บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศให้เครดิตพินิจเป็นบวกแก่อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ของบริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD ที่ BB+(tha) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ของบริษัทฯ ที่ B(tha) หลังจากการประกาศการรวมกิจการโดยการแลกหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ กับหุ้นสามัญของบริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SCGL) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่มบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC (อันดับเครดิต A+(tha)/แนวโน้มเครดิตเป็นลบ)
การประกาศให้เครดิตพินิจเป็นบวก สะท้อนถึงความเห็นของฟิทช์ว่าสถานะเครดิตของ JWD ภายหลังการรวมกิจการ น่าจะมีความแข็งแกร่งขึ้น เครดิตพินิจเป็นบวกจะได้รับการยกเลิกเมื่อเงื่อนไขหลักในการเข้าทำรายการสำเร็จและฟิทช์ได้รับข้อมูลรายละเอียดที่มากขึ้นเกี่ยวกับกลยุทธ์ทางธุรกิจและประมาณการทางการเงินภายหลังการรวมกิจการ
ภายหลังการรวมกิจการ JWD จะเป็นบริษัทร่วมของ SCC โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นโดยอ้อมรวมร้อยละ 42.9 งบการเงินของ JWD จะได้รับการรวมในงบการเงินรวมของกลุ่มเสมือนบริษัทย่อย ในฐานะที่เป็นบริษัทหลักของกลุ่มในด้านการให้บริการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนแก่ทั้งบริษัทในกลุ่มและบุคคลภายนอก เนื่องจากการที่ SCC มีอำนาจความบคุมเหนือบริษัท
ฟิทช์จะพิจารณาแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนจาก SCC ภายหลังการรวมกิจการ ซึ่งอาจส่งผลให้มีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตจากสถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัทฯ ภายใต้หลักเกณฑ์ของฟิทช์เรื่อง Parent and Subsidiary Linkage Rating Criteria หลังจากฟิทช์ได้รับรายละเอียดที่มากขึ้น
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้นภายหลังการรวมกิจการ: หลังจากการรวมกิจการ JWD จะกลายเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อพิจารณาจากรายได้รวม ซึ่งมากกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท (2564: 5.1 พันล้านบาท) สินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดของ SCGL จะโอนมาเป็นของ JWD ซึ่งจะมีการเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น เอส ซี จี เจ ดับเบิ้ล ยู ดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGJWD โดยจะทำให้รายได้และกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (EBITDAR) ของ JWD เพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า และ 2.3 เท่า ตามลำดับ JWD ภายหลังการรวมกิจการน่าจะได้รับประโยชน์จากการสร้างผนึกกำลัง (Synergy) การประหยัดต่อขนาด และขอบเขตของธุรกิจที่กว้างขวางขึ้น
SCGL มีความชำนาญในด้านการขนส่งและกระจายสินค้าอุตสาหกรรมรวมถึงมีเครือข่าย และฐานลูกค้าที่กว้างขวาง มีสินค้าที่ขนส่งจำนวนมาก ในขณะที่ JWD มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการบริหารคลังสินค้าสำหรับสินค้าอันตราย รถยนต์ และคลังสินค้าห้องเย็น ฟิทช์คาดว่า JWD ภายหลังการรวมกิจการน่าจะสามารถให้บริการที่มีความหลากหลายและมีความครบวงจรมากขึ้น เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่ของทั้งสองบริษัทไม่ได้ทับซ้อนกันแต่สามารถส่งเสริมซึ่งกันและกันได้ นอกจากนี้ ภายหลังการรวมกิจการ JWD จะมีเครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ได้แก่ ประเทศลาว เมียนมา จีนตอนใต้ และฟิลิปปินส์ เพิ่มเติมจากเครือข่ายที่บริษัทฯ มีอยู่เดิมในประเทศเวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซีย
สถานะทางการเงินที่ดีขึ้น: SCGL มีสถานะเงินสดสุทธิเนื่องจากมีธุรกิจในรูปแบบ Asset Light คือลงทุนในซื้อสินทรัพย์เองไม่มาก จากการประมาณการเบื้องต้น อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (EBITDAR net leverage) ของ SCGL น่าจะอยู่ในระดับ 2-3 เท่า ดังนั้นอัตราส่วนหนี้สินของ JWD (ครึ่งปีแรกของปี 2565: 6.5 เท่า) จึงน่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญทันทีภายหลังการรวมกิจการ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์จะพิจารณาระดับของอัตราส่วนหนี้สินในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ภายหลังการรวมกิจการ ซึ่งจะสะท้อนถึงแผนการขยายธุรกิจและการลงทุนของบริษัทฯ
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
