อีอีซี ต้นแบบพื้นที่ขับเคลื่อน BCG เป็นรูปธรรม ผลักดันลงทุนเศรษฐกิจสีเขียว วางฐานไทยก้าวสู่สังคมปลอดคาร์บอน
จากบทบาทที่สำคัญของไทย ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2022 ที่ผ่านมา ที่ประกาศผลักดันแนวคิด พัฒนาประเทศไปสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม ด้วยการส่งเสริมการใช้ BCG Economy Model ภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นกลไกที่มีศักยภาพสูงพัฒนาเศรษฐกิจที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจ BCG จะเป็นฐานเศรษฐกิจหลักของประเทศ ที่สามารถสร้างมูลค่ากว่า 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 24 ของจีดีพีประเทศไทยใน 5 ปีข้างหน้า และเกิดการจ้างงานกว่า 16.5 ล้านคน
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี จึงได้เร่งผลักดันการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มุ่งเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย BCG Model ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน คู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศได้อย่างทั่วถึง อยู่ระหว่างการดำเนินการร่างแผนปฏิบัติการส่งเสริมการลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่านการวิเคราะห์ศักยภาพอุตสาหกรรม โดยมียุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่
รวมทั้งปรับแผนการส่งเสริมการลงทุน เพื่อดึงดูดเทคโนโลยี BCG จากทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัด ที่ตั้งอยู่ใน อีอีซี ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มุ่งเน้นใน 3 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมฐานชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และ อุตสาหกรรมยานยนต์และโลจิสติกส์ โดยจะมุ่งเน้นการลงทุนในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อจัดการตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และยกระดับสภาพแวดล้อมการลงทุนในด้านเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะสนับสนุนให้พื้นที่อีอีซีเป็นพื้นที่ศักยภาพสำหรับการลงทุนในด้านดังกล่าว
นอกจากนี้ อีอีซี ยังสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด (Eco-design & Zero-Waste) ส่งเสริมการใช้ซ้ำ (Reuse, Refurbish, Sharing) และให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ (Recycle, Upcycle) ซึ่งต่างจากระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ที่เน้นการใช้ทรัพยากร การผลิต และผลกำไรเป็นสำคัญ
สำหรับ การผลักดันลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ BCG สะท้อนความสำเร็จได้จาก ในช่วงไตรมาสที่ 1-3 ของปี 2565 ที่ผ่านมา มีมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี สูงกว่า 4.35 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย
1. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 2. อุตสาหกรรมพลังงาน และ 3. อุตสาหกรรมการเกษตร และแปรรูปอาหาร โดยอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมพลังงานมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
พื้นที่อีอีซี จึงเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของเศรษฐกิจ BCG ด้วยปัจจัยด้านวัตถุดิบทางการเกษตรในพื้นที่ ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม และการขนส่ง จึงสามารถดึงดูดให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพได้อย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการชั้นนำของโลก ทั้งจากประเทศญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐ เข้ามาลงทุนผลิตพอลิเมอร์ที่เป็นมิตร
ต่อสิ่งแวดล้อม บริษัท พูแรค (ประเทศไทย) จำกัด ลงทุน 6,000 ล้านบาท ในการผลิตกรดแลคติกเพื่อเป็นวัตถุตั้งต้นในการผลิตพลาสติกชีวภาพ นับเป็นกำลังการผลิตสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชีย บริษัท คุราเร่ จีซี แอดวานซ์ แมททีเรียลส์ จำกัด ลงทุนรวม 15,000 ล้านบาท และยังมีการลงทุนในภาคพลังงานในพื้นที่อีอีซีมากขึ้น เช่น บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด ลงทุนโรงงานไฟฟ้าจากพลังงานขยะขนาด 8 เมกะวัตต์ บริษัท ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ลงทุนโรงงานไฟฟ้าจากกากอุตสาหกรรม เป็นต้น
ด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ อีอีซี ได้ร่วมกับประเทศญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ด้วยพื้นที่อีอีซีเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภาคเอกชนญี่ปุ่น และมีเครือข่ายภาคเอกชนญี่ปุ่นที่ต้องการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และเกิดโครงการความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนทั้ง 2 ประเทศ เช่น โครงการพัฒนาพลังงานจากไฮโดรเจนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม Smart Park และโครงการนำร่องยานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะในเมืองพัทยา เป็นต้น และภาคเอกชนญี่ปุ่นมีแผนต่อยอดลงทุนในอนาคต ซึ่งแนวทางต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ จะยกระดับประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำในด้านเศรษฐกิจ BCG และพลังงานสะอาดในภูมิภาคอาเซียนได้ในอนาคต
สำหรับ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุนเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียนใน อีอีซี ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการขยะครบวงจร จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC โครงการบริหารจัดการขยะครบวงจร จังหวัดชลบุรี และอยู่ระหว่างการทำ Marketing Sounding โดยมีแผนในการรวมการบริหารจัดการของขยะชุมชนทั้งจังหวัด โครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้า พลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) เป้าหมายสัดส่วนการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อระบบพลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าเป็น 70:30 ภายในปี 2573 ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการซื้อขายพลังงานสะอาด รองรับความต้องการของผู้ใช้งาน เพื่อลดสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์
รวมถึงการพัฒนาระบบซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อสร้างกลไกการให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแก่ผู้ลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยภาคเอกชนในพื้นที่อีอีซี มีบทบาทนำในการซื้อขายบนแพลตฟอร์มดังกล่าว
ภาพรวมโครงการต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ จะผลักดันให้ อีอีซี เดินหน้าไปได้ตามเป้าหมายระยะสั้น ปี 2564 - 2569 ที่ต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 10 หรือประมาณ 68 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ภายในปี 2569 และทำให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 40 ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยไปถึงเป้าหมายมีความเป็นกลางทางคาร์บอนในอนาคต รวมทั้งเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วยโมเดล BCG ได้อย่างยั่งยืน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit