บี.กริม เพาเวอร์ ประกาศยุทธศาสตร์ระยะยาว "GreenLeap - Global and Green" ตั้งเป้า 10,000 เมกะวัตต์ ในปี 2030 ชูจุดแข็งผู้นำลูกค้าอุตสาหกรรม-พลังงานทดแทน

25 Jan 2023

ยกระดับความร่วมมือทางธุรกิจระดับโลก สู่ผู้นำด้านพลังงานที่ยั่งยืนและปลอดภัย ตอกย้ำวิสัยทัศน์ มุ่งสร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี

บี.กริม เพาเวอร์ ประกาศยุทธศาสตร์ระยะยาว "GreenLeap - Global and Green" ตั้งเป้า 10,000 เมกะวัตต์ ในปี 2030 ชูจุดแข็งผู้นำลูกค้าอุตสาหกรรม-พลังงานทดแทน

บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บี.กริม เพาเวอร์ ผู้ผลิตไฟฟ้าอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศไทย ซึ่งดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 20 โครงการ และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนทั้งในประเทศและต่างประเทศอีก 35 โครงการ ประกาศเดินหน้ายุทธศาสตร์ GreenLeap ที่พลิกโฉมการดำเนินธุรกิจตาม แนวทางการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ใหม่ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่การเติบโตอย่างต่อเนื่อง ก้าวสู่การเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก และผู้นำด้านการพัฒนาด้านพลังงานที่ยั่งยืนและปลอดภัย โดยยังคงยึดมั่นบนพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี

ยุทธศาสตร์ GreenLeap ได้นำเอาวิสัยทัศน์ "สร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี" (Empowering the World Compassionately) และค่านิยมองค์กร ของ บี.กริม เพาเวอร์ มาประยุกต์เป็นแนวทางของ GreenLeap ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อมุ่งสู่ตลาดพลังงานที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั่วโลก เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป สู่เป้าหมายในการเป็นผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลก และบรรลุเป้าหมายก้าวสู่องค์กรที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593)

ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บี.กริม เพาเวอร์ พร้อมเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ GreenLeap ควบคู่ไปกับจุดแข็ง 5 ประการ ได้แก่ 1.ความสามารถในการสร้างโอกาสทางธุรกิจ 2.การเป็นพันธมิตรที่ดีและได้รับความไว้วางใจ 3.ความสามารถในการพัฒนาและบริหารโครงการ 4.การจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อรองรับการเติบโตด้วยต้นทุนที่ เหมาะสม และ 5.ความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย

"เราภูมิใจที่ได้สนับสนุนลูกค้าภาคอุตสาหกรรมในการเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตของพลังงานคาร์บอนต่ำ ผ่านยุทธศาสตร์ GreenLeap จากนี้ บี.กริม เพาเวอร์ และลูกค้าจะมุ่งสู่การใช้พลังงานที่สะอาดและการ สร้างผลเชิงบวกให้กับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยการสนับสนุนและขยายโครงการพลังงานหมุนเวียน เป้าหมายของเราคือการมุ่งสร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี โดยการจัดหาพลังงานที่สะอาดยั่งยืน มีเสถียรภาพในระดับสูง และราคาที่เข้าถึงได้ ในขณะเดียวกันยังคงรักษาอัตรากำไรของเราอย่างมั่นคงควบคู่ไปกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม"

ทั้งนี้ บี.กริม ตระหนักถึงบทบาทสำคัญที่มีในภาคพลังงานเพื่อให้ลูกค้าของ บี.กริม เพาเวอร์ ได้รับพลังงานที่สะอาดยั่งยืน เสถียรภาพในระดับสูง และราคาที่เข้าถึงได้ โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มกำลังการผลิตจาก 3,379 เมกะวัตต์ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 เป็น 4,700 เมกะวัตต์ ในปี พ.ศ.2567 และเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 เมกะวัตต์ ในปี ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573) ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ GreenLeap บี.กริม เพาเวอร์ ยังมองหาการยกระดับความร่วมมือทางธุรกิจระดับโลกกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขยายธุรกิจสู่การจัดหาวัตถุดิบ (Upstream value chain) เพื่อให้แน่ใจว่ามีการจัดหาเชื้อเพลิงและผลักดันเทคโนโลยีของเชื้อเพลิงสังเคราะห์

"เรามุ่งมั่นที่จะมีบทบาทเป็นผู้นำในภาคพลังงานที่เราให้บริการทั้งในปัจจุบันและอนาคต และมั่นใจว่ายุทธศาสตร์ GreenLeap เป็นกุญแจสำคัญสำหรับความสำเร็จในระยะยาว"

ยุทธศาสตร์ GreenLeap - Global and Green ประกอบด้วยแผนเชิงกลยุทธ์ 3 ประการ

  1. Industrial Solutions: มีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดหาพลังงานให้กับภาคอุตสาหกรรมภายใต้อัตราค่าไฟฟ้าที่หลากหลาย บี.กริม เพาเวอร์ จะใช้โครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม แบตเตอรี่ รวมถึงการเตรียมพร้อมในการรองรับยานยนต์ไฟฟ้า และเครื่องมือดิจิทัลขั้นสูง เช่น ระบบที่สามารถรองรับการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทางเลือกที่สะอาดที่กระจายอยู่ทั่วไป (distributed energy source) เพื่อรักษาความสมดุลของโครงข่ายไฟฟ้า บี.กริม เพาเวอร์ รวมถึงสนับสนุนลูกค้าด้านการชดเชยคาร์บอนและการเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน ยุทธศาสตร์นี้อาศัยความรู้ของ บี.กริม เพาเวอร์ เพื่อบูรณาการพลังงานหมุนเวียนและการจัดเก็บพลังงาน เพื่อที่จะให้บริการด้านพลังงานแบบครบวงจรแก่ลูกค้า
  2. Independent Power Producer: มีจุดมุ่งหมายเพื่อขยายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนของ บี.กริม เพาเวอร์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเตรียมพร้อมพอร์ตในประเทศสู่การลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
  • Flexible Power: มีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของพอร์ตโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม การบริหารจัดการระบบสำรองไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม เพื่อสร้างสมดุลในการรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน และเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตเมื่อโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมจะมีบทบาทสำคัญในการปรับสมดุลของโครงข่ายไฟฟ้า รวมถึงการใช้เชื้อเพลิงทางเลือก และการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานระยะกลางและระยะยาวต่อไป ทั้งนี้ กุญแจสำคัญ คือ ความเชี่ยวชาญของ บี.กริม เพาเวอร์ ในการดำเนินงานและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมและความมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี
  • Renewable Power: เป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลกและโอกาสที่ยิ่งใหญ่ บี.กริม เพาเวอร์ จะใช้ประสบการณ์ในการดำเนินโครงการพลังงานหมุนเวียนทั้งใน ไทยและต่างประเทศ ความร่วมมือระดับโลกกับพันธมิตร พันธสัญญาต่อชุมชนและสังคม และพัฒนาเครื่องมือซอฟต์แวร์ขั้นสูงที่จะเป็นกรรมสิทธิ์ของเรา (Proprietary Software) สำหรับบริหารจัดการโครงการพลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้ บี.กริม เพาเวอร์ มุ่งเน้นพื้นที่ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและ/หรือเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของระบบเศรษฐกิจทั้งในภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคอื่นๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงและยกระดับการลงทุน
  1. Sustainable Fuels: ยุทธศาสตร์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้แน่ใจว่าการจัดหาก๊าซผ่านสัญญาการจัดหาระยะยาวโดยใช้ใบอนุญาตผู้จัดหาและค้าส่งของ บี.กริม แอลเอ็นจี โดยจะเสริมสร้างความเชี่ยวชาญด้านเชื้อเพลิงสังเคราะห์สำหรับอุตสาหกรรมและเคมีภัณฑ์ รวมถึงเชื้อเพลิงสังเคราะห์สำหรับภาคส่วนที่ยากต่อการลดทอน เช่น การบินและการเดินเรือ โดยยุทธศาสตร์นี้อาศัยจุดแข็งด้านความเชี่ยวชาญของ บี.กริม เพาเวอร์ ในการจัดหาก๊าซธรรมชาติ และความร่วมมือที่ยาวนานและแข็งแกร่งกับคู่ค้าและผู้ผลิตอุปกรณ์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง

ยุทธศาสตร์ GreenLeap ตั้งเป้าหมาย EBITDA ประจำปีที่มากกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท โดยมีอัตรากำไร EBITDA ที่ 35% ภายในปี 2573 โดยยังคงรักษาโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ เรายึดมั่นในหลัก ธรรมาภิบาล ความยั่งยืน และการจัดการห่วงโซ่คุณค่าอย่างรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

"เป้าหมายของ บี.กริม เพาเวอร์ คือการบรรลุอัตราการเติบโตของ EBITDA ต่อปีแบบทบต้นในระดับ 10% ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามแนวทางควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศา ของประเทศในกลุ่ม Non-OECD (2C Non-OECD) ที่กำหนดโดย International Energy Agency (IEA) ด้วยสัดส่วนโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่สูงกว่า 50% ภายในปี 2573 และเรามีความภูมิใจที่ได้มีส่วนหนึ่งในความรับผิดชอบและการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวทิ้งท้าย

HTML::image(