หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย (ปณท) จำกัด และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จัดทำสัญญาโครงการพัฒนา Net Zero Emissions Execution Roadmap and Tools เพื่อขับเคลื่อนการเป็นผู้ให้บริการไปรษณีย์และโลจิสติกส์อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และเปิดตัวโครงการ Green Parcel: University Action Towards Net Zero Emissions โดยได้มีงานแถลงข่าว เมื่อวันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ณ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) สำนักงานใหญ่
ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อลดการปล่อย CO2 (Decarbonization) เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ซึ่งประเด็นนี้ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนทั่วโลกให้เป็น "วาระระดับโลก หรือ Global Agenda" ซึ่งเป้าหมายนี้ส่งผลให้บริษัทขนส่งและโลจิสติกส์ของไทยซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ต้องมีการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจที่มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมีการประเมินผลลัพธ์ที่ได้อย่างชัดเจน (GHG Emissions Report) สำหรับประเทศไทยธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์เป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่และมีการเติบโตสูงมากจากการขยายตัวของธุรกิจ E-Commerce ประกอบกับธุรกิจนี้ได้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มธุรกิจ The New S-Curve (Activation and Logistics) ของประเทศในการวางแผนให้ประเทศไทยเป็น Logistics Hub ของภูมิภาคเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศไทยจึงเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเป็นเป้าหมายการขยายผลลัพธ์ของโครงการวิจัย ทั้งการสร้างความร่วมมือทางวิชาการและการขยายผลในเชิงพาณิชย์ โดยเพาะด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมที่ทุกประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทยให้ความสำคัญ
อย่างไรก็ตามปัจจุบันบริษัทขนส่งและโลจิสติกส์ยังขาดแนวทางและเครื่องมือในการดำเนินการดังกล่าว จากปัญหาความท้าทายนี้จึงเป็นที่มาของโจทย์วิจัยในโครงการ"พัฒนา Net Zero Emissions Execution Roadmap and Tools เพื่อขับเคลื่อนการเป็นผู้ให้บริการไปรษณีย์และโลจิสติกส์อย่างยั่งยืน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด" โดยมี รศ.ดร.จรรยา ชาญชัยชูจิต ผู้อำนวยการศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นหัวหน้าโครงการ ภายใต้การสนับสนุนทุนจาก บพข. เพื่อพัฒนา Roadmap Net Zero Emissions รวมทั้งกลยุทธ์การดำเนินงานในการบริหารจัดการเพื่อลด GHG Emissions และเตรียมความพร้อมในการจัดทำข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ ปณท. เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้แก่องค์กร และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย
รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ บพข. ได้เผยถึงบทบาทของ บพข. และแนวทางในการสนับสนุนทุนวิจัยว่า "บพข. มีพันธกิจในการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเรามีวัตถุประสงค์คือ นำเอาความรู้ทั้งหลายที่มหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานวิจัย มีอยู่แล้วมาพัฒนาต่อยอดเพื่อไปสู่การใช้งานอย่างจริงจัง ซึ่งการที่จะทำอย่างนั้นได้จำเป็นต้องมีความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ เอกชน และนักวิจัย/มหาวิทยาลัย ในการทำงานร่วมกัน จึงจะเกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้จริง ซึ่ง บพข. เป็นหน่วยงานให้ทุนใหม่ที่เรามุ่งเน้นส่วนนี้โดยเฉพาะ เรานำเอางานที่สำเร็จแล้วในระดับห้องปฏิบัติการมาขยายผลเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และในปีงบประมาณ 2566 บพข. ได้อนุมัติเงินทุนสนับสนุนการวิจัยในการดำเนินงานแก่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้ชื่อโครงการ "การพัฒนา Net Zero Emissions Execution Roadmap and Tools เพื่อขับเคลื่อนการเป็นผู้ให้บริการไปรษณีย์และโลจิสติกส์อย่างยั่งยืน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด" เรารู้สึกดีใจที่ได้เห็นความร่วมมือของ ม.อ. และ ปณท. ที่ได้ลงนามความร่วมมือกันในวันนี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการวิจัยที่จะทำร่วมกันในครั้งนี้จะประสบผลสำเร็จได้เป็นอย่างดี และเป็นแม่แบบในการขยายผลไปสู่ผู้ให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์อื่น ๆ"
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปณท. กล่าวถึงโครงการวิจัยและความร่วมมือในครั้งนี้ว่า "ปณท. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่วันนี้ได้เกิดความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการที่จะขับเคลื่อนธุรกิจโลจิสติกส์ของประเทศ ที่จะคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ ด้วยการกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินงานพร้อมกับการจัดทำแผนการปฏิบัติการระยะสั้น-ระยะกลาง-และระยะยาว เพื่อลดละเลิกการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ ใน value chain ของ ปณท. และการพัฒนาแพลตฟอร์มในการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล สอดรับกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทาง ESG (Environmental, Social, and Governance) ของ ปณท. โดยเฉพาะในมิติสิ่งแวดล้อมที่มีการมุ่งพัฒนาระบบงานต่าง ๆ ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป้าหมายในการที่เป็นผู้ให้บริการไปรษณีย์และขนส่งโลจิสติกส์รายแรกของประเทศที่เดินหน้าตามเป้าหมาย Net Zero อย่างเต็มรูปแบบ ผ่านการดำเนินงานต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นภายใต้โครงการที่เราได้ร่วมมือกันนี้ ต้องขอขอบคุณ บพข. ที่ให้ทุนสนับสนุนโครงการและเปิดโอกาสให้ ปณท. ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ผลจากการร่วมมือที่เกิดขึ้นจะไม่ได้เป็นแค่เพียงผลทางการศึกษา แต่เราจะเริ่มดำเนินการทันทีผ่านการร่วมมือกับ ม.อ. ซึ่งได้ผนึกกำลังสนับสนุนโครงการสำคัญต่าง ๆ เช่น แคมเปญ ReBox ที่ให้เกิดการลงมือปฏิบัติจริงควบคู่ไปกับการศึกษาวิจัยเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายสำคัญของ ปณท. ที่จะได้รับจากโครงการ คือการเป็นผู้ให้บริการไปรษณีย์และการขนส่งโลจิสติกส์ของประเทศอย่างยั่งยืน"
ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า "ม.อ. ที่ให้ความสำคัญในการทำงานเชิงวิชาการในส่วนของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อที่จะให้เกิดความสมดุลย์ในการทำงาน ในการประกอบธุรกิจ และการใช้ชีวิตของสังคม โดย ม.อ. ได้กำหนดเรื่องนี้ให้เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของมหาวิทยาลัย ในการทำวิจัยและการบริการทางวิชาการ โดยมีคณะที่สำคัญก็คือคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการนี้ รศ.ดร.จรรยา ชาญชัยชูจิต ผู้อำนวยการศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนอย่างยั่งยืน ของ ม.อ. ได้มีโอกาสนำเสนอต่อ บพข. และได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพข. และจาก ปณท. ทำให้เรามีความมั่นในว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้เป็นความต้องการจากภาคเอกชน และตรงกับวัตถุประสงค์ของการให้ทุนของ บพข. เรามั่นใจว่า ม.อ. มีความพร้อมทั้งทางด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ และบุคลากร ที่จะทำงานขับเคลื่อนโครงการนี้อย่างเต็มที่"
รศ.ดร.จรรยา ชาญชัยชูจิต หัวหน้าโครงการ เล่าถึงความเป็นมาของโครงการว่า "โครงการวิจัยนี้เกิดขึ้นจากเป้าหมายที่สอดคล้องกันระหว่างคณะนักวิจัยและ ปณท. ที่มีความตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและสนับสนุนนโยบายเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emissions ภายในปี 2065 โดยเฉพาะจากอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ ที่เป็นอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย และได้ถูกระบุให้เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2030 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า จากความท้าทายดังกล่าวและความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG ของ ปณท. โดยเฉพาะในประเด็นความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และเป้าหมายของแผนงานพัฒนาโลจิสติกส์และระบบรางของประเทศไทยจึงเป็นที่มาของโครงการวิจัยนี้"
โครงการนี้มีเป้าหมายในการพัฒนาแผนการดำเนินงาน (Execution Roadmap) เครื่องมือ (Tools) รวมทั้งกลยุทธ์ดำเนินงาน ในการบริหารจัดการเพื่อลด GHG Emissions จากการดำเนินงาน และจัดทำข้อมูลการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG Emissions Disclosure and Report) ขององค์กร เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่องค์กรเนื่องจากข้อกำหนดทางด้านกฎหมายและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน และเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ของประเทศไทย คาดว่า output ที่ได้ออกมานอกจาก roadmap ระยะสั้น กลาง ยาว ที่คาดหวังให้การปล่อยก๊าซเรือนแระจกเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2065 และ ฐานข้อมูลแล้ว ยังได้เป็น Net Zero Emissions Digital Platform ที่ไว้ใช้คำนวณ ติดตามและรายงาน GHG Emissions โดยเมื่อเสร็จสิ้นโครงการแล้วยังคาดหวังให้ผู้ให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์ต่าง ๆ นำไปใช้งานเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มประสิทธิภาพได้มาตราฐานสากล
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit