สัญญาณเตือนแรกที่อาจนำไปสู่ภาวะ "สมองเสื่อม" คือ "อาการหลงลืม" แม้เพียงเล็กน้อยไม่ถึงกับรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่หากไม่ดูแลตัวเอง ปล่อยให้มีอาการมากขึ้น "โรคสมองเสื่อม" อาจมาเยือนเร็วกว่าที่คิด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัชวาล รัตนบรรณกิจอาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผู้ที่มีอาการหลงลืมเล็กน้อย แต่ยังไม่ถึงกับรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน อาจจัดอยู่ใน"ภาวะการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย" (Mild Cognitive Impairment - MCI)
ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนเริ่มแรกที่อาจพัฒนาสู่ "ภาวะสมองเสื่อม" โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัย แต่ส่วนใหญ่มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี เป็นอาการที่เกิดจากความสามารถในการทำงานที่ลดลงกว่าที่เคยเป็นของสมอง
หากรู้ตัว หรือสังเกตเห็นบุคคลในครอบครัว หรือผู้ที่อยู่ในความดูแลว่ากำลังอยู่ใน "ภาวะ MCI" หรือการรู้คิดเสื่อมถอยลงอย่างน้อย 1 ใน 6 ด้าน อาทิ ความจำ สมาธิลดลง มีความยากลำบากในการรับรู้และใช้งานสิ่งของต่างๆ การใช้ภาษา การเข้าใจบุคคลอื่น ตลอดจนมีความสามารถในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาลดลง แนะนำให้เข้ารับการปรึกษาจากแพทย์เสียแต่เนิ่นๆ ก่อนอาจต้องกลายเป็นผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมไปโดยไม่รู้ตัว
ซึ่งโดยปกติแพทย์จะให้เข้ารับการทดสอบโรคสมองเสื่อมจากแบบทดสอบที่ได้มาตรฐาน และในบางรายแพทย์อาจพิจารณาให้เข้ารับการตรวจเพิ่มเติม อาทิ เจาะเลือดตรวจCT scan เพื่อดูความผิดปกติของสมองผ่านการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ MRI สมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ในรายที่จำเป็นอาจต้องเข้ารับการวินิจฉัยด้วยความละเอียดสูงอื่นๆ
ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ไม่เคยหยุดนิ่งในปัจจุบัน ได้นำไปสู่การค้นพบการตรวจพิเศษและยาใหม่ที่มีใช้กันแล้วในบางประเทศ แต่ยังพบข้อจำกัดทางด้านผลการศึกษาประสิทธิภาพและผลข้างเคียง รวมถึงต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า ทำให้ต้องรอการพิจารณาให้ดีก่อนนำเข้ามาใช้รักษาผู้ป่วยภายในประเทศไทย
ทางที่ดีที่สุดของการป้องกันไม่ให้เกิดโรคสมองเสื่อมไม่ใช่"การใช้ยา" แต่คือ "การดูแลตัวเอง" ด้วยการออกกำลังกายอย่างเพียงพอ และสม่ำเสมอ ห่างไกลบุหรี่ รวมทั้งเลือกรับประทานอาหารที่ไม่เสี่ยงต่อการเกิดโรคในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน ที่จะทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้ต่อไป
และที่สำคัญจะต้องไม่ปล่อยให้ตกอยู่ในความเครียดที่เนิ่นนานและบ่อยครั้งจนเกินไป พยายามหากิจกรรมอื่นมาเบี่ยงเบนความสนใจ และฝึกสมอง อาทิ ร้องเพลง วาดรูป ศิลปประดิษฐ์ต่างๆ ฯลฯ
หากอยู่ร่วมกับผู้มีภาวะ MCI และสมองเสื่อมจะต้องใช้ความรู้ความเข้าใจในอาการผิดปกติ ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากเจตนาของผู้ป่วย ควรใช้ความระมัดระวังในการสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรหลีกเลี่ยงใช้คำพูดในเชิงกล่าวโทษ หรือตำหนิติเตียน ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเกิดอารมณ์แปรปรวน ซึ่งอาจนำไปสู่ความวิตกกังวล ตลอดจนซึมเศร้าได้มากยิ่งขึ้น
เนื่องจากสมองเสื่อมเป็นภาวะที่พบได้บ่อย ส่งผลกระทบต่ออารมณ์และพฤติกรรม ในการรักษาจึงไม่ได้จำกัดอยู่ที่สาขาวิชาประสาทวิทยาแต่เพียงแห่งเดียว ผู้ที่พบอาการผิดปกติตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น สามารถเข้ารับคำปรึกษาจากสาขาอายุรศาสตร์ปัจฉิมวัย และสาขาจิตเวชศาสตร์ได้ หรือเบื้องต้นอาจปรึกษากับแพทย์ที่ดูแลท่านก่อนได้เช่นกัน
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit