นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการประสานความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการสอบสวนควบคุมโรคฝีดาษลิงในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.ร่วมกับสำนักงานเขตที่เกี่ยวข้องได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กองระบาดวิทยา สธ.สอบสวนควบคุมโรคฝีดาษลิงในกรุงเทพฯ รายใหม่ 3 ราย ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเก็บตัวอย่าง Oropharyngeal swab ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (ผลไม่พบเชื้อ) และติดตามทุก 7 วัน เป็นเวลา 21 วัน หากพบว่า มีอาการเข้าได้กับโรคให้รีบแจ้งศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทราบทันที รวมทั้งเก็บตัวอย่างส่งตรวจพื้นผิวสัมผัส เพื่อตรวจหาเชื้อโรคฝีดาษลิง ให้สุขศึกษาในการเฝ้าระวังและป้องกันโรค แนะนำวิธีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อบริเวณสถานประกอบการและจัดทำบอร์ดประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคฝีดาษลิงและการป้องกันตนเองแก่ผู้ใช้บริการ ขณะเดียวกันได้แจ้งสถานพยาบาลสังกัด กทม.และสำนักงานเขตให้เตรียมความพร้อมแนวทางเฝ้าระวังป้องกันโรคฝีดาษลิง อีกทั้งแจ้งเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมที่ดูแลเรื่อง LGBTQ ให้ประชาสัมพันธ์กลุ่มเป้าหมายด้วยอีกทางหนึ่ง พร้อมเน้นย้ำแนวทางส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ติดเชื้อและผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ งดมีเพศสัมพันธ์และหลีกเลี่ยงการสัมผัสแนบชิดกับผู้ที่มีอาการไข้ และมีผื่น ตุ่มน้ำ ตุ่มหนองบริเวณร่างกาย งดการมีเพศสัมพันธ์ หรือสัมผัสใกล้ชิดกับคนแปลกหน้า หรือไม่ทราบประวัติมาก่อน
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทุก รพ.ในสังกัด กทม.เฝ้าระวังคนไข้ทั้งห้องฉุกเฉิน (ER) และผู้ป่วยนอก (OPD) รวมถึง รพ.ที่มีคลินิกเฉพาะทาง เช่น คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนัง รวมทั้งมอบหมาย รพ.สิรินธร เปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอุบัติใหม่ เพื่อเฝ้าติดตามข้อมูลควบคุมดูแลสถานการณ์โรคฝีดาษลิงอย่างใกล้ชิด หากพบผู้ป่วยที่อาการต้องสงสัยให้แยกกักตัวและแจ้งให้ผู้บริหาร กทม.และ สธ.ทราบทันที หากพบผู้ป่วยให้แยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อออกจากผู้อื่น อย่างไรก็ตาม แม้การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อดังกล่าวได้ แต่การฉีดวัคซีนดังกล่าวควรทำเฉพาะในบุคคลที่ต้องทำงานมีความเสี่ยง หรือใกล้ชิดกับคน หรือสัตว์ที่ติดเชื้อเท่านั้น และวัคซีนยังสามารถรับได้ภายหลังการได้รับเชื้อไม่เกิน 14 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบพบแพทย์ทันทีและแยกกักตัว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ กทม. โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด หากต้องเดินทางไปยังประเทศที่พบผู้ป่วยฝีดาษลิง ควรระมัดระวังหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ และหลังจากเดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาด ขอให้สังเกตอาการ เนื่องจากโรคนี้เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด ไม่ได้ติดต่อกันได้ง่าย ๆ มาตรการที่ใช้ป้องกันโรคโควิด 19 ยังใช้ป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ หากพบความผิดปกติ เช่น มีไข้ มีตุ่มผื่นที่ใบหน้า แขน และขา ให้รีบพบแพทย์ทันที รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ เว้นระยะห่าง ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย หรือผู้มีตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง สำหรับกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและมีคู่นอนหลายคน สามารถเข้ารับคำปรึกษาได้ที่คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย กรุงเทพมหานคร (BKK Pride Clinic) ใน รพ.สังกัด กทม. 5 แห่ง ประกอบด้วย รพ.กลาง โทร.02 220 8000 ต่อ 10350 รพ.ตากสิน โทร.02 4370 123 ต่อ 1136, 1140 รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ โทร.02 2897 890 รพ.ราชพิพัฒน์ โทร.02 102 4222 หรือ 02 421 2222 และ รพ.สิรินธร โทร.02 3286 900 - 15 ต่อ 10268, 10269
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit