สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เดินหน้าผลักดันไทยสู่ประเทศแห่งนวัตกรรม ผ่านกิจกรรม "ปีแห่งนวัตกรรมไทย - ฝรั่งเศส" รุกความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และผู้ประกอบการ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจ สังคมของไทยและฝรั่งเศสให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การกำหนดแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีเป้าหมายสำคัญคือ การเปิดมุมมองให้ฝรั่งเศสได้เห็นความก้าวหน้าของระบบนิเวศนวัตกรรมไทย การดึงองค์ความรู้หรือความช่วยเหลืออื่นสู่ไทย นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมไฮไลต์ที่จะเกิดขึ้นตลอดปี เช่น การสนับสนุนการเงินและการลงทุนแก่สตาร์ทอัพไทยและฝรั่งเศสในธุรกิจด้านเทคโนโลยีเชิงลึกในระยะเวลา 5 ปี การจัดงาน Franco - Thai Innovation and Startup Weeks ณ กรุงปารีส เพื่อนำผู้แทนระดับสูงจากภาครัฐ บริษัทเอกชน นักลงทุนและผู้ประกอบการไทยที่สนใจขยายตลาดในฝรั่งเศสร่วมเจรจาหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ของฝรั่งเศสในสาขาอวกาศ เกษตร อาหาร และเทคโนโลยีระดับสูง การผลักดันโครงการ NIA Deep Tech Incubation Program@EEC เพื่อรองรับการลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างชาติ
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2023 สาธารณรัฐฝรั่งเศสและประเทศไทยได้กำหนดให้เป็น "ปีแห่งนวัตกรรมไทย - ฝรั่งเศส" ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ กลไกที่ทันสมัยสำหรับยกระดับเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการและกลุ่มบุคคลที่มีความสามารถของทั้ง 2 ประเทศให้เติบโตได้ด้วยการทำงานแบบบูรณาการ พร้อมทั้งนำนวัตกรรมที่สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงมาใช้ได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ NIA ถือเป็นหน่วยงานหลักในการเชื่อมความสัมพันธ์ด้านนวัตกรรมของทั้ง 2 ประเทศ ผ่านกรอบแนวคิด "การทูตนวัตกรรม" หรือ Innovation Diplomacy โดยอาศัยพื้นฐานความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับหน่วยงานต่างประเทศที่มีศักยภาพทางนวัตกรรมทั่วโลกเพื่อยกระดับความเป็นสากลของระบบนวัตกรรมแห่งชาติของไทย ตลอดจนผลักดันการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยสู่การเป็น "ประเทศแห่งนวัตกรรม" โดยมุ่งเป้าหมายใน 3 ด้าน คือ Government-to-Government (G2G) การสร้างเครือข่ายนานาชาติในกลุ่มองค์กรรัฐและองค์กรนานาชาติ Government-to-Investor (G2I) หรือการเชื่อมโยงกับนักลงทุนที่สนใจการทำธุรกิจนวัตกรรมกับภาคเอกชนไทย และ Government-to-Startup (G2S) ซึ่งเป็นการเพิ่มพูนศักยภาพในการแข่งขันระดับสากลให้แก่ภาคธุรกิจสตาร์ทอัพ
"การกำหนดปีแห่งนวัตกรรมไทย - ฝรั่งเศส เป็นแผนยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญ เพราะนอกจากประเทศไทยจะได้มีโอกาสเรียนรู้ต้นแบบจากประเทศชั้นนำแล้ว ยังช่วยเปิดมุมมองให้ฝรั่งเศสเห็นความก้าวหน้าของระบบนิเวศนวัตกรรมไทย เช่น พื้นที่ยุทธศาสตร์ที่เอื้อต่อการลงทุน กลุ่มสตาร์ทอัพที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมที่สามารถต่อยอดได้ทั้งการร่วมทุน การก้าวสู่ตลาดต่างประเทศ นโยบายที่เอื้อต่อการสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมของฝรั่งเศสและต่างชาติ เช่น นวัตกรรมการบินและอวกาศ นวัตกรรมอาหารและการเกษตร นวัตกรรม ศิลปะเชิงสร้างสรรค์ สอดรับกับแผนสานสัมพันธ์ไทย - ฝรั่งเศสที่ในปีที่ผ่านมาซึ่งได้ร่วมลงนามพัฒนา 5 ประเด็น ได้แก่ การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ ประชาชน และประเด็นระดับโลก ซึ่งทั้งสองประเทศมีเป้าหมายยกระดับสถานะความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันภายในปี ค.ศ. 2024"
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกิจกรรมเชิงรุกด้านนวัตกรรมในปี 2023 NIA และ Bpifrance ได้ร่วมลงนามหนังสือแสดงเจตจำนง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเงินและการลงทุนแก่สตาร์ทอัพและผู้ประกอบการทั้งในไทยและฝรั่งเศสในการพัฒนาธุรกิจด้านเทคโนโลยีเชิงลึกในระยะเวลา 5 ปี (2022-2027) ครอบคลุม 3 ประเด็น ได้แก่ การแลกเปลี่ยนข้อมูลการเงินและการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรม การพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านการลงทุนร่วมกัน และการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงหรือดีพเทคซึ่งเป็นกลุ่มนวัตกรรมที่มีโอกาสในการสร้างมูลค่าสูงสำหรับประเทศไทย อีกทั้งยังดำเนินการวางแผนและร่วมร่างข้อเสนอโครงการการจัดงานปีแห่งนวัตกรรม ปี 2566 โดยมีกิจกรรมไฮไลต์ คือ งาน Franco - Thai Innovation and Startup Weeks ณ กรุงปารีส ระหว่างวันที่ 24-28 เมษายน 2566 โดยจะเชิญผู้นำระดับสูงจากภาครัฐ ภาคเอกชน นักลงทุนและผู้ประกอบการไทยที่สนใจขยายตลาดในฝรั่งเศสเดินทางร่วมเจรจาหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ของฝรั่งเศส การขยายความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตร และจับคู่ทางธุรกิจ (B2B matching) ในสาขาอวกาศ อุตสาหกรรมอาหาร และเทคโนโลยีระดับสูง
งาน Startup x Innovation Thailand Expo 2023 (SITE 2023) ระหว่างวันที่ 22 -24 มิถุนายน 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่มุ่งเป้าเชิญผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นจากฝรั่งเศสร่วมแบ่งปันประสบการณ์ดำเนินธุรกิจและร่วมเจรจาหารือกับนักลงทุนไทย เพื่อต่อยอดสู่ความร่วมมือระดับทวิภาคีในการผลักดันธุรกิจวิสาหกิจเริ่มต้นระหว่างสองประเทศให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในวันที่ 26 มกราคม 2023 ที่ผ่านมายังได้จัดพิธีเปิดปีแห่งนวัตกรรมไทย - ฝรั่งเศส ณ สวนเบญจกิติ กรุงเทพฯ เพื่อให้โลกรู้ว่าฝรั่งเศสและไทยมีเจตนารมณ์อย่างแรงกล้าที่จะขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม โดยในงานมีไฮไลต์ เช่น การฉายภาพยนตร์ชุด 16 Sunrises การแสดงคอนเสิร์ตโดยศิลปินลูกครึ่งไทย - ฝรั่งเศส การแสดงโดรนชุดพิเศษภายใต้แนวคิดมิตรภาพไทย ฝรั่งเศส และอวกาศ การเปิดประสบการณ์โลกเสมือนจริงผ่านหนัง Being and Astronaut โดย NIA ยังได้ออกแบบมาสคอต 2 ตัวผ่านสัญลักษณ์ของทั้ง 2 ประเทศนั่นคือ ช้างและไก่ ได้แก่ "น้องกะปิ" ช้างไทยที่มีความสัมพันธ์และผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยมาช้านาน เนื่องจากในอดีตช้างเป็นทั้งผู้ปกป้องเอกราชแห่งชาติไทยในเวลาสู้รบ เป็นผู้สร้างความสัมพันธ์ไมตรีระหว่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นพาหนะในการคมนาคม และ "น้องปิแอร์" ไก่ตัวผู้ที่เป็นสัญลักษณ์และความผูกพันของชาวฝรั่งเศสมาตั้งแต่ก่อนคริสตศักราช ทั้งในด้านศิลปะและความเชื่อ ซึ่งสัญลักษณ์นี้จะถูกนำไปใช้ในงานด้านนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นตลอดทั้งปี
"อีกประเด็นที่อยู่ในความสนใจของฝรั่งเศสคือการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในพื้นที่ EEC ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานของ NIA ภายใต้โครงการพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ NIA Deep Tech Incubation Program@EEC โดยโครงการดังกล่าวมุ่งสร้างโอกาสให้สตาร์ทอัพได้พัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการออกสู่ตลาด พร้อมผลักดันให้ให้สตาร์ทอัพเข้าใจความต้องการเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม และร่วมทำงานจริงกับบริษัทพันธมิตรชั้นนำ โดยมุ่งเน้นเทคโนโลยีเชิงลึกกลุ่ม ARI-Tech ได้แก่ 1. Artificial Intelligent (AI) 2.Robotics 3. Immersive IoT ซึ่งทั้ง 3 เทคโนโลยี สามารถตอบสนองความต้องการของ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และแนวโน้มการลงทุนของฝรั่งเศส หรือประเทศชั้นนำอื่นในอนาคต" ดร.พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้าย