JWD เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการโลจิสติกส์ภาคพื้นดินแบบครบวงจรรายใหญ่ในประเทศไทย รายได้ร้อยละ15-20 ของบริษัทฯ สามารถคาดการณ์ได้ เนื่องจากมีสัญญาสัมปทานและสัญญาระยะปานกลางถึงระยะยาวรองรับ บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF (BBB+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ/สถานะเครดิตโดยลำพัง bbb-(tha)) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านพัฒนาและบริหารศูนย์การค้าขนาดกลางภายใต้แนวความคิดศูนย์การค้าชุมชน ถือเป็นบริษัทที่มีอันดับเครดิตที่เทียบเคียงได้กับ JWD SF มีรายได้ที่สามารถคาดการณ์ได้อยู่ในระดับที่สูงกว่า JWD เนื่องจากมีสัญญาเช่าระยะปานกลางถึงระยะยาวรองรับ อย่างไรก็ตาม SF ได้รับผลกระทบจากสถารการณ์โรคระบาดค่อนข้างมากเนื่องจากส่วนลดค่าเช่าที่จำเป็นต้องให้แก่ผู้เช่าที่ประสบปัญหา อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของ SF มีการฟื้นตัวที่รวดเร็วเนื่องจากผู้เช่ามากกว่าร้อยละ 50 ของ SF มาจากผู้เช่าที่เป็นร้านอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน
ในขณะเดียวกัน ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ที่ครบวงจรของ JWD รวมถึงฐานลูกค้าที่อยู่ในธุรกิจที่หลากหลาย ทำให้ธุรกิจโดยรวมของ JWD ไม่ได้รับผลกระทบที่มากนักในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งสามารถชดเชยระดับของรายได้ที่สามารถคาดการณ์ได้ที่ต่ำกว่า SF ได้ เนื่องจากแผนค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและการลงทุนที่สูงอย่างต่อเนื่อง อัตราส่วนหนี้สินของ JWD น่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับ SF ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ในขณะที่ SF มีปัจจัยสนับสนุนความยืดหยุ่นทางการเงินจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อมูลค่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำและมีทรัพย์สินส่วนใหญ่ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนซึ่งเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในความต้องการของตลาด ดังนั้น JWD จึงได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตโดยลำพังของ SF อยู่หนึ่งอันดับ
ในขณะที่ JWD มีขนาดของธุรกิจที่เล็กกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC, A-(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ สถานะเครดิตโดยลำพัง bbb(tha)) ซึ่งเป็นโรงกลั่นน้ำมันและผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศไทย แต่ IRPC มีความผันผวนของรายได้มากกว่า JWD เนื่องจากต้องเผชิญกับความเสี่ยงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินของ IRPC น่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่า JWD ดังนั้น ด้วยสถานะทางธุรกิจของ IRPC ที่แข็งแกร่งกว่าเนื่องจากขนาดของธุรกิจที่ใหญ่กว่ามาก และสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า JWD จึงได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ต่ำกว่าสถานะเครดิตโดยลำพัง ของ IRPC อยู่สองอันดับ
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการก่อนการรวมกิจการ
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
สภาพคล่อง
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่จัดการได้: JWD มีหนี้สินทั้งหมดประมาณ 6 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 โดยจำนวน 2 พันล้านบาท จะครบกำหนดชำระภายใน 12 เดือนข้างหน้าสิ้นสุด 30 มิถุนายน 2566 ซึ่งรวมถึงหุ้นกู้จำนวน 600 ล้านบาทที่ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 สภาพคล่องของ JWD มีปัจจัยสนับสนุนจากเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้น จำนวน 1 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 รวมถึงกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน JWD ยังมีทรัพย์สินปลอดหลักประกัน ในรูปของที่ดินและอาคารซึ่งมีมูลค่าตามบัญชีประมาณ 1 พันล้านบาท ซึ่งฟิทช์เชื่อว่าสามารถใช้เพื่อเป็นหลักประกันเงินกู้ได้ หากมีความจำเป็น
บริษัทฯ ยังมีความสามารถในการกู้ยืมเงินจากธนาคารภายในประเทศ โดยมีวงเงินกู้หมุนเวียนที่สามารถยกเลิกได้ที่ยังไม่ได้เบิกถอน (Uncommitted Facilities) ประมาณ 544 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังสามารถออกตราสารหนี้ในตลาดทุนภายในประเทศได้ โดยบริษัทฯได้มีการออกหุ้นกู้จำนวน 1.9 พันล้านบาทในปี 2564 และ 500 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2565
ลักษณะธุรกิจ
JWD เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจรในประเทศไทย ที่ให้บริการทั้งสินค้าทั่วไป เคมีภัณฑ์ ยานยนต์ และสินค้าควบคุมอุณหภูมิ นอกจากนี้ JWD ยังมีบริการขนย้าย คลังสินค้าเอกสาร และธุรกิจให้บริการเก็บของใช้ส่วนตัว (Self Storaeg) JWD มีการขยายธุรกิจไปยังปรเทศกัมพูชาและอินโดนีเซียในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit