นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกในการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของวัณโรคในกลุ่มแรงงานข้ามชาติในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนอ.ได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน (รง.) เพื่อเร่งรัดให้แรงงานข้ามชาติขึ้นทะเบียนการทำงานอย่างถูกกฎหมาย ขณะเดียวกันได้ประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการคัดกรองวัณโรคและนำเข้าสู่ระบบการรักษา พร้อมจัดอบรมความรู้เรื่องวัณโรคให้อาสาสมัครต่างด้าวประจำสถานประกอบการต่าง ๆ เพื่อช่วยคัดกรองวัณโรคในสถานประกอบการ รวมทั้งออกหน่วยรถเอกซเรย์เคลื่อนที่คัดกรองวัณโรคในสถานประกอบการที่มีผู้ป่วยวัณโรคที่เป็นแรงงานข้ามชาติ จัดหางบประมาณสำหรับซื้อยาวัณโรคให้สถานพยาบาลที่รักษาวัณโรค ตลอดจนพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยวัณโรคระหว่างสถานพยาบาลและระหว่างประเทศ
นอกจากนั้น สนอ.ยังได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดหางบประมาณการตรวจเสมหะทางโมเลกุลวิทยา เพาะเชื้อ ตรวจทางชันสูตร และซื้อยารักษาวัณโรคให้แรงงานข้ามชาติที่เป็นวัณโรคเข้าสู่ระบบการรักษาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งให้สถานพยาบาลทุกแห่ง ทุกสังกัดให้การวินิจฉัยรักษาวัณโรคโดยไม่คำนึงถึงสิทธิการรักษา (Free of charge) ตลอดจนประสานความร่วมมือจากเครือข่ายภาครัฐและเอกชน (PPM : Public Private Mix) ให้มีการดำเนินงานตามแนวทางการดำเนินงานวัณโรคประเทศไทย (NTP : National TB Program) และการขึ้นทะเบียนผู้ป่วยวัณโรคในโปรแกรมบันทึกข้อมูลผู้ป่วยวัณโรคของประเทศ (National Tuberculosis Information Program: NTIP) ทุกราย เพื่อให้ทราบยอดผู้ป่วยที่เที่ยงตรง ทั้งยังรณรงค์ส่งเสริมความรู้ให้กลุ่มประชากรแรงงานข้ามชาติในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยให้ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ในพื้นที่ออกรณรงค์ให้ความรู้เรื่องวัณโรคแก่สถานประกอบการที่มีแรงงานข้ามชาติ
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวว่า สนพ.ได้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของวัณโรคในพื้นที่กรุงเทพฯ จัดระบบการรักษา การส่งต่อ การติดตามผู้ป่วยวัณโรคที่มีประสิทธิภาพ โดยเน้นให้มีผู้ประสานงานวัณโรค (TB Coordinator) เป็นผู้รับผิดชอบงานวัณโรคโดยตรงทุกโรงพยาบาล เพื่อวางแผนการรักษาผู้ป่วยวัณโรคแต่ละรายอย่างรอบคอบ ซึ่งต้องให้ความรู้เรื่องวัณโรค การรักษาและสุขศึกษาแก่ผู้ป่วยในครั้งแรกที่ขึ้นทะเบียนการรักษา เนื่องจากผู้ป่วยมีโอกาสได้รับการรักษาหายสูงสุดในการรักษาครั้งแรกเท่านั้น หากผู้ป่วยรับประทานยาไม่ถูกต้องจะไม่มีโอกาสหายจากวัณโรคและมีโอกาสเกิดเชื้อวัณโรคดื้อยาหลายขนาน ส่วนผู้ประสานงานวัณโรคต้องติดตามผู้ป่วยให้มารับการรักษาอย่างต่อเนื่องและต้องประเมินผลการรักษาผู้ป่วยที่ขึ้นทะเบียนรักษาตามระยะเวลาที่กำหนด พร้อมจัดทำคู่มือแนวทางการขึ้นทะเบียนและการรักษาผู้ป่วยวัณโรค (TB Guideline) ให้ทุกหน่วยงานรับทราบแนวทางดังกล่าว เพื่อค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ (New Case) ให้ได้รับการรักษาด้วยระบบยามาตรฐาน ขณะเดียวกัน สนพ.ได้สร้างเครือข่ายการส่งต่อและติดตามผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลในสังกัดร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข เพื่อจัดวางระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคที่ชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้เพิ่มอัตราการรักษาหาย (Cure Rate) ของผู้ป่วยวัณโรคในเขตเมืองได้เป็นอย่างดี โดยเน้นตามหลักการที่สำคัญของการรักษาผู้ป่วยวัณโรคคือ วินิจฉัยโรคต้องรวดเร็ว ถูกต้อง และแม่นยำ เปิดให้บริการคลินิกวัณโรค ให้บริการจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ประกอบด้วย การซักประวัติ ตรวจรักษา เก็บเสมหะ ถ่ายภาพรังสี (หากปฏิบัติได้) รับคำแนะนำสุขศึกษา จ่ายยาและนัดรักษาครั้งต่อไป เพื่อความสะดวกรวดเร็วและลดการแพร่เชื้อวัณโรค
สำหรับการป้องกันวัณโรค ขอให้ประชาชนรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ควรตรวจร่างกายโดยการเอกซเรย์ปอดอย่างน้อยปีละครั้ง หากมีผู้ป่วยวัณโรคในบ้านต้องให้รับประทานยาครบถ้วนสม่ำเสมอทุกวัน พร้อมให้สมาชิกในครอบครัวตรวจคัดกรองการติดเชื้อ เพื่อรับประทานยาป้องกัน ส่วนผู้ป่วยวัณโรคไม่ควรเข้าไปที่ชุมชน หากจำเป็นให้สวมหน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอ หรือจาม ทั้งนี้ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สถานบริการสาธารณสุข โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือสายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit