ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศปอส.) หรือ SHECU ร่วมกับศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักบริหารระบบกายภาพ ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ หน่วยส่งเสริมสุขภาวะนิสิต (Chula Student Wellness) และศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมจัดงาน "Chula health care body & mind : รักกาย รักใจ ห่วงใย ณ จุฬาฯ" ภายใต้ "โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ความยั่งยืน" ด้วยแนวคิด "การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี รับรองการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ" (Good Health and Well-being) ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นในวันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ณ อาคารศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เวลา 10.00 น. วันเดียวกัน ศาสตราจารย์ นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีด้านการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์ แผน การงบประมาณและสุขภาวะ เป็นประธานในพิธีเปิดเปิดงาน พร้อมบรรยาย เรื่อง ความยั่งยืนด้านสุขภาพของประชาคมจุฬาฯ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีด้านการวิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรภัทร์ อิงคโรจน์ฤทธิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีงานด้านกิจการพิเศษ รองศาสตราจารย์ ดร. โสมวดี ไชยอนันต์สุจริต ผู้ช่วยอธิการบดีงานด้านบริหารทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาองค์กร ศาสตราจารย์ ดร. ธีรยุทธ วิไลวัลย์ ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยฯ และนายแพทย์สัณฐิติ ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ ร่วมฟังการบรรยายดังกล่าว
ทั้งนี้ศูนย์ความปลอดภัยฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาหลักสูตรโดยได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิยาลัยมหิดล และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อออกแบบและจัดทำ (ร่าง) หลักสูตรโรคจากการทำงานและการส่งเสริมสุขภาวะในการทำงาน (E-learning) โดยมีจุดประสงค์ให้นิสิตและบุคลากรมีความรู้ ตระหนัก และให้ความสำคัญในเรื่องโรคจากการทำงาน สามารถชี้บ่งและประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคจากการทำงาน รวมทั้งรู้จักวิธีป้องกันและส่งเสริมสุขภาวะในการทำงานได้อย่างปลอดภัย พร้อมกันนี้ได้เปิดเผยอีกว่า ศูนย์ความปลอดภัยฯ กำลังดำเนินการจัดทำ มาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานสำนักงาน พัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานห้องสำนักงาน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้ตรวจประเมินสำหรับระบบการตรวจประเมิน และผลักดันให้สำนักงานภายในมหาวิทยาลัยเป็นไปตามมาตรฐานหรือแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย เพื่อส่งเสริมสุขภาวะที่ดีในการทำงานของประชาคมจุฬาฯ ตามแนวคิดมหาวิทยาลัยภายใต้การพัฒนาที่ยั่งยืน
ภายในงานดังกล่าว ศูนย์ความปลอดภัยฯ ได้ร่วมจัดบูธนิทรรศการส่งเสริมสุขภาวะด้านการยศาสตร์ Chula Ergo และ กิจกรรม"Clinic ตรวจประเมินท่าทางการทำงานกับคอมพิวเตอร์" โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้าทดลองใช้สถานีงานที่จำลองการใช้งานคอมพิวเตอร์ เพื่อสังเกตและตรวจประเมินท่างทางในการใช้งานคอมพิวเตอร์ โดยมี อาจารย์ ดร.เอกราช สมบัติสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการยศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเมินความเสี่ยงและให้คำแนะนำแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อช่วยลดอาการออฟฟิศซินโดรมและความเสี่ยงจากโรคระบบกล้ามเนื้อและโครงสร้างกระดูกจากการทำงาน ซึ่งมีผู้สนใจและเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
นอกจากนี้ภายในงาน ยังมีบูธกิจกรรม "รักใจ" ซึ่งให้ความรู้และคำปรึกษาด้านสุขภาพจิต กิจกรรมคอนเสิร์ตและการยืดเหยียดร่างกาย "ดนตรี กีฬา เป็นยาวิเศษ" รวมถึงนิทรรศความรู้และกิจกรรมร่วมสนุกรับของรางวัลมากมาย หากต้องการข้อมูล ความรู้ ด้านการยศาสตร์เพิ่มเติม สามารถศึกษาได้ที่ https://fb.watch/iRPwm-HVqm/
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit