SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2566 ขยายตัวแข็งแกร่งขึ้น แต่ยังต่ำกว่าศักยภาพการเติบโตในช่วงก่อนการระบาด COVID-19 โดยมีอัตราการเติบโตที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยงรายประเทศ โดยประเมินว่าในปีนี้กัมพูชาจะขยายตัวได้ 5.5%, สปป.ลาวและเมียนมา 3.0% และเวียดนาม 6.2%
เศรษฐกิจ CLMV ในปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวจากอุปสงค์ภายในประเทศและการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศมีปัจจัยบวกจากตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง เห็นได้จากการจ้างงานในเวียดนามในไตรมาส 4 ปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดตั้งแต่เกิดการระบาด COVID-19 ขณะเดียวกัน ภาคบริการจะได้อานิสงส์จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีความสำคัญต่อ CLMV คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30-35% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 2562 โดยจีนอนุมัติให้กรุ๊ปทัวร์สามารถเดินทางมากัมพูชา และสปป.ลาวได้ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ และคาดว่าจะเพิ่มรายชื่อประเทศที่สามารถเดินทางมาได้เร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้กัมพูชาและเวียดนามจะได้รับผลประโยชน์จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวมากที่สุด เนื่องจากพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวสูงอยู่ที่ 18.2% และ 9.8% ต่อ GDP ตามลำดับ
ในทางกลับกัน อุปสงค์จากต่างประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่ำ ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจ CLMV ผ่านช่องทางการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยเวียดนามจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับห่วงโซ่อุปทานโลกสูงมาก และเป็นปัจจัยที่ทำให้ SCB EIC ประเมินว่า เวียดนามเป็นประเทศในเดียวใน CLMV ที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวในปีนี้หลังขยายตัวสูงถึง 8% ในปีก่อน อย่างไรก็ตาม การเปิดประเทศของจีนอาจช่วยพยุงให้การส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไม่ชะลอตัวมากนัก แต่ต้องจับตาความเสี่ยงหากอุปสงค์จากต่างประเทศซบเซาอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงอุปสงค์ภายในประเทศ ภาคการผลิต และการจ้างงาน
นโยบายการเงินใน CLMV มีแนวโน้มตึงตัวขึ้นเล็กน้อยในปี 2566 แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัว SCB EIC ประเมินอัตราเงินเฟ้อในเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มชะลอตัวในปีนี้ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ลดลง แต่จะไม่ลดลงเร็วมากเนื่องจากราคาจะยังคงอยู่ในระดับสูง กอปรค่าเงินที่ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าในบางประเทศ เช่น สปป.ลาวและเมียนมา จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้านำเข้าอยู่ในระดับสูงต่อไป ธนาคารกลางกลุ่มประเทศ CLMV มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเล็กน้อยในปีนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินและควบคุมอัตราเงินเฟ้อ แต่จะสามารถชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจาก 1) ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะลดแรงกดดันค่าเงิน CLMV อ่อนค่า 2) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความเปราะบาง และ 3) ธุรกิจในบางประเทศ เช่น เวียดนาม เริ่มเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องหลังไม่สามารถกู้ยืมเพื่อชำระหนี้เก่าได้ (Rollover) ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ หากภาวะการเงินยังคงตึงตัว
สปป.ลาวและเมียนมามีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น ๆ จากปัจจัยความเสี่ยงเฉพาะประเทศ สปป.ลาวมีเสถียรภาพค่อนข้างเปราะบางในด้านราคา ด้านการคลัง และด้านต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพในระยะต่อไป โดยสปป.ลาวเผชิญเงินเฟ้อสูง ซึ่งกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ส่วนหนึ่งจากเงินกีบอ่อนค่ารุนแรงและฐานะทางการคลังที่ไม่แข็งแรงนัก สะท้อนจากภาระการชำระหนี้สาธารณะสกุลเงินต่างประเทศของภาครัฐที่สูง เฉลี่ยประมาณ 1.2-1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในช่วง 4 ปีข้างหน้า ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ เดือนกันยายน 2565 สำหรับเมียนมา สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจในระยะปานกลางและกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศซบเซาต่อเนื่อง แม้เมียนมาได้วางแผนที่จะจัดการเลือกตั้งในปีนี้ SCB EIC ประเมินว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองจะไม่ปรับลดลงมากนัก ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันให้เศรษฐกิจเมียนมาขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพต่อไป
การลงทุนจากไทยไป CLMV ซบเซาในช่วงปี 2565 แต่คาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับต่ำในปีนี้ ปัจจัยกดดันในช่วงที่ผ่านมาได้แก่ เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูง เงินเฟ้อที่สูงขึ้นซึ่งเพิ่มต้นทุนต่อธุรกิจ และความเสี่ยงรายประเทศ เช่น สถานการณ์การเมืองในเมียนมา ซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน นอกจากนี้ การลงทุนในต่างประเทศจำเป็นต้องใช้เวลาการเตรียมความพร้อมค่อนข้างนาน และสถานการณ์ COVID-19 ได้ส่งผลให้โครงการต่าง ๆ ถูกเลื่อนออกไปในปี 2566 ปัจจัยกดดันดังกล่าวจะยังคงมีอยู่ แต่เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้นและอัตราเงินเฟ้อที่ทยอยลดลง ตลอดจนข้อจำกัดการเดินทางภายในภูมิภาคที่หมดไปจะกระตุ้นให้การลงทุนสามารถฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ในระยะปานกลาง SCB EIC มองว่า CLMV ยังเป็นกลุ่มประเทศที่น่าสนใจต่อนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากมีค่าแรงค่อนข้างต่ำ ตลาดในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง และมีสนธิสัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ กับประเทศคู่ค้าสำคัญทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคี นอกจากนี้ ยังสามารถเป็นฐานการผลิตไปตลาดใหญ่ เช่น จีนและอินเดียได้อีกด้วย
ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์เป็นประเด็นที่ต้องจับตาในระยะต่อไป โดยจะมีผลกระทบทั้งด้านบวกและลบต่อ CLMV ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ที่จะมีผลกระทบโดยตรงต่อ CLMV มากที่สุด ได้แก่ความตึงเครียดระหว่าง จีน สหรัฐฯ และไต้หวัน ซึ่งอาจลุกลามมาถึงแถบทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นช่องทางการค้าสำคัญในภูมิภาคและอาจส่งผลให้เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานขาดตอนในภาคการผลิตได้ นอกจากนี้ ชาติมหาอำนาจมีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการกีดกันทางการค้ามากขึ้นเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมของตน ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงต่อผู้ส่งออกใน CLMV ที่จะเผชิญต้นทุนการทำธุรกิจที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดี ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ก็อาจส่งผลบวกต่อ CLMV เช่นกัน ผ่านแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนสู่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ซึ่ง CLMV ได้เปรียบทั้งด้านที่ตั้งที่ใกล้กับจีน รวมถึงค่าแรงต่ำและข้อตกลงการค้าเสรีต่าง ๆ ขณะเดียวกัน ชาติมหาอำนาจอาจเร่งการแข่งขันกันเพื่อขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้มากขึ้น เช่น โครงการ Belt and Road Initiative ของจีน หรือ Indo-Pacific Economic Framework ของสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ CLMV ในระยะต่อไปผ่านความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพของแต่ละประเทศ
.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit