มจธ. - ม.เกียวโต จัดประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 8 : The 8th International Conference on Sustainable Energy and Environment (SEE 2022)

02 Nov 2022

บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และเครือข่ายความร่วมมือ 5 มหาวิทยาลัยไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 8 : The 8th International Conference on Sustainable Energy and Environment (SEE 2022) ขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 พฤศจิกายน 2565 ณ อาคารเคเอกซ์ (Knowledge Exchange - KX) การประชุมวิชาการนานาชาติ SEE เป็นเวทีที่มุ่งเน้นการนำเสนอความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ตลอดจนการนำเสนอแนวทางการหยุดยั้งภาวะโลกร้อนและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจากผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยทั่วโลก

มจธ. - ม.เกียวโต จัดประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 8 : The 8th International Conference on Sustainable Energy and Environment (SEE 2022)

สืบเนื่องมาจากการปล่อยก็าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นเรื่องเร่งด่วนของประชาคมโลก การประชุมระดับสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) ที่จัดขึ้น ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมาจึงมีความเข้มข้นและจริงจังเป็นพิเศษ โดยผู้นำประเทศต่างๆทั่วโลกประมาณ 70 ประเทศรวมทั้งนายกรัฐมนตรีประเทศไทย ได้ประกาศเจตนารมณ์ในที่ประชุมเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในส่วนของประเทศไทยนั้น ได้ตั้งเป้าหมายภาวะความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งต่อมาได้มีการประกาศความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Net-Zero เพิ่มขึ้นอีกเป็นประมาณ 130 ประเทศ (รวมประเทศที่ประกาศเจตนาที่จะตั้งเป้าหมายในไม่ช้าด้วย)

รศ.ดร.บัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร ที่ปรึกษาอธิการบดีด้านวิจัยและนวัตกรรม มจธ. และประธานคณะกรรมการวิชาการของ SEE 2022 กล่าวว่า จากภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่กระตุ้นให้ทุกประเทศต้องมีมาตรการที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีหมุดหมายสำคัญ 2 ช่วง คือ ภายในปี ค.ศ. 2030 จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 45-50% และภายในปี ค.ศ.2050 จะต้องลดเหลือสุทธิเป็นศูนย์ ทุกประเทศจะต้องร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (องค์ประกอบส่วนใหญ่ของก๊าซเรือนกระจก) และจะต้องใช้การดูดซับคาร์บอนด้วย เพื่อให้ปริมาณการปล่อยสุทธิเท่ากับศูนย์ จึงเป็นที่มาของการกำหนดโจทย์หรือประเด็นหลัก (theme) การประชุมนานาชาติ หรือ SEE ครั้งที่ 8 ซึ่งได้แก่ "The Road to Net-Zero: Energy Transition Challenges and Solutions" หรือ "หนทางสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ : ความท้าทายและแนวทางในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน"

"ที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันดำเนินการด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนที่จะนำไปสู่ Net Zero กันอยู่แล้ว แต่การจัดประชุมครั้งนี้จะเป็นการนำเสนอผลงานวิจัยที่มีความเข้มข้นมากขึ้น มุ่งเน้นผลงานที่จะทำให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น อันจะเป็นการสนับสนุนและเร่งรัดกระบวนการที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050 เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 - 2 องศาเซลเซียส เพราะหากอุณหภูมิสูงขึ้นอีกสัญญาณโลกร้อนจะถึงจุดอันตราย ความเสียหายที่ตามมาจะประเมินค่าไม่ได้"

สำหรับการประชุมครั้งที่ 8 นี้ มีความแตกต่างจากครั้งก่อนหน้าทั้งรูปแบบและเนื้อหา โดยรูปแบบการประชุมจะเป็นแบบ Hybrid คือ มีทั้ง Onsite และ Online คาดว่าปีนี้จะมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 200 - 250 คน แบ่งเป็น Onsite และ Online อย่างละครึ่ง ในส่วนของเนื้อหานั้น มีด้วยกัน 5 หัวข้อหลัก (Topic) ได้แก่ Topic A: Future energy systems, Topic B: Bio-circular economy มุ่งเน้นระบบการผลิตและการปริโภคพลังงานและวัสดุชีวภาพในแนวทางที่นำไปสู่การแก้ปัญหาโลกที่ท้าทาย อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ขยะมูลฝอย และมลพิษ Topic C: Smart cities and electric mobility, Topic D: Environmental and climate technologies and management และ Topic E: Energy and climate policy ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหัวข้อใหม่ที่มีความสำคัญต่อการลดก๊าซเรือนกระจก โดย รศ.ดร.บัณฑิต กล่าวเสริมว่า ในหัวข้อ A: Future Energy System (ระบบพลังงานในอนาคต) จะมีการนำเสนอเรื่องใหม่ๆที่เกี่ยวกับ Power system transformation เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงระบบกำลังไฟฟ้าจะเป็นกุญแจสำคัญในการรองรับพลังงานหมุนเวียนปริมาณมาก โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่มีความผันแปรมาก โครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้าที่ใช้จะต้องรักษาเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของระบบได้ ด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things) ไฮโดรเจนและการกักเก็บพลังงาน เพื่อให้ระบบมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และเอื้อต่อการซื้อขายไฟฟ้าและการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ เป็นต้น

การประชุมครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ (Keynote speakers) จำนวน 10 ท่านจาก 7 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และไทย มาร่วมบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 "On The Road to Net-Zero" กลุ่มที่ 2 "Smart Energy Systems and Cities" และกลุ่มที่ 3 "Circular Bioeconomy" นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอผลงานจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอีก 2 หัวข้อในการประชุมภาคพิเศษ (Special Session) คือ Waste Recycling and Waste Utilization และ Role of AFOLU in Net-Zero Emission Development (AFOLU: Agriculture, Forestry and Other Land Use)

ด้าน รศ. ดร.สาวิตรี การีเวทย์ ประธานสายวิชาสิ่งแวดล้อม JGSEE และเลขาธิการคณะกรรมการจัดงาน SEE 2022 กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ นอกจากระบบพลังงานไฟฟ้าในอนาคตแล้ว ยังมีเรื่องสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจ เช่น ในหัวข้อ "Waste Recycling and Waste Utilization" จะเน้นเรื่องของสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยจากขยะมูลฝอยหลังโควิด-19 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง JGSEE มจธ. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ National Institute for Environmental Studies ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหัวข้อนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายด้าน BCG ในระดับประเทศและระดับสากลอีกด้วย ส่วนหัวข้อ "Role of AFOLU in Net-Zero Emission Development" มุ่งเน้นเรื่องป่าไม้กับการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงบทบาทของการปลูกป่าและการปลูกพืช ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการดูดซับคาร์บอน เพื่อนำระบบทั้งหมดของประเทศสู่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero GHG emission) โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานด้านนี้มานำเสนอพร้อมข้อสรุปถึงสถานการณ์ของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน

การประชุมวิชาการนานาชาติ SEE 2022 ครั้งนี้ มีผู้สนใจทั้งจากภาคการศึกษา องค์กรด้านการวิจัย หน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิจัยในหัวข้อต่างๆ รวมเกือบ 120 บทความ จาก 14 ประเทศ โดยหัวข้อที่ได้รับความสนใจมากที่สุด คือ หัวข้อ โมเดลเศรษฐกิจใหม่ "Bio-Circular Economy" ประมาณร้อยละ 25 บทความทั้งหมด รองลงมา คือ ระบบพลังงานไฟฟ้าในอนาคต ร้อยละ 20 โดยจะมีรางวัล Best Student Paper Awards สำหรับบทความที่มีการนำเสนอได้โดดเด่นที่สุด ซึ่งคัดเลือกจากคุณภาพการนำเสนอแบบปากเปล่าและเนื้อหาของบทความ และที่พิเศษกว่าทุกครั้ง คือ มีตัวแทนจากวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม 2 ฉบับเข้าร่วมงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ผลงานที่นำเสนอในงาน SEE 2022 เข้ารับการคัดเลือกให้ตีพิมพ์ในวารสารดังกล่าวได้โดยตรง ได้แก่ Journal of Sustainable Consumption and Production (SCP) และ International Journal of Energy for a Clean Environment (IJECE)

คณะผู้จัดงาน SEE 2022 คาดหวังว่าการจัดประชุมวิชาการครั้งนี้ จะเป็นโอกาสให้คนรุ่นใหม่ทั้งอาจารย์และนักศึกษาที่เข้ามามีส่วนร่วมจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ และแลกเปลี่ยนความรู้ในวิทยาการที่กำลังพัฒนากันอยู่ และจะเป็นการช่วยกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่จะมีผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่มากกว่ารุ่นเก่า รวมทั้งเกิดโอกาสและช่องทางสร้างความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนางานในด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไป

HTML::image(