เป้าหมายสู่มหาวิทยาลัยระดับโลกจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี โดยให้ความสำคัญของการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นกำลังสำคัญในการนำพามหาวิทยาลัยมหิดลบรรลุสุ่เป้าหมาย
เมื่อเร็วๆ นี้จากการประกาศผลรางวัลคุณภาพแห่งชาติ(Thailand Quality Award - TQA) ประจำปี พ.ศ. 2565 จัดโดย สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถคว้ารางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านบุคลากร (Thailand Quality Class Plus : People) ประจำปี พ.ศ. 2565 หรือ "TQC Plus : People 2022"
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า องค์กรที่เป็นเลิศ จะต้องประกอบด้วยทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ด้วยระบบการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งภายใต้กรอบการพัฒนาคุณภาพ TQA ที่ใช้เป็นเกณฑ์เดียวกันกับการประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ The Malcolm Baldrige National Quality Award ของสหรัฐอเมริกา ทำให้ที่ผ่านมาเกิด "Journey to the Excellence" หรือเส้นทางสู่เป้าหมายที่ทำให้เกิดการเรียนรู้มากมายระหว่างทาง
แม้ในบริบทของการมุ่งสู่มหาวิทยาลัยระดับโลก (World Class University) มหาวิทยาลัยมหิดลจะมีความโดดเด่นในด้านการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะ ตลอดจนได้มีการนำ SDGs มาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ แต่ในด้านการพัฒนาระบบการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ จะต้องอาศัยปัจจัยสนับสนุนจากทุกองคาพยพ
ซึ่งการพัฒนาคุณภาพที่ยั่งยืน จะต้องทำให้เหมือนเป็น "การแข่งขันมาราธอน" ที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้แสดงเป็นเพียง "ภาพ Snapshot" ให้เห็นเพียงจุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายที่มหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะ "สถาบันอุดมศึกษาในกำกับรัฐแห่งแรก" ที่สามารถไต่อันดับจากการคว้ารางวัลTQC ขึ้นสู่รางวัล TQC Plus จะฝ่าฟันเป็นก้าวต่อไปสู่จุดหมายปลายทางของการคว้ารางวัลคุณภาพแห่งชาติ(Thailand Quality Award - TQA) ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของประเทศด้านการพัฒนาคุณภาพให้ได้ในเร็ววัน
และด้วยความมุ่งมั่นเพื่อประชาชนได้เชื่อมั่นถึงคุณภาพของการศึกษาที่มีระบบการบริหารจัดการเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมเดินหน้าสร้างบัณฑิตให้เป็นพลเมืองโลก(Global Citizen) ที่มีคุณภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ ตลอดจนสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมสู่เวทีโลกอย่างสง่างามต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรสมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งมั่นพัฒนาองค์กรต่อเนื่องไปสู่รางวัลคุณภาพแห่งชาติ(Thailand Quality Award - TQA) จะต้องทำคะแนนประเมินให้ได้ไม่ต่ำกว่า 650 คะแนน และในขณะเดียวกันจะผลักดันให้ส่วนงานต่างๆ ได้ยกระดับสู่มาตรฐานรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class : TQC) เป็นด่านแรกสู่การก้าวสู่รางวัล TQC Plus และ TQA ตามลำดับ
แม้ว่างานวิจัยเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดล แต่การทำให้เกิดความพร้อมด้านทรัพยากรบุคคลเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องมาก่อน โดยทางทีมบริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ได้วางกลยุทธ์พัฒนาบุคลากรโดยยกระดับการพัฒนาทักษะ และส่งเสริมความผูกพันที่มีต่อองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พร้อมเป็น "พลัง" ร่วมขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ที่ได้วางไว้เพื่อการบรรลุเป้าหมายแห่งการคว้ารางวัล TQA ในอนาคตอันใกล้ต่อไป
ซึ่งในการผลักดัน และส่งเสริมส่วนงานต่างๆ ให้มีการยกระดับสู่มาตรฐานรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ(Thailand Quality Class : TQC) ต่อไปนั้น จะเป็นไปโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นส่วนงานใดๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งรวมถึงวิทยาเขตที่อยู่ในส่วนภูมิภาค ต่างมีจุดเด่นที่พร้อมฉายแววสู่การรับการประเมินเพื่อรับรางวัล TQC ซึ่งเป็นระดับแรกของรางวัลดังกล่าว
เช่นเดียวกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะส่วนงานแรกของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่สามารถคว้ารางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ(Thailand Quality Class : TQC) ในปี พ.ศ. 2559 และรางวัล TQC Plus : Operation ในปี พ.ศ. 2563 พร้อมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่สามารถคว้ารางวัล TQC Plus : Innovation ในปีพ.ศ. 2564
นอกจากนี้ รางวัล TQC ยังมีอีก 3 ส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่สามารถคว้ารางวัลดังกล่าว ได้แก่ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถคว้ารางวัล TQC ได้ในปีพ.ศ. 2564 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถคว้ารางวัล TQC ได้ถึง 2 ปีซ้อน คือ ปี พ.ศ. 2563 และ 2565 และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับรางวัล TQC ในปี 2565
จึงมั่นใจได้ว่าประชาชนชาวไทยที่คอยส่งกำลังใจให้มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ "ปัญญาของแผ่นดิน" ที่พร้อมอุทิศสร้างองค์ความรู้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศชาติเสมอมา จะไม่รู้สึกผิดหวังอย่างแน่นอน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit