จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ ปล่อยแคมเปญ "หวานน้อยลงหน่อย" ชวนคุมอาหารทันที ห่วงคนไทยกว่า 4 ล้านคนป่วยเบาหวาน ระดมภาคีเครือข่ายสตาร์ทอัพเร่งสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มการแพทย์แม่นยำ เสริมภารกิจกรมควบคุมโรค
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 16 เปิดโครงการรณรงค์หวานน้อยลงหน่อย เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ห้อง 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธานในงาน ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ทพญ.ดร.ศิริวรรณ ทิพยรังสฤษฏ์ รองผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.กำธร พฤกษานานนท์ อุปนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูถัมภ์ ดร.วรกันต์ บูรพาธนะ Head of Technology & Innovation บริษัท อินโนบิค เอเชีย จำกัด รศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผศ.ดร.สถาพร งามอุโฆษ อาจารย์ภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ และ CEO & Co-founder บริษัท ทานดี อินโนฟูด จำกัด
ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี ด้านการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์ แผน การงบประมาณ และสุขภาวะ จุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาฯ มีเป้าหมายในการเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืน หนึ่งในยุทธศาสตร์ของจุฬาฯ มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ เพราะเราเล็งเห็นถึงปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นกับประชาคมจุฬาฯ อย่าง "โรคเบาหวาน" สถานการณ์น้ำหนักโดยรวมของประชาคม น้ำหนักเกินเกณฑ์ปกติกว่า 40 ตัน น้ำหนักเกินเฉลี่ยคนละ 5.2 กิโลกรัม และเมื่อลงลึกในสถิติมีผู้ที่เป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นกว่า 10%
จากกรณีศึกษาของโรคโควิด-19 เป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดการด้านสุขภาวะที่ประสบความสำเร็จ โดยอาศัยความร่วมมือกันในหลายภาคส่วน ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยอย่างรวดเร็วด้วย Rapid Antigen Test "กล่องรอดตาย" และระบบดูแลผู้ป่วย Home isolation นำแพลตฟอร์มเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยที่เป็นนิสิต คณาจารย์ บุคลากร และครอบครัวให้หายจากโควิด-19 ในสถานการณ์ที่โรงพยาบาลไม่มีเตียงรองรับเพียงพอ โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ รวมถึงการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามของจุฬาฯ และการจัดตั้งศูนย์บริการวัคซีนจุฬาฯ การดูแลด้านสุขภาวะในเรื่อง "โรคเบาหวาน" ก็เช่นกัน จำเป็นต้องได้รับการร่วมมือและนำนวัตกรรมต่างๆ จากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาช่วย เพื่อให้เกิดการพัฒนาแพลตฟอร์มที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนไทยในวงกว้าง
ศ.นพ.กำธร พฤกษานานนท์ อุปนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูถัมภ์ กล่าวว่า ความสำเร็จของการดำเนินงาน "กล่องรอดตาย" ทำให้มีผู้ป่วยเข้าลงทะเบียนในระบบประมาณ 85,000 คน อัตราการเสียชีวิตที่บ้าน 0% เวลาตอบสนองที่รวดเร็วเพียง 45 นาที เวลาตอบสนอง 6 ชม. ลด Admission ที่ไม่จำเป็น 83.3% ประหยัดงบประมาณของรัฐได้ถึง 29,000 บาทต่อคน หรือคิดเป็นเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท โดยได้อาสาสมัครเครือข่าย 400 คน มีทุกกลุ่มอายุและความเชี่ยวชาญ และมี International Ward ที่ได้นิสิตต่างชาติของจุฬาฯ มาเป็นอาสาสมัครในการประสานงาน ตลอดจนมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วในพื้นที่ และมีคณะนักวิจัยจาก Bill & Melinda Gates Institute, Johns Hopkins University สหรัฐอเมริกา เข้าเยี่ยมชมการปฏิบัติงาน ทำให้เป็นแม่แบบสำคัญในการสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มการแพทย์แม่นยำในการป้องกัน วินิจฉัย และรักษา "โรคเบาหวาน" ในครั้งนี้
ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวต้อนรับผู้ร่วมเสวนา โดยกล่าวว่าทุกท่านล้วนเป็นภาคีเครือข่ายที่ผนึกกำลังทำภารกิจสำคัญระดับชาติและนานาชาติกับจุฬาฯ ด้วยกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเจ็บป่วยของพี่น้องคนไทย ซึ่งชาวจุฬาฯ และภาคีเครือข่ายต้องมาขบคิดกันหาทาง แบ่งเบาภาระงานของกระทรวงสาธารณสุข ในส่วนของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ขออาสาเป็นอีกแรงหนึ่งในภารกิจครั้งนี้ จากการที่คณะฯ มีศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช ที่กำลังทำงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมด้าน Biomedical Engineering อย่างขะมักเขม้น การผนึกกำลังกันข้ามคณะ ทำงานแบบสหศาสตร์หลายสาขา มุ่งสร้างภาคีเครือข่าย จะเป็นอีกหมุดหมายหนึ่งที่สำคัญที่อยากให้ทุกท่านติดตามและเป็นกำลังใจให้คณาจารย์และนักวิจัยกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นนักวิจัยรุ่นใหม่ที่พร้อมพัฒนางานที่มีความหมายตอบโจทย์ความต้องการของสังคม เมื่อสังคมมีปัญหา จุฬาฯ มีคำตอบ" นั่นคือการสร้าง "Innovations" และเป็น "Innovations for Society"
รศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า "เรามีพันธกิจสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์นำออกมารับใช้สังคมด้วยงานวิจัยหลากหลายสาขา ทั้งด้านอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ อวัยวะเทียม ระบบนำส่งยา และชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) เพื่อให้การรักษาและป้องกันโรคมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ศูนย์วิจัยของเราให้ความสนใจกับกลุ่มโรคไม่ติดต่อที่คุกคามสุขภาวะคนทั่วโลก คือโรคเบาหวานซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ อีกมาก เราจึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มการแพทย์แม่นยำแบบบูรณาการ เพื่อการป้องกัน วินิจฉัย และรักษาโรคเบาหวานที่ครอบคลุมระบบ Telemedicine, Non-invasive optical fiber sensor ตรวจคัดกรองผู้เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานจากสารบ่งชี้ใน ลมหายใจ Bioinformatics and AI รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมและการรักษาผู้ป่วย และนวัตกรรมในการรักษาโรค ทั้งระบบนำส่งอิซูลิน แผ่นปิดแผล และแผ่นรองรองเท้าลดแผลกดทับที่จะนำไปสู่การรักษาที่แม่นยำเฉพาะบุคคลและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานและกลุ่มเสี่ยง เสริมภารกิจ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คาดว่าจะสามารถพัฒนาได้เต็มรูปแบบแล้วเสร็จภายในปี 2570"
ทางด้าน ผศ.ดร.สถาพร งามอุโฆษ อาจารย์ภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ และ CEO & Co-founder บริษัท ทานดี อินโนฟูด จำกัด กล่าวว่า แนวทางการใช้โภชนบำบัดมาบูรณาการเป็นแนวทางรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานให้ดีขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยนักกำหนดอาหารจะทำงานร่วมกับทีมแพทย์จำแนกกลุ่มผู้ป่วยตามการแปลผลระดับน้ำตาลในเลือด และจะจัดสรรวัตถุดิบนำนวัตกรรมอาหารเส้นโปรตีนไข่ขาว ไร้แป้ง Eggday (เอ้กกี้เดย์) ที่ได้รับอนุสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญามาใช้เป็นโซลูชั่นออกแบบเมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยมากกว่า 30 เมนู ตามหลัก 3 ใช่ ห่างไกล "เบาหวาน" ได้แก่ ปริมาณที่ใช่ เมนูที่ใช่ และส่วนผสมที่ใช่ โดยนำมาใช้บนระบบ LINE Official "หวานน้อยลงหน่อย" เพื่อดูแล ติดตาม และเข้าถึงกลุ่มผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น ผู้ที่สนใจสามารถแอดไลน์เข้าสู่ระบบได้โดยคลิกที่ลิงค์ https://lin.ee/scwioDB
หลังจากการเสวนา ศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) "พัฒนาแพลตฟอร์มการแพทย์แม่นยำแบบบูรณาการ เพื่อการป้องกัน วินิจฉัย และรักษาโรคเบาหวาน" กับภาคีเครือข่าย โดยมี รศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช นพ.ดร.สาครินทร์ บุญบรรเจิดสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ็นโฟสิส จำกัด ดร.ธีรธร ธาราไชย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท เจ็นโฟสิส จำกัด คุณกิตติศักดิ์ เพ็ชรหาญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะชาร์พเพ็นเนอร์ จำกัด ดร.บารมี นวนพรัตน์สกุล กรรมการบริษัท พานาคูรา จำกัด ผศ.ดร.สถาพร. งามอุโฆษ CEO & Co-founder บริษัท ทานดี อินโนฟูด จำกัด ร่วมพิธีลงนาม ซึ่งบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวมีขึ้นเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มการแพทย์แม่นยำแบบบูรณาการ เพื่อการป้องกัน วินิจฉัย และรักษาโรคเบาหวาน สร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของโรคเบาหวานและสร้างสุขภาวะที่ดีของประชากรไทย และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการและงานวิจัยในสาขาวิศวกรรมชีวเวช โดยจะร่วมกันจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลชีวสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานต่อไป
โอกาสนี้ ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีจุฬาฯ ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ทพญ.ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ รองผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค คุณเชิดชัย บุญชูช่วย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ศ.นพ.กำธร พฤกษานานนท์ และ ดร.ลักขณา ลีละยุทธโยธิน อุปนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์ คุณพงษ์เดช เสรีเชษฐพงษ์ กรรมการประชาสัมพันธ์และสาราณียากร สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาฯร่วมเป็นสักขีพยานด้วย