สกสว.เตรียมเปิดระบบวิเคราะห์ข้อมูล-แสดงผลงานวิจัยพ.ค.นี้ พร้อมประเมินมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม

06 Feb 2023

นายกานต์ ตระกูลฮุน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 1/2566 วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมีวาระสำคัญคือ การนำเสนอโครงการพัฒนาระบบการวิเคราะห์ข้อมูลและการแสดงผล (Dashboard) การติดตามและประเมินผลการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระยะที่ 1 ซึ่งมี รศ. ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (สวข.) เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการฯ ซึ่งคณะวิจัยได้แสดงภาพรวมข้อมูลการติดตามและประเมินผลด้าน ววน. ในด้านการประเมินผลงานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยบริหารและจัดการทุน ซึ่งได้ให้ข้อเสนอแนะต่อผู้พัฒนาแดชบอร์ดเพื่อให้ได้ระบบที่เหมาะสมต่อไป

สกสว.เตรียมเปิดระบบวิเคราะห์ข้อมูล-แสดงผลงานวิจัยพ.ค.นี้ พร้อมประเมินมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม

ปัจจุบันคณะผู้พัฒนาระบบฯได้จัดทำแดชบอร์ด สำคัญ 3 ระบบแล้วเสร็จ  คือ แดชบอร์ดผลการดำเนินงานของหน่วยงาน ววน. แดชบอร์ดงบประมาณที่จัดสรรภาพรวม และแดชบอร์ดผลลัพธ์ (outcome) "สกสว.พยายามทำแดชบอร์ดของข้อมูล ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งงบประมาณที่จัดสรรแก่หน่วยงาน การใช้จ่ายงบประมาณ การปิดโครงการ และการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ เพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูล โดยสามารถเลือกแสดงผลได้ว่าอยากเห็นภาพความสัมพันธ์ของข้อมูลในมิติใดบ้าง และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลข้ามปีงบประมาณได้ ซึ่งจะมีประโยชน์สำหรับการประเมินหน่วยงานด้วย โดยคาดว่าจะใช้ได้จริงในเดือนพฤษภาคม 2566" รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าว

ขณะที่การนำเสนอแนวทางการประเมินมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจฐานนวัตกรรมด้วยกรอบการประเมินเครื่องมือนโยบายเชิงผสม โดย นายภัทรพล สาส์นธรรมบท และ ดร.ชนิกา ไหล่แท้ จากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อทบทวนสถานะของการนำเครื่องมือนโยบายด้าน ววน. ในการส่งเสริมผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม วิเคราะห์การหนุนเสริมและความขัดแย้งของเครื่องมือนโยบาย และวิเคราะห์ผลลัพธ์ของการนำนโยบายมาใช้และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการพัฒนามาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมให้มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

นักวิจัยระบุว่า การประเมินเชิงผสมจะช่วยวิเคราะห์คอขวดหรือจุดติดขัด ประเมินจุดเชื่อมต่อของนโยบายที่ผสมผสานกันและมิติของนโยบายที่มีระดับแตกต่างกันในพื้นที่ทางนโยบาย และจัดลำดับเครื่องมือนโยบายตามขั้นบันไดของการพัฒนาศักยภาพที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการนวัตกรรม อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาพบว่ายังมีช่องว่าง เช่น ระบบโครงสร้างพื้นฐานไม่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม การให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาต้นแบบการทดสอบและการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์จากการวิจัยและพัฒนายังไม่เพียงพอ ขาดเครือข่ายความร่วมมือและนโยบายเพื่อพัฒนานวัตกรรมในเชิงระบบ การค้ำประกันให้กับสตาร์ทอัพยังมีข้อจำกัด เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อสำรวจข้อมูลมาตรการเพิ่มเติมในส่วนของเอสเอ็มอีแล้วจะจัดทำโมเดลและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อดำเนินงานร่วมกับ สกสว.และธนาคารโลกในการดำเนินงานระยะต่อไป โดย สอวช.ร่วมเป็นคณะทำงาน และนำเสนอผลการศึกษาขึ้นต้นเพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาเพื่อพัฒนากรอบการประเมินนนโยบายด้าน ววน. ด้านการส่งเสริมผู้ประกอการฐานนวัตกรรมของประเทศต่อไป

ด้าน รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. ระบุว่าควรแบ่งกลุ่มหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม รวมถึงการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและมาตรการที่ใช้อยู่ ขณะที่กรรมการเห็นว่าพลังในการสร้างนวัตกรรมในกลุ่มผู้ประกอบการยังมีอยู่น้อย ควรจะต้องเชื่อมกับกลุ่มคนที่สร้างองค์ความรู้ใหม่ รวมถึงการวิเคราะห์กฎระเบียบและวิธีปฏิบัติของภาครัฐที่เป็นตัวขัดขวางและเป็นโจทย์ ตลอดจนวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพในเชิงลึกที่จำเป็นสำหรับประเทศไทย เพื่อนำมาทบทวน ปรับปรุง และพัฒนานโยบายและมาตรการที่เหมาะสมต่อไป

HTML::image(