ฟิทช์จัดอันดับเครดิตภายในประเทศ บมจ. โกลบอล กรีน เคมิคอล ครั้งแรกที่ 'A-(tha)'; แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

14 Feb 2023

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของ บริษัท โกลบอล กรีน เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ที่ 'A-(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

อันดับเครดิต 'A-(tha)' ได้มีการพิจารณารวมถึงการปรับเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นสองอันดับ จากสถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัท (Standalone Credit Profile) ที่ 'bbb(tha)' ซึ่งสะท้อนถึงแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนของบริษัทแม่ซึ่งได้แก่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AA(tha)', แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ, อันดับเครดิตโดยลำพังที่ 'a+(tha)') ซึ่งมีสถานะทางเครดิตที่แข็งแกร่งกว่า และมีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 72 ใน GGC ฟิทช์มองว่า PTTGC มีแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนแก่ GGC ในด้านความสำคัญทางกลยุทธ์ (Strategic incentive) และความสำคัญทางด้านการดำเนินงาน (Operational incentive) ในระดับปานกลาง และด้านกฎหมาย (Legal incentive) ในระดับต่ำ

อันดับเครดิตโดยลำพังของ GGC สะท้อนถึงการที่บริษัทฯ มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และขนาดของธุรกิจที่จำกัด และความผันผวนของความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตได้รับการชดเชยจากสถานะของบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) และผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมี (Oleochemicals) รายใหญ่ในประเทศไทย และความสามารถในการแข่งขันจากต้นทุนการผลิตที่ต่ำ โดยมีบริษัทในกลุ่ม ปตท. เป็นลูกค้ารายหลัก ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ มีความแน่นอน ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จากกลยุทธ์ของบริษัทฯ ในการขยายธุรกิจ

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ความสัมพันธ์กับบริษัทแม่: ฟิทช์พิจารณาว่าแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนโดยรวมของ PTTGC ต่อ GGC อยู่ในระดับปานกลาง ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Criteria) GGC เป็นบริษัทหลักสำหรับธุรกิจ Green Chemical และเป็นหนึ่งในตัวจักรสำคัญในการสนับสนุนเป้าหมายของ PTTGC และกลุ่มปตท. ในการลดการปล่อยคาร์บอน และการดำเนินธุรกิจที่หยั่งยืน ถึงแม้ว่าสัดส่วนกำไรของ GGC ต่อ PTTGC จะอยู่ในระดับต่ำ PTTGC มีการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ GGC ในช่วงที่บริษัทฯ มีปัญหาทางด้านการเงินในปี 2554 โดยมีการแปลงหนี้เป็นทุน รวมถึงในปัจจุบันที่มีการให้วงเงินกู้หมุนเวียนจำนวน 1 พันล้านบาท เพื่อใช้ในการบริหารจัดการสภาพคล่อง

ฟิทช์เชื่อว่า PTTGC จะยังคงให้การสนับสนุน หากมีความจำเป็น นอกจากนี้ แรงจูงใจในการให้การสนับสนุน ยังได้พิจารณารวมถึงการที่ PTTGC มีอำนาจควบคุม ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยผู้บริหารของ GGC ได้รับการแต่งตั้งจาก PTTGC ปัจจัยดังกล่าวทำให้ฟิทช์พิจารณาว่าแรงจูงใจในการให้การสนับสนุน ในด้านความสำคัญทางกลยุทธ์ และความสำคัญทางด้านการดำเนินงาน อยู่ในระดับปานกลาง ส่วนแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนในด้านกฏหมายอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากไม่มีการค้ำประกันหนี้จาก PTTGC หรือเงื่อนไขการผิดนัดไขว้ (Cross-default clause) ในสัญญาเงินกู้ของ PTTGC

การกระจายตัวของผลิตภัณฑ์ที่จำกัด; ความผันผวนของอุปสงค์: สถานะทางเครดิตของ GGC ได้ถูกลดทอนจากการที่บริษัทฯ มีการกระจายตัวของผลิตภัณฑ์ที่จำกัด และอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีความผันผวน ผลิตภัณฑ์ของ GGC ประกอบด้วยเชื้อเพลิงชีวภาพ และ แฟตตี้แอลกอฮอล์ และผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง ทำให้บริษัทฯ มีการกระจายตัวผลิตภัณฑ์ที่จำกัด และมีขนาดธุรกิจเล็กกว่าบริษัทอื่นๆ ที่อยู่ในธุรกิจเคมี และภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีต้นทุนวัตถุดิบซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ น้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันเมล็ดในปาล์ม ที่มีความผันผวน ถึงแม้ว่าจะได้รับการการชดเชยจากราคาขายที่คำนวณจากต้นทุนบวกกำไร

ผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศ: GGC ซึ่งเป็นหนึ่งในสองผู้ผลิตเมทิลเอสเทอร์ (Methyl ester) หรือไบโอดีเซล รายใหญ่ในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามปริมาณการขายที่ประมาณร้อยละ 25 ซึ่งสูงกว่าส่วนแบ่งตามกำลังการผลิตซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 18 GGC เป็นผู้ผลิตแฟตตี้แอลกอฮอล์ (Fatty-alcohol) รายเดียวในประเทศไทย และผลิตแฟตตี้แอลกอฮอล์ อีทอกซีเลท (Fatty alcohol ethoxylate) ซึ่งใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตผลิตภัณฑ์ของใช้ภายในบ้าน และของใช้ส่วนตัว (Home and personal care products) ผ่านบริษัท ไทย ทอกซีเลท จำกัด หรือ TEX ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ GGC ถือหุ้นร้อยละ 50 ร่วมกับ บริษัท บีเอเอสเอฟ (ไทย) จำกัด นอกจากนี้ GGC ยังมีบริษัทร่วมทุนที่ถือหุ้นร้อยละ 50 ซึ่งได้เริ่มการผลิตเอทานอล (Ethanol) ไปเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเอทานอลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งตามกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 9

ความต้องการที่ค่อนข้างแน่นอน: GGC มีการขายไบโอดีเซลประมาณ 2 ใน 3 ของปริมาณที่ผลิตได้ ให้แก่บริษัทลูกของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิตสากลสากลอยู่ที่ BBB+, อันดับเครดิตภายในประเทศอยู่ที่ AAA(tha), แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน และโรงกลั่นรวมถึง PTTGC ซึ่งทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ของ GGC ค่อนข้างแน่นอน เนื่องจาก กลุ่ม ปตท. เป็นผู้ให้บริการค้าปลีกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ประมาณร้อยละ 40 เอทานอล ซึ่งผลิตโดยบริษัทร่วม ซึ่งได้แก่ บริษัท จีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเทรียล จำกัด หรือ GKBI ส่วนใหญ่จะขายให้กับบริษัทในกลุ่ม ปตท. เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ GGC มีการขายแฟตตี้แอลกอฮอล์ที่บริษัทฯ ผลิตได้ ประมาณร้อยละ 30 ให้แก่ TEX เพื่อผลิตแฟตตี้แอลกอฮอล์ อีทอกซีเลท

อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ไบโอดีเซลขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐฯ ในการสนับสนุนการใช้ไบโอดีเซล และความต้องการใช้น้ำมันดีเซล รัฐบาลมีการปรับการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลตามปริมาณและราคาของน้ำมันปาล์มดิบ แม้ว่าแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก จะสนับสนุนให้มีการใช้ไบโอดีเซลมากขึ้น

กำไรของธุรกิจไบโอดีเซลค่อนข้างมีเสถียรภาพ: ราคาขายไบโอดีเซล มีการอ้างอิงราคาที่ประกาศโดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ซึ่งคำนวณจากต้นทุนการผลิตบวกกำไร (Cost-plus formula) ซึ่งทำให้กำไรของ GGC ค่อนข้างมีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตามอัตราส่วนกำไรขั้นต้นต่อรายได้ (Gross profit margin) และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA margin) ของ GGC อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ของผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซล ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 70-80 ของรายได้ของ GGC อยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าจะได้รับการชดเชยบางส่วนจากผลิตภัณฑ์ที่มีอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ที่สูงกว่าเช่น ผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมี ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 20-30 ของรายได้ ธุรกิจไบโอดีเซลของ GGC มี EBITDA margin (ไม่รวมกำไร/ขาดทุนจากสต๊อกสินค้า) เฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่ประมาณร้อยละ 4

การเพิ่มผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น: GGC มีแผนในการเพิ่มการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม (High-value-added products) และขยายไปยังธุรกิจไบโอเคมีใหม่ๆ เพื่อลดผลกระทบจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มลดลงในระยะยาว บริษัทฯ มีแผนที่จะผลิตผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมีที่มีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งใช้ในการผลิตสารหล่อลื่น ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว และเพิ่มกำลังการผลิตโอลีโอเคมีผ่าน TEX นอกจากนี้ GGC ยังมีแผนการลงทุนในธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพขั้นสูง เช่น น้ำมันอากาศยานชีวภาพ (Biojet fuel) ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้บริษัทฯ มีความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น และลดความผันผวนของกำไร ซึ่งฟิทช์ได้พิจารณารวมในอันดับเครดิตของ GGC แล้ว

อัตราส่วนหนี้สินที่เพิ่มขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับปานกลาง: ฟิทช์คาดว่า อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA net leverage) จะปรับตัวสูงขึ้นจากแผนการลงทุนใหม่ในธุรกิจไบโอเคมี และการลงทุนประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม และผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมี EBITDA net leverage ของ GGC ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 0.7 เท่า ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 (โดยรวมงบการเงินของ TEX และ GKBI ตามสัดส่วนการถือหุ้น) และน่าจะสามารถรองรับการลงทุน โดยที่ยังรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้สอดคล้องกับอันดับเครดิตได้ ฟิทช์ประมาณการว่า อัตราส่วนหนี้สินจะอยู่ในระดับสูงสุดที่ประมาณ 4 เท่าในปี 2568 ก่อนที่จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 3 เท่าในปี2570

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
อันดับเครดิตโดยลำพังของ GGC ที่ 'bbb(tha)' อยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตของบริษัทที่อยู่ในธุรกิจพอลิเมอร์และพลาสติก ได้แก่ บริษัท โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ PTL (อันดับเครดิตภายในประเทศที่ 'A-(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ผลิตแผ่นฟิล์มพลาสติกโพลีเอสเตอร์ชั้นนำ และบริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG (อันดับเครดิตภายในประเทศที่ 'A-(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตฉนวนยางกันความร้อน/เย็น ที่ผลิตจากยางสังเคราะห์ประเภท EPDM, ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ และธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวสำหรับเครื่องดื่มและอาหาร

GGC มีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่า และมีการกระจายตัวของธุรกิจตามภูมิภาคที่น้อยกว่า PTL ซึ่งมีธุรกิจกระจายตัวตามภูมิภาคหลัก 3 แห่ง ได้แก่ทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย GGC มีประเภทของผลิตภัณฑ์ และการกระจายตัวของธุรกิจปลายทางที่น้อยกว่า EPG ถึงแม้ว่าขนาดธุรกิจที่วัดจาก EBITDA ของทั้งสองบริษัท อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน นอกจากนี้อัตราส่วนหนี้สินของ PTL และ EPG อยู่ในระดับต่ำกว่า GGC ทำให้อันดับเครดิตโดยลำพังของ GGC จึงอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตของ PTL และ EPG
สถานะทางธุรกิจของ GGC อ่อนแอกว่าของบริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด หรือ HMC (อันดับเครดิตภายในประเทศที่ A-(tha) แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ, สถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ bbb+(tha)) ซึ่งเป็นผู้ผลิตโพลีโพรพิลีนรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทั้งสองบริษัทมีสถานะทางการเงินที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งทำให้อันดับเครดิตโดยลำพังของ GGC อยู่ในระดับต่ำกว่าของ HMC โดยสถานะทางการตลาดของ HMC ได้รับการสนับสนุนจากการเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ HMC มุ่งเน้นในผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างและมีลักษณะเฉพาะตัว ทำให้มีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า GGC

GGC มีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่า บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC (อันดับเครดิตภายในประเทศที่ 'A-(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ, สถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ 'bbb(tha)') ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจปิโตรเคมีรายใหญ่เป็นอันดับที่สามของประเทศ ฟิทช์เชื่อว่าอัตราส่วนหนี้สินของ GGC ที่อยู่ในระดับต่ำกว่า สามารถชดเชยสถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอกว่าได้ ทำให้อันดับเครดิตโดยลำพังของ GGC และ IRPC อยู่ในระดับเดียวกัน

สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • รายได้เติบโตประมาณร้อยละ 2 ในปี 2566 เนื่องจากปริมาณการขายเมทิลเอสเทอร์ (B100) ที่สูงขึ้น ได้รับการลดทอนจากราคาขายที่ต่ำลง
  • รายได้เติบโตร้อยละ 8 ในปี 2567 เนื่องจากการขยายกำลังการผลิตของ TEX
  • EBITDA margin ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4-5 ในปี 2566 เนื่องจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจ B100 จากการที่ผู้ผลิตมีแนวโน้มที่จะให้ส่วนลดมากขึ้น เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด
  • EBITDA margin ปรับตัวดีขึ้น มาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5-6 ในปี 2567 เนื่องจากมีรายได้เพิ่มจากธุรกิจเอทานอลของ GKBI และโอลีโอเคมีของ TEX ที่มีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า
  • ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนรวมประมาณ 9 พันล้านบาท ในช่วงปี 2566-2570 เพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิตของ TEX และการลงทุนในโครงการ Bio-based chemical และการลงทุนในบริษัทร่วมจำนวน 2.6 พันล้านบาท ในช่วงปี 2566-2570
  • ธุรกิจ Bio-based chemical จะสร้าง EBITDA เพิ่มเติมประมาณ 1-2 พันล้านบาท ต่อปี ในปี 2569 และ 2570
  • การจ่ายเงินปันผลร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:

  • การปรับเพิ่มอันดับเครดิตโดยลำพังจะทำให้อันดับเครดิตของ GCC ปรับเพิ่มขึ้น และจะเกิดขึ้นได้จากสถานะทางธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้น อาทิ ขนาดของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น และ/หรือ การกระจายตัวของผลิตภัณฑ์ และการกระจายตัวของธุรกิจตามภูมิภาคที่มากขึ้น โดยรักษาสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตามปัจจัยดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
  • ระดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท กับ PTTGC ที่เพิ่มสูงขึ้น

ปัจจัยลบ:

  • กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ลดลง หรือการลงทุนที่ใช้แหล่งเงินทุนมาจากเงินกู้ที่สูงขึ้น ทำให้ EBITDA net leverage สูงกว่า 3 เท่าอย่างต่อเนื่อง
  • สถานะทางธุรกิจ หรือความสามารถในการแข่งขันที่ปรับตัวแย่ลง ทำให้ EBITDA ของบริษัทปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
  • ระดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทฯ กับ PTTGC ที่ลดน้อยลง

สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: GGC มีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากเงินสดจำนวน 2.7 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 ซึ่งอยู่ในระดับสูงกว่าหนี้ที่มีกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้า จากสิ้นเดือนกันยายน 2565 จำนวน 1.1 พันล้านบาท GGC มีหนี้ทั้งหมดจำนวน 3.6 พันล้านบาท (รวมงบการเงินของ TEX และ GKBI ตามสัดส่วนการถือหุ้น) ณ สิ้นเดือน กันยายน 2565 ซึ่งประกอบด้วยหนี้ที่มีหลักประกันจากธนาคารของ GKBI จำนวน 2.7 พันล้านบาท ซึ่งใช้ในการก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอล และหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของ GGC จำนวน 963 ล้านบาท

เกี่ยวกับบริษัท
GGC เป็นผู้ผลิตไบโอดีเซล และ โอลีโอเคมี ในประเทศไทย โดยมีกำลังการผลิตเมทิลเอสเทอร์ 5 แสนตันต่อปี แฟตตี้แอลกอฮอล์ 1 แสนตันต่อปี และกรีเซอรีน 5.1 หมื่นตันต่อปี บริษัทฯ ยังเป็นผู้ผลิตแฟตตี้แอลกอฮอล์ อีทอกซีเลท รายแรกและรายเดียวในประเทศไทย ภายใต้บริษัทร่วมทุนกับ บริษัท บีเอเอสเอฟ (ไทย) ซึ่งมีกำลังการผลิต 1.24 แสนตันต่อปี