เอ็นไอเออัปรายได้ - คุณภาพชีวิตภาคใต้ด้วย "ชุมชนนวัตกรรม" พร้อมผนึกกำลังเครือข่ายพัทลุงขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมแห่งภูมิภาค สร้างพาวเวอร์ใหม่ให้ธุรกิจและคนในพื้นที่

15 Feb 2023

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เดินหน้ายกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจภาคใต้ 11จังหวัด ผ่านเครือข่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม (SOCIAL INNOVATION DRIVING UNIT: SID) เพื่อส่งเสริมพื้นที่ภาคใต้ให้กลายเป็น "ชุมชนนวัตกรรม" ที่เข้มแช็ง และสามารถสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติ เช่น การผลักดันอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้สอดรับกับกระแสโลก การพัฒนาคนในพื้นที่ให้มีศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม - สตาร์ทอัพ การดึงศักยภาพเมืองท่องเที่ยวสู่ระดับชุมชน การลดความเปราะบาง และการสร้างแบรนด์ในพื้นที่ ทั้งนี้ ได้ร่วมกับจังหวัดพัทลุง หอการค้าจังหวัดพัทลุง และมหาวิทยาลัยทักษิณ ลงนามความร่วมมือในการขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมภูมิภาค พร้อมเปิดตัว "หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำพื้นที่ภาคใต้" เพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน พร้อมมุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ด้วยนวัตกรรม

เอ็นไอเออัปรายได้ - คุณภาพชีวิตภาคใต้ด้วย "ชุมชนนวัตกรรม" พร้อมผนึกกำลังเครือข่ายพัทลุงขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมแห่งภูมิภาค สร้างพาวเวอร์ใหม่ให้ธุรกิจและคนในพื้นที่

นายฉัตรชัย อุสาหะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ภาคธุรกิจ-ภาคอุตสาหกรรมของจังหวัดพัทลุงมีศักยภาพที่จะพัฒนาไปสู่ธุรกิจเพื่อสังคมที่มีการต่อยอดให้มีนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยการร่วมมือกันในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ เช่น มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งนอกจากจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ยังทำให้สินค้าของจังหวัดพัทลุงและจังหวัดอื่นในภาคใต้มีขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งตลาด AEC และตลาดโลกมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษา แสวงหาข้อมูล ความรู้ และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลาเพื่อการสร้างสิ่งใหม่ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ กระบวนการผลิต รวมทั้งต้องรู้จักวิธีการจัดการและบริหารธุรกิจสมัยใหม่ เพื่อสร้างความสำเร็จให้กับธุรกิจอย่างมั่นคงยั่งยืนต่อไปด้วย ทั้งนี้ จังหวัดพัทลุงให้ความสำคัญการส่งเสริมเกษตร อาหาร ท่องเที่ยวชุมชน โดยมีแนวคิด "เขา ป่า นา เล" จุดเด่นของจังหวัดพัทลุงมาช่วยผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน และวัฒนธรรม เช่น มโนราห์ และหัตถกรรมกระจูด ที่อาจจะเป็นซอฟท์พาวเวอร์ทำให้พัทลุงเป็นที่รู้จักของคนวงกว้างในอนาคต

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA กล่าวว่า แม้ว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะทำให้หลายภูมิภาคมีการปรับตัวที่ดีขึ้นในเชิงรายได้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายรูปแบบเริ่มกลับมาดำเนินการอีกครั้ง โดยเฉพาะใน "ภาคใต้" ที่มีสัญญาณด้านการเข้ามาของนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมถูกนำมาช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันกันมากขึ้น ดังนั้น NIA จึงให้ความสำคัญในการนำนวัตกรรมเข้าไปยกระดับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม การประกอบอาชีพ กลุ่มคนที่มีศักยภาพ พร้อมทั้งดึงความโดดเด่นเชิงกายภาพของแต่ละพื้นที่มาสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อช่วยให้แต่ละภูมิภาคมีการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน โดยในภาคใต้จะมุ่งนำนวัตกรรมมาสร้างการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติ เช่น การผลักดันอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้สอดรับกับกระแสโลก ซึ่งเป็นการนำนวัตกรรมเข้าไปเติมเต็มศักยภาพของทรัพยากรในภูมิภาคให้สอดคล้องกับความต้องการโลก เช่น พลังงานหมุนเวียน การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน การพัฒนาอาหารแห่งอนาคต ซอฟต์พาวเวอร์ การค้าดิจิทัล การเกษตรแม่นยำ ฯลฯ การพัฒนาคนในพื้นที่ให้มีศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม - สตาร์ทอัพ เพื่อเชื่อมต่อการจ้างงาน การรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ บริการ และโซลูชันใหม่ที่ช่วยยกระดับสังคม ช่วยลดอัตราการไหลออกของคนในท้องถิ่นและทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่มีมูลค่าที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีธุรกิจที่ตอบโจทย์กับตลาดแรงงาน การดึงศักยภาพเมืองท่องเที่ยวสู่ระดับชุมชน ซึ่งเป็นการนำนวัตกรรมเชิงกระบวนการและเทคโนโลยีอันทันสมัยเชื่อมต่อระหว่างนักท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว และคนในชุมชนให้มีปฏิสัมพันธ์ในมิติต่าง ๆ จนเกิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ การลดความเปราะบาง เช่น การจัดการของเสียที่มีเพิ่มขึ้น ความสมบูรณ์ของลุ่มน้ำ ภูเขา ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ แม่น้ำ ทะเลสาบมีแนวโน้มลดลง ปัญหาการขาดแคลนน้ำ และการสร้างแบรนด์นวัตกรรม - พื้นที่นวัตกรรม เพื่อให้เกิดการยอมรับ รับรู้ และความนิยมถิ่นกำเนิดของสินค้าหรือบริการนวัตกรรม พร้อมผลักดันให้แต่ละจังหวัดในภาคใต้มีพื้นที่ในการทดลอง เรียนรู้การสร้างสรรค์นวัตกรรมและต่อยอดสู่การทำงานระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง - การจัดตั้งธุรกิจ
ในอนาคต

ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับความร่วมมือกับจังหวัดพัทลุง หอการค้าจังหวัดพัทลุง และมหาวิทยาลัยทักษิณ ในวันนี้ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างนำร่องในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือและภาคีนวัตกรรมระหว่างภาคการผลิต ภาครัฐ ภาคการศึกษาและวิจัย รวมทั้งภาคสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการสร้างความสามารถด้านนวัตกรรมให้กับสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการในพื้นที่ ส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างนวัตกรด้านสังคมผ่านการบ่มเพาะและให้คำปรึกษาภายใต้ระบบพี่เลี้ยง และสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมผ่านกลไกการสนับสนุนของแต่ละฝ่าย สนับสนุนการขยายผลโครงการนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมในพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจและการสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับกลุ่มผู้ประกอบการใหม่/สินค้า/บริการนวัตกรรมในพื้นที่ภาคใต้ และสนับสนุนการใช้โครงสร้างพื้นฐานที่แต่ละหน่วยเปิดให้บริการ พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนธุรกิจนวัตกรรมของภาคเอกชนและชุมชน ทั้งด้านงานวิจัย วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม และการต่อยอดธุรกิจในการสร้างตราสินค้าให้เป็นที่จดจำและยอมรับในวงกว้าง โดยมหาวิทยาลัยทักษิณจะเป็นหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำพื้นที่ภาคใต้ที่จะดูแลและสนับสนุนให้เกิดการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมด้านสังคมและเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ครอบคลุมการดำเนินงานใน 11 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต พังงา ระนอง และกระบี่

ทั้งนี้ ในปี 2566 NIA มีหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมที่เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมด้วยการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม โดยการหาความต้องการและปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ และดำเนินการคัดเลือกวิสาหกิจเพื่อสังคมและผู้ที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคม จำนวน 11 หน่วย ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ แบ่งเป็นหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำพื้นที่ จำนวน 8 หน่วย ได้แก่ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี และหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมที่นำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ จำนวน 3 หน่วย ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยทักษิณให้ความสำคัญต่อประเด็นการพัฒนาทางสังคมและธุรกิจสังคมที่สร้างความสามารถทางนวัตกรรมของสังคมลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งครอบคลุมทั้งการสร้างธุรกิจนวัตกรรมและการสร้างเครือข่ายนวัตกรรมเชิงสังคม โดยมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการให้ประโยชน์ สาธิตนำร่องผลิตภัณฑ์ หรือกระบวนการที่เพิ่มมูลค่าเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความทั่วถึงและเท่าเทียมกันมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างและขยายเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม และเครือข่ายนวัตกรรมเพื่อสังคมทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยทักษิณ ให้สามารถทำงานเชิงบูรณาการ แบ่งปันองค์ความรู้ วิเคราะห์มิติปัญหาสังคมในพื้นที่ และสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เอื้อต่อการเติบโตของนวัตกรรมอย่างยั่งยืน และสร้างผลกระทบเชิงสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม

"มหาวิทยาลัยทักษิณให้ความสำคัญในการส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการผ่านการบ่มเพาะ การถ่ายทอดการวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม การเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายภายในประเทศและต่างประเทศ และการผลักดันเข้าสู่การแข่งขันทางธุรกิจ สอดคล้องกับนโยบายมหาวิทยาลัยทักษิณของการเป็นมหาวิทยาลัยกลุ่ม 2 คือ กลุ่มพัฒนาและกลุ่มส่งเสริมเทคโนโลยีและการพัฒนานวัตกรรมที่มีเป้าหมายในการพัฒนากำลังคนเพื่อไปเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและการสร้างกำลังคนเพื่อให้ไปตอบสนองเชิงยุทธศาสตร์และนโยบายการพัฒนาประเทศในระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม จะเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะสนับสนุนให้ทุกส่วนงานช่วยพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะให้ความร่วมมือกับเครือข่ายที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก และภาคเอกชนให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม"

เอ็นไอเออัปรายได้ - คุณภาพชีวิตภาคใต้ด้วย "ชุมชนนวัตกรรม" พร้อมผนึกกำลังเครือข่ายพัทลุงขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมแห่งภูมิภาค สร้างพาวเวอร์ใหม่ให้ธุรกิจและคนในพื้นที่