นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี เปิดเผยว่า ช่วงกลางเดือนเมษาที่ผ่านมา อีอีซี ร่วมกับ หอการค้าสมาพันธรัฐสวิส (Swiss - Asian Chamber of Commerce: SACC) ณ กรุงซูริค จัดสัมมนา EEC: Prime Gateway to Asia พบปะกลุ่มนักลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เครือข่ายของ SACC ที่มีศักยภาพกว่า 40 บริษัท อาทิ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล เทคโนโลยีด้านการเงิน อุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการบริการ เป็นต้น
โดยในงาน อีอีซี ได้นำเสนอข้อมูลและโอกาสการลงทุน ทั้งด้านสิทธิประโยชน์สำคัญๆ เพื่อจูงใจนักลงทุน พร้อมชูจุดเด่นในพื้นที่อีอีซี นอกเหนือจากความสะดวกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่รองรับการคมนาคมขนส่งอย่างไร้รอยต่อ ทั้งทาง บก เรือ อากาศ เป็นประตูเชื่อมโยงการเดินทางและขนส่งได้ทั่วโลก ที่จะนำพาการลงทุนสู่พื้นที่ อีอีซี อีกทั้งได้สร้างระบบเชื่อมโยงทางธุรกิจ (ecosystem) เพื่อส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าว ได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมที่เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน และอุตสาหกรรมบริการในด้าน โลจิสติกส์ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการศึกษา ซึ่งเป็นสาขาอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพทั้งด้านตลาด และการผลิต ตลอดจนการพัฒนาทักษะบุคลากรที่มีคุณภาพ โดย อีอีซี พร้อมให้ความร่วมมือกับภาคธุรกิจสวิตเซอร์แลนด์ที่สนใจ
ในโอกาสนี้ อีอีซี ได้รับเกียรติจาก H.E. Helene Budliger Artieda ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจสมาพันธรัฐสวิส (State Secretary for Economic Affairs) กล่าวเปิดงานสัมมนาฯ ครั้งนี้ว่า ประเทศไทยมีความพร้อมในการรองรับนักลงทุนในหลายๆ ด้าน ตอบโจทย์ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนรุ่นใหม่ที่ Work-Life Balance เป็นปัจจัยสำคัญ และการเปิดความตกลงการค้าเสรีไทย - EFTA ที่กำลังเจรจากันในปีนี้เป็นไปด้วยดี คาดว่าเมื่อมีผลบังคับใช้ในปีหน้า จะอำนวยความสะดวกในเรื่องการค้าและการลงทุนระหว่างกันได้มากขึ้นอีก รวมทั้งได้กล่าวถึง ประสบการณ์ในการทำงานที่ประทับใจในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย (2562- 2565) ที่ผ่านมา
ด้านนายจิตตพัฒน์ ทองประเสริฐ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบิร์น กล่าวว่า ประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านตำแหน่งที่ตั้ง และมีนโยบายการเงินการคลังที่มีความเสถียรภาพ โดยขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศเริ่มฟื้นตัว และคาดว่าจะเติบโตในอัตรา 3 - 3.8% ในปี 2566 นี้ โดยขอให้นักลงทุน มีความมั่นใจในโครงการพัฒนาพื้นที่อีอีซี ซึ่งถือเป็นแผนยุทธศาสตร์หลักของประเทศ
รวมทั้งได้มีผู้แทนจากบีโอไอ ได้ร่วมให้ความรู้เรื่องสิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนซึ่งมีการปรับปรุงให้ทันสมัย เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเดิมและสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ มีการเพิ่มแรงจูงใจสำหรับบริษัทที่ต้องการจัดตั้ง International Business Center (BIC) ในไทย รวมทั้งการให้ความรู้เรื่องโปรแกรม Long- Term Visa (LTR) ที่อำนวยความสะดวกแต่นักลงทุนที่ต้องการพำนักในประเทศไทยระยะยาว
สำหรับช่วงการเสวนา (Panel Discussion) อีอีซี ได้เชิญตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนของสวิตเซอร์แลนด์มาให้มุมมองด้านการลงทุนในไทย โดย H.E. Mr. Pedro Zwahlen เอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ต้องการให้ภาคเอกชนสวิสฯ มองเห็นโอกาสการทำธุรกิจในประเทศไทยซึ่งมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน นอกจากความโดดเด่นที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของภูมิภาค แม้ว่าในปัจจุบันมีบริษัทสวิตฯ หลายบริษัทได้เข้าไปลงทุนในไทยและพื้นที่อีอีซีแล้ว ซึ่ง สอท. สวิตเซอร์แลนด์ในไทยยินดีสนับสนุนภาคธุรกิจที่สนใจ และให้พิจารณาเลือกประเทศไทยและพื้นที่อีอีซี เป็นลำดับต้น ๆ หากต้องการมองหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ
ด้านผู้บริหารระดับสูงจาก 3 บริษัทเอกชนที่มีการลงทุนในไทย ได้แก่ ABB (Thailand) Co., Ltd. Neoperl Asia Pacific Co., Ltd. และ Abatek (Asia) Public Company Limited ซึ่งเข้าร่วมงานได้กล่าวถึง พื้นที่อีอีซี ว่า เป็นพื้นที่ ที่มีความพร้อม ด้านโครงสร้างพื้นฐานเหมาะกับการผลิตที่เป็น supply chain ซึ่งทำให้การลงทุนในไทยสามารถทำให้ได้ดีทั้งตลาดไทยและประเทศในภูมิภาค อีกทั้งปัจจุบันประเทศไทยมีนโยบายพร้อมส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนในหลายด้าน เช่น EV, 5G, อุตสาหกรรม 4.0 และดิจิทัล และการแพทย์สมัยใหม่ เป็นต้น รวมถึงส่งเสริมด้านการพัฒนาทักษะแรงงานขั้นสูงที่ดีอีกด้วย
อนึ่ง ด้านความร่วมมือการค้า การลงทุนในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2561-2565) การค้ารวมระหว่างไทย - สมาพันธ รัฐสวิสมีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 8,975 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ รวมเป็นมูลค่าราว 18,285 ล้านบาท
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit