ด้วยธงที่มุ่งหน้าสู่การบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติ ภายในปี พ.ศ. 2573 หรือในอีก 8 ปีข้างหน้า ทำให้ถนนทุกสายต่างมุ่งสู่ SDGs ข้อ 3 เพื่อการมีสุขภาวะที่ดี (Good Health & Well-being) ซึ่งจะเป็นขุมพลังสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายSDGs ข้ออื่นๆ ได้ต่อไป เช่นเดียวกับแรงงานไทยในภาคอุตสาหกรรมจะมีคุณภาพหรือไม่ ปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับการมีสุขภาวะที่ดี และสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยร่วมด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไชยนันต์ แท่งทอง รองคณบดีฝ่ายบริหารการศึกษา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยว่า ตามโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในปี พ.ศ. 2565 นี้ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ริเริ่มเปิด "Wellness for Industry" เป็นปีแรก
ซึ่งเป็นหลักสูตร 4 เดือนสำหรับผู้บริหารชั้นต้นที่รับหน้าที่ดูแลสุขภาวะแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ในอนาคตคาดว่าจะจัดอบรมได้อย่างต่อเนื่องประมาณ 2 - 3 ครั้งต่อปี และจะสามารถสะสมหน่วยกิตเพื่อใช้เทียบโอนสำหรับศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี และโทที่คณะฯ ในระบบปกติได้ต่อไปอีกด้วย
เนื้อหาหลักสูตรประกอบไปด้วยหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ การจัดการสภาพแวดล้อมของแรงงาน และโรงงานอุตสาหกรรมการดูแลโภชนาการ การป้องกันโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (NCDs) การดูแลสุขภาพใจ และการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน ฯลฯ
ได้รับเกียรติจาก คุณจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการ ประธานคณะกรรมการบริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ WHA GROUP ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เพิ่งเข้ารับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (อาชีวอนามัยและความปลอดภัย) ประจำปีการศึกษา 2564 เมื่อเร็วๆ นี้ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการบริหาร WHA GROUP ในฐานะ "ผู้นำหญิงที่ประสบความสำเร็จแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก" ที่ได้รับการยกย่องจากนิตยสารFORBES
WHA GROUP ปัจจุบันมีบริษัทที่อยู่ในเครือมากกว่า 60 บริษัท ครอบคลุม 4 กลุ่มธุรกิจ โดยได้รับการประกาศจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้เป็น "นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ" ซึ่งหนึ่งในธุรกิจหลักเกี่ยวข้องกับด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยล่าสุดได้ร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำริเริ่มให้มีการใช้แอปพลิเคชันเพื่อการดูแลสุขภาพทางไกล ให้บริการสำหรับกลุ่มลูกค้า ผู้ประกอบการ ตลอดจนพนักงานในนิคมอุตสาหกรรมของ WHA GROUP ในเบื้องต้น ก่อนขยายผลสู่วงกว้าง
ซึ่งในส่วนของเนื้อหา (content) ร่วมจัดทำโดย 4 ภาควิชาของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นการผนึกกำลังกันระหว่างภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล ภาควิชาโภชนวิทยาและภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุข เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ การป้องกันโรคทั้งที่เกิดจากสภาพแวดล้อมการทำงานและพฤติกรรม สามารถให้จัดโปรแกรมการส่งเสริมสุขภาพ และคำปรึกษาด้านสุขภาพกับพนักงานในสถานประกอบการได้
โดยในหลักสูตร "Wellness for Industry" คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการแนะนำการใช้แอปพลิเคชันเพื่อการดูแลสุขภาวะให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เป็นแนวทางในการนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อประยุกต์ใช้สำหรับการประกอบการของตัวเองต่อไปได้อีกด้วย
ทั้งหมดนี้ถือเป็นภารกิจสำคัญของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ "มหาวิทยาลัยแห่งสุขภาวะ" ที่จะต้องแสดงบทบาทเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานให้มีความเป็นอยู่ และสุขภาวะที่ดี เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ทรงศักยภาพต่อไปในวันข้างหน้า
สำหรับเจ้าหน้าที่สุขภาพประจำสถานประกอบการใดสนใจจะร่วมเข้ารับการอบรมพร้อมรับใบประกาศนียบัตรในรุ่นต่อไป สามารถติดตามข่าวการจัดอบรมหลักสูตร "Wellness for Industry" คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.ph.mahidol.ac.th .
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit