กทม.ติดตามสถานการณ์เฝ้าระวังผลกระทบจากซีเซียม-137 ตรวจสอบร้านรับซื้อของเก่า - โรงหลอมในกรุงเทพฯ

31 Mar 2023

นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม.กล่าวกรณีเกิดเหตุสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 หายไปจากโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำ จ.ปราจีนบุรี และถูกพบในโรงงานหลอมเหล็กแห่งหนึ่งใน อ.กบินทร์บุรี

กทม.ติดตามสถานการณ์เฝ้าระวังผลกระทบจากซีเซียม-137 ตรวจสอบร้านรับซื้อของเก่า - โรงหลอมในกรุงเทพฯ

ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สปภ.ได้ติดตามสถานการณ์ เพื่อเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย รถปฏิบัติการกู้ภัยสารเคมีและวัตถุอันตราย พร้อมเครื่องมือตรวจวัดรังสี ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2564 - 2570 และแนวทางปฏิบัติตามแผนฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี พ.ศ.2564 - 2570 โดยคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติได้จัดทำขึ้น เพื่อสนับสนุนแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564 - 2570 ในการจัดการเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีของประเทศ และเป็นกรอบมาตรฐานการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบและมีทิศทางเดียวกัน อีกทั้งเมื่อวันที่ 1 - 2 ก.ย.2565 ผู้แทน สปภ.ได้เข้าร่วมการฝึกซ้อมฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีระหว่างหน่วยงานที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อทบทวนความรู้ ซักซ้อม และเตรียมความพร้อมให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี รวมทั้งการประสานระหว่างหน่วยปฏิบัติต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวว่า สนอ.ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการจัดการสารเคมีและวัตถุอันตรายในสถานประกอบการ ปี พ.ศ.2566 โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก ได้แก่ สำนักงานเขต สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการโยธา กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมธุรกิจพลังงาน เพื่อตรวจแนะนำความปลอดภัยด้านสารเคมีและวัตถุอันตรายในสถานประกอบกิจการที่มีการจัดเก็บ การผลิต การสะสม การขนส่ง และการใช้สารเคมีและวัตถุอันตรายในพื้นที่กรุงเทพฯ ดำเนินการระหว่างเดือน มี.ค. - พ.ค.2566 ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2565

สำหรับสถานประกอบการรับซื้อของเก่า จำนวน 663 ราย และโรงงานหลอมเหล็ก จำนวน 110 ราย ในพื้นที่กรุงเทพฯ สนอ.จะประสานสำนักงานเขตให้ตรวจสอบสถานประกอบการดังกล่าวระหว่างเดือน เม.ย. - มิ.ย.2566 เพื่อควบคุมกำกับตามอำนาจหน้าที่ว่ามีการดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ รวมทั้งแนะนำและกำชับผู้ประกอบการเพิ่มความเข้มงวดการรับซื้อสิ่งของ เช่น การตรวจสอบลักษณะสินค้าและแหล่งที่มาให้ชัดเจน อาจสังเกตจากสัญลักษณ์ หรือรายละเอียดบนวัตถุนั้น ๆ รวมทั้งให้แยกจัดเก็บวัตถุตามประเภท เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและอัคคีภัย โดยตรวจสอบตามคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข ฉบับที่ 5/2549 เรื่อง การควบคุมกิจการการสะสมวัตถุ หรือสิ่งของที่ชำรุด ใช้แล้ว หรือเหลือใช้ต่อไป

กทม.ติดตามสถานการณ์เฝ้าระวังผลกระทบจากซีเซียม-137 ตรวจสอบร้านรับซื้อของเก่า - โรงหลอมในกรุงเทพฯ