วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยกลยุทธ์ SOFT Strategies เคล็ดลับครองใจผู้บริโภคด้วย 4 กลยุทธ์ 1. Absorb เนียนเข้าไปนั่งในใจผู้บริโภคโดยการเชื่อมโยงกับไลฟ์สไตล์ 2. Extraordinary ทำความธรรมดาให้พิเศษ สร้างจุดขายจากสิ่งเรียบง่าย 3. Fast ทันทุกกระแสและสถานการณ์ 4. Consistency สื่อสารอย่างต่อเนื่องสร้างการรับรู้จดจำ CMMU จับ กลยุทธ์ Soft Power เข้ากับองค์ความรู้หลากหลายวิชา ทั้งสาขาการจัดการธุรกิจอาหาร สาขาการจัดการธุรกิจสุขภาพ และสาขาภาวะผู้ประกอบการและนวัตกรรม ให้ผู้ประกอบการไม่ตกเทรนด์ธุรกิจ สามารถปรับใช้ให้เหมาะกับทุกอุตสาหกรรมได้
ผศ. ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาวิชาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า Soft Power เป็นกลยุทธ์การตลาดแบบหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในสังคมได้อย่างแนบเนียน หลายประเทศต่างใช้กลยุทธ์ Soft Power เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรม ส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ และเสริมสร้างภาพลักษณ์อันดีของประเทศ ซึ่งหากผู้ประกอบการธุรกิจ ร้านค้าต่างๆ จับกระแส Soft Power ได้ทัน และใช้ให้เป็น จะสามารถกระตุ้นยอดขาย สร้างการจดจำ ขยายฐานลูกค้าได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ทั้งนี้ นักศึกษาสาขาวิชาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ค้นพบ 4 เทคนิคการใช้กลยุทธ์ Soft Power ให้จับใจผู้บริโภค ได้แก่ 1. Absorb พาแบรนด์เข้าไปนั่งในใจของผู้บริโภคอย่างแนบเนียนผ่านการเชื่อมโยงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค 2. Extraordinary สร้างสรรค์จุดขายผ่านสื่อและเนื้อหาที่น่าสนใจจนเกิดเป็นภาพลักษณ์ที่กลุ่มเป้าหมายจดจำ 3. Fast ทันทุกกระแส ไม่ตกขบวนเทรนด์ใหม่ๆ รวมถึงต้องปรับตัวให้เร็วเท่าทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน 4. Consistency สื่อสารแบรนด์อย่างต่อเนื่องทุกช่องทาง เพื่อนำไปสู่การถูกจดจำ
Soft Power เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การตลาดที่เป็นกระแสมาแรงในปัจจุบัน และเป็นหนึ่งในแผนการสอนที่ทาง CMMU ได้อัปเดตหลักสูตรให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง โดยกลยุทธ์ Soft Power ไม่ได้มีสอนแค่ในสาขาการตลาดเท่านั้น แต่ CMMU ได้ผนวกองค์ความรู้เข้ากับหลากหลายสาขาวิชา ทั้งสาขาการจัดการธุรกิจอาหาร สาขาการจัดการธุรกิจสุขภาพ และสาขาภาวะผู้ประกอบการและนวัตกรรม มาต่อยอดให้ผู้เรียนไม่ตกเทรนด์ธุรกิจ สามารถนำความรู้มาปรับใช้ให้เหมาะกับทุกประเภทธุรกิจได้
ดร.สุเทพ นิ่มสาย หัวหน้าสาขาการจัดการธุรกิจอาหาร วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ธุรกิจอาหารเป็นหนึ่งในธุรกิจแรกๆ ที่คนนิยมเลือกเริ่มต้นดำเนินธุรกิจ จึงเห็นธุรกิจอาหารเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก หมุนเวียนไวไปตามกระแส และมีอัตราการออกจากวงจรธุรกิจสูง CMMU ได้บูรณาการทั้งศาสตร์และศิลป์ ผสานองค์ความรู้การบริหารจัดการเข้ากับธุรกิจอาหาร เพื่อสร้าง Young Food CEO ให้ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารรุ่นใหม่ดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำกลยุทธ์ Soft Power มาปรับใช้ เพื่อทำให้ร้านเป็นที่รู้จักในเวลาอันรวดเร็ว และเพิ่มยอดขายจำนวนมากในช่วงที่มีกระแสได้ แต่ต้องทำควบคู่ไปกับการรักษาคุณภาพมาตรฐาน และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าหรือบริการเพื่อให้ธุรกิจอาหารสามารถอยู่รอดอย่างยั่งยืน เกิดการซื้อซ้ำจากผู้บริโภค
โดยผู้ประกอบการควรยึดหลัก 5S คือ System มีการทำงานอย่างเป็นระบบ มีมาตรฐานเดียวกันทั้งองค์กร Strategy วางแผนกลยุทธ์ว่าผลิตภัณฑ์จะเติบโตไปทิศทางไหน จะรักษาฐานลูกค้าเก่าและดึงดูดลูกค้าใหม่ได้อย่างไร Signal มองเห็นเทรนด์อนาคต และนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม อย่างซอฟต์พาวเวอร์ก็ถือเป็น Signal สร้างโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ ให้กับธุรกิจได้ Supply Chain มองเห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของบริบทรอบตัว ทั้ง คู่แข่ง ลูกค้า หรือแม้แต่ราคาวัตถุดิบที่ขึ้นลงอยู่ตลอด Sustainability การพัฒนาสินค้า หรือบริการเพื่อความยั่งยืน สร้างความรู้สึกที่ทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ
ดร.กฤษกร สุขเวชวรกิจ หัวหน้าสาขาการจัดการธุรกิจสุขภาพ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า สาขาการจัดการธุรกิจสุขภาพ เป็นสาขาที่ผสานองค์ความรู้ด้านการจัดการธุรกิจพื้นฐาน การจัดการด้านสุขภาพ และการจัดการระบบดิจิทัล สำหรับผู้ประกอบการและผู้บริหารในธุรกิจสุขภาพทั้งหมด โดยไม่ได้เจาะจงแค่โรงพยาบาล แต่ยังหมายถึง ห่วงโซ่อุปทานในธุรกิจสุขภาพทั้งหมด ทั้งโรงงานผลิตยา อาหารเสริม เครื่องมือแพทย์ คลินิก เวลเนสเซ็นเตอร์ บ้านพักผู้สูงอายุ ไปจนถึงระบบการขนส่ง ซึ่งผลการศึกษาด้าน Soft Power ระบุว่ากลุ่มตัวอย่าง 59.1% อยากให้ประเทศไทยชูจุดเด่นด้านการบริการที่เป็นมิตรยิ้มแย้มแจ่มใสผ่านกลยุทธ์ Soft Power ซึ่งการบริการ ถือเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจสุขภาพ โดยประเทศไทยติดท็อป 5 ของโลก ที่นักท่องเที่ยวเลือกเดินทางมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Medical Tourism และคาดว่าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในปีหน้าจะมีแนวโน้มเติบโตมากยิ่งขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิด-19 จบลง ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจสุขภาพสามารถเกาะกระแส Soft Power ด้านการให้บริการที่เป็นมิตรเพื่อสร้างการรับรู้ในกลุ่มลูกค้าต่างชาติได้
ดร. ตรียุทธ พรหมศิริ หัวหน้าสาขาภาวะผู้ประกอบการและนวัตกรรม วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า สาขาภาวะผู้ประกอบการและนวัตกรรม เป็นสาขาที่เหมาะกับผู้ต้องการเริ่มต้นธุรกิจ มองหากิจการส่วนตัว หรือสืบทอดกิจการเดิมด้วยมุมมองแนวคิดทางธุรกิจรูปแบบใหม่ให้เข้ากับบริบทในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น กลยุทธ์ Soft Power ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ ให้เข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องจับกระแสให้ทัน แล้วนำมาปรับใช้ให้เข้ากับธุรกิจของตน โดยสาขาวิชานี้จะสอนให้ผู้เรียนมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ เข้าใจในกระแสธุรกิจ สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ต่อยอด พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองได้ พร้อมเสนอแนะการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำพาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ
ยังมีหลักสูตรปริญญาโทที่น่าสนใจอีกมากมายที่มุ่งเน้นสร้างนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ ผู้บริหารยุคใหม่ให้สามารถยืนหยัดในธุรกิจอย่างยั่งยืนพร้อมก้าวทันกระแสโลกในปัจจุบัน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเพจเฟซบุ๊ก CMMU Mahidol (https://www.facebook.com/CMMUMAHIDOL)
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit