นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กล่าวถึงการดูแลรักษาสุขภาพในช่วงฤดูร้อนว่า สนอ.ได้ส่งเสริมความรู้และให้คำแนะนำประชาชนเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพในช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่ทำงาน หรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคนอ้วน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากภาวะอากาศร้อน เช่น อาการเพลียแดด ภาวะฮีตสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด ซึ่งเกิดจากร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป ทำให้ความร้อนภายในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส หากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที อาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ ส่วนวิธีสังเกตอาการสัญญาณเสี่ยงโรคลมแดด ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ตัวร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีเหงื่อออก กระหายน้ำมาก หายใจเร็ว และความดันโลหิตต่ำ
สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หลักการสำคัญที่สุดคือ การทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงให้เร็วที่สุดก่อนนำส่งโรงพยาบาล เช่น ย้ายผู้ป่วยมาในที่ร่ม จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย ยกขาสูง ถอดเสื้อผ้าแล้วใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบตามร่างกายโดยเฉพาะบริเวณหลังคอ รักแร้ ขาหนีบ และนำพัดลมเป่าระบายความร้อน หากผู้ป่วยรู้สึกตัวให้ดื่มน้ำเกลือให้มากที่สุด เพื่อทดแทนภาวะการขาดน้ำ จากนั้นรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit