่วนกลางสั่งการหยุดหายใจ อันนี้จะพบในกลุ่มคนไข้ที่มีอาการทางสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือ Stroke นอกจากนี้ อาจพบในกลุ่มคนที่เดินทางขึ้นที่สูงมาก ๆ หรือในผู้ที่ใช้ยาหรือสารเสพติดบางชนิด โดยเฉพาะฝิ่นหรือยาแก้ปวดกลุ่ม Opioids ซึ่งทำให้มีการกดการหายใจ หรือแม้แต่คนไข้กลุ่มที่เพิ่งเริ่มใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก ซึ่งเดี๋ยวคุณหมอจะเล่าต่อว่าเหตุใดเราจึงไม่ควรซื้อเครื่องมาใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
ส่องอาการเข้าข่าย "ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ" แพทย์แนะให้รีบพบแพทย์หากเป็นกลุ่มเสี่ยง
พญ. เพชรรัตน์ แสงทอง ชวนส่องสังเกตอาการเสี่ยงเบื้องต้นทั้งของตนเองและคนใกล้ตัว "อาการที่เข้าข่ายอย่างแรกเลยคือ การนอนกรน เพราะเป็นสัญญาณว่าทางเดินหายใจส่วนบนเริ่มตีบลง นี่รวมถึงอาการสำลักน้ำลายแล้วสะดุ้งตื่นขึ้นมา อาการหายใจสะดุด แบบกรนแล้วเงียบไปและกลับมากรนดัง ๆ เป็นต้น อีกหนึ่งอาการที่ควรสังเกตคือ อาการง่วงทั้ง ๆ ที่นอนเพียงพอครบ 7-8 ชั่วโมง แต่ยังอ่อนเพลียไม่สดชื่น รวมถึงอาการที่รุนแรงอย่าง การหลับใน หมายถึงการหลับเฉียบพลัน ซึ่งถ้ากำลังขับขี่ยานพาหนะอยู่หรือทำงานกับเครื่องจักร ก็อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ นอกจากนี้ คนที่มี BMI หรือดัชนีมวลกายเกิน 23 สำหรับคนไทย ก็ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นภาวะนี้มากขึ้น เพราะไขมันที่เกาะตามอวัยวะต่าง ๆ มีโอกาสปิดกั้นการหายใจได้ เช่น ที่คอหรือที่เรียกว่า 'เหนียง' เวลาที่อยู่ในท่านอน เหนียงก็สามารถไปปิดกั้นทางเดินหายใจได้เช่นกัน" คุณหมอบอกว่า หากมีอาการเสี่ยง โดยเฉพาะมีหลายอาการร่วมกัน ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อทำ Sleep Test เพื่อหาสาเหตุของอาการและหาแนวทางการรักษากันต่อไป
แนวทางการรักษามีอะไรบ้าง
หากมาพบแพทย์และได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ พญ. เพชรรัตน์ เผยว่าแนวทางการรักษานั้นมีหลายวิธี ทั้งแบบไม่ผ่าตัดและผ่าตัด "สำหรับแบบไม่ผ่าตัดเราจะเรียกว่าวิธีอนุรักษ์ อย่างแรกที่ทำได้ด้วยตนเอง คือ การควบคุมน้ำหนัก ดัชนีมวลกายคนไทยควรน้อยกว่า 23 อีกวิธีคือการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบัน เครื่องฯ จะทำหน้าที่ดูดอากาศในห้องนอน แล้วทำเป็นแรงลมอัดอากาศ เพื่อเปิดทางเดินหายใจขณะนอนหลับ แต่ว่าตามที่เกริ่นไว้ คือคนไข้ไม่ควรซื้อเครื่องนี้มาใช้เองโดยเด็ดขาด ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการสมองสั่งให้หยุดหายใจ แทนที่จะหายอาจเกิดอันตรายได้ นอกจากนี้ ยังมีวิธีอีกมากมายที่ช่วยลดอาการได้ เช่น การใส่ทันตอุปกรณ์ เพื่อเปิดทางเดินหายใจส่วนบน, การปรับท่านอน ล่าสุดจะมีเครื่อง Sleep Position Trainer ที่สั่นเตือนให้เรานอนในท่าที่เหมาะสมได้ รวมถึงการฝึกกล้ามเนื้อช่องคอ, การใช้ Nasal Strip ที่ช่วยเรื่องการหายใจและลดอาการกรน หรือแพทย์ทางเลือก เช่น การฝังเข็ม ก็ช่วยลดอาการในคนบางกลุ่มได้ ตลอดจนการใช้ยา เช่น กลุ่มโรคอาการจมูกตัน พวกภูมิแพ้มีอาการคัดจมูก การพ่นยาเพื่อเปิดจมูกก็อาจช่วยเรื่องกรนได้"
สำหรับการรักษาด้วยการผ่าตัด คุณหมอบอกว่าปัจจุบันนี้มีเทคนิคการผ่าตัดมากมายที่ทันสมัย ส่วนจะผ่าตัดอวัยวะทางเดินหายใจใด ขึ้นอยู่กับว่าเราตีบหรือตันตรงไหน เช่น จมูก เพดานอ่อน โคนลิ้น เป็นต้น คนที่ลองทำตามวิธีที่อธิบายไปข้างต้นแล้วไม่ได้ผล ก็อาจต้องลองวิธีผ่าตัด ท้ายที่สุดแล้ว จะใช้แนวทางการรักษารูปแบบใด ทั้งแบบผ่าหรือไม่ผ่า พญ. เพชรรัตน์ แสงทอง กล่าวว่าอยากให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์และทำการตรวจร่างกายก่อน พร้อมการทำ Sleep Test เพื่อดูความรุนแรงของโรค
แพทย์แนะ อย่าปล่อยให้อาการเรื้อรัง เพราะอีกหลายโรคจะตามมา
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเป็นภัยเงียบที่ส่งผลกระทบต่อทุกระบบในร่างกายอย่างไม่น่าเชื่อ โดยโรคนี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคความดัน ไขมัน เบาหวาน และอ้วนลงพุง นอกจากนี้ ยังเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคความจำเสื่อม มีความผิดปกติทางอารมณ์ และเป็นโรคซึมเศร้าได้อีกด้วย เพื่อการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที แพทย์แนะนำให้ผู้มีอาการเสี่ยงพบแพทย์เพื่อรักษาอาการ ก่อนที่โรคจะรุนแรงและส่งผลต่อระบบอื่น ๆ ของร่างกายในภายหลัง
สำหรับผู้ที่สนใจพบแพทย์เพื่อรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์หู คอ จมูก โรงพยาบาลวิมุต ชั้น 5 โรงพยาบาลวิมุต พหลโยธิน หรือโทรศัพท์นัดหมาย 02-079-0050 เวลา 8.00 - 20.00 น.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